เผยสถิติ 1.4 ล้านคน ทาสยาเสพติด
ที่มา : เว็บไซต์ news.ch7.com
ภาพประกอบจาก สสส.
กรมสุขภาพจิตเผย สถิติ 1.4 ล้านคน มาจากทาสยาเสพติด
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร กรมสุขภาพจิตได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต โดย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่องการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบของผู้ใช้ยาเสพติดบางรายที่มีอาการทางจิตและส่งผลกระทบต่อสังคม โดยมีแนวทางการบูรณาการร่วมกันในการเฝ้าระวังและเผชิญเหตุความรุนแรง ภายใต้ภารกิจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุขภาพจิต พ.ศ.2551
ตามความร่วมมือครั้งนี้ มีข้อตกลงดำเนินการ 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.จัดตั้งกลไกการอำนวยการและติดตามเครือข่ายการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด 2.กำหนดและสื่อสารแนวทางการดำเนินงานการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด 3.พัฒนาศักยภาพบุคลากรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการตามระบบการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด 4.ให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด และ 5.สนับสนุน ประสาน กำกับ ติดตาม และให้การดูแลช่วยเหลือในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน โดยการบำบัดฟื้นฟูและรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด เพื่อลดการก่อเหตุรุนแรงในสังคม ตามแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันได้ปรากฎข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหายาเสพติดจากผู้ใช้ยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทย พบผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน 1 ปี จำนวน 1.4 ล้านคน เป็นผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง จำนวน 1.1 ล้านคน และเป็นผู้ติดสารเสพติด จำนวน 3.2 แสนคน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบการบำบัดของกรมสุขภาพจิต จำนวน 24,196 คน โดยพบว่า เป็นผู้ป่วยจิตเวชติดสารเสพติดรุนแรง จำนวน 5,757 คน และเป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) จำนวน 577 คน นอกจากนี้ ยังพบสถิติผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรงในสังคมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 3.92 เท่า ในปี 2561 ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชก่อเหตุรุนแรง จำนวน 267 ราย แบ่งเป็นชายจำนวน 259 ราย และเป็นหญิงจำนวน 7 ราย สำหรับลักษณะของการก่อความรุนแรงในสังคม พบมีการทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นมากที่สุด จำนวน 90 คน รองลงมาเป็นการทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย จำนวน 58 คน และทำลายข้าวของ จำนวน 44 คน ตามลำดับ ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงในข่าวเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เคยเข้ารับการบำบัด จำนวน 104 คน ซึ่งการสังเกตเฝ้าระวังพฤติกรรมและอาการที่เข้าข่ายเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา ได้แก่ หูแว่ว เห็นภาพหลอน หวาดระแวงไร้เหตุผล อยากฆ่าตัวตาย ทำร้ายตนเอง ทำร้ายคนอื่น พูดจาก้าวร้าว พูดจาเพ้อเจ้อ หลงผิด และแต่งกายแปลกกว่าคนปกติ
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า คนในครอบครัว ชุมชน และสังคมสามารถมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังดูแลได้ ดังนี้ 1. ครอบครัว/ญาติ/อสม./บุคคลที่พบเหตุ สามารถประเมินสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีอาการกำเริบ เฝ้าระวัง สังเกตสัญญาณเตือนในการก่อความรุนแรง เช่น ขีดข่วนหรือกรีดตัวเองเป็นรอยแผล ตะโกนด่าผู้อื่นด้วยคำหยาบคายรุนแรง ข่มขู่จะทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ พกพาหรือสะสมอาวุธโดยไม่สมเหตุสมผล รื้อหรือขว้างปาข้าวของกระจัดกระจาย ทำลายสิ่งของจนแตกหัก เป็นต้น ควรควบคุมพฤติกรรม หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ประสานและส่งต่อข้อมูล 2. แกนนำ/ผู้นำชุมชน/เจ้าหน้าที่/ตำรวจ รับแจ้งเหตุ และช่วยประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยเจรจาต่อรอง หลังจากผู้ป่วยหายป่วยแล้วลงเยี่ยมบ้านให้กำลังใจ 3. เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล/หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนรถและสวัสดิการต่างๆ ในการประสานและนำส่งต่อ และ 4. ประชาชนทั่วไป ร่วมเฝ้าระวัง สังเกตอาการผิดปกติ และสัญญาณเตือนต่างๆ หากพบเห็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงในสังคม สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งเหตุฉุกเฉิน โทร. 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อนำตัวเข้ารักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลจิตเวชต่อไป