เผยสถิติ กทม.เมืองแห่งความรุนแรงในครอบครัวสูงสุด
เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว พบ กทม.เมืองแห่งความรุนแรงสูงสุด ขณะที่ชลบุรียอดฆ่าตัวตายพุ่งสูง เผยชายปลิดชีพตัวเองมากกว่าหญิง ต้นตอหลักจากน้ำเมา “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” ชี้ ปชช.ขอคำปรึกษามากสุด พ.ย.-ธ.ค. วอนผู้เสียหายปกป้องสิทธิ์ ขณะที่ พม.ปลุกพลังสังคมต้านรุนแรง เปลี่ยนค่านิยมเคารพสิทธิหญิงชาย
เมิ่อวันที่ 10 เม.ย. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในงานมีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชุด “โชคดี…ที่ฉันรอด” จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและเครือข่ายละครดีดี๊ดี
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยข้อมูลการนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ ประกอบด้วย ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ ข่าวสด และคมชัดลึก ปี 2555 ซึ่งมีข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวมากถึง 333 ข่าว ในจำนวนนี้มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 97 ข่าว หรือ 29.13% ทั้งนี้แบ่งประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1.การฆ่ากัน 59.16% 2.การฆ่าตัวตาย 24.02% 3.การทำร้ายกัน 8.71% 4.ความรุนแรงในครอบครัวอื่นๆ 3.10% 5.การตั้งครรภ์ไม่พร้อม 2.7% 6.การล่วงละเมิดทางเพศ 2.4%
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าตกใจจากการเปรียบเทียบข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นปี 2554 และ ปี 2555 ซึ่งประเภทข่าว อันดับหนึ่ง คือ ข่าวการฆ่ากัน มีอัตราสูงจนน่าวิตกปี 2554 พบ 49.70% และปี 2555 พุ่งสูงถึง 59.16%
“หากจำแนกเฉพาะข่าวการฆ่ากันจะพบว่า 1 ใน 3 หรือ 30.96% มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นหลัก และหากจำแนกประเภทตามความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำแบ่งได้ดังนี้คือ ระหว่างสามีภรรยา 64.97% รองลงมา คือ ระหว่างคู่รักแบบแฟน 15.74% สำหรับจังหวัดที่มีการก่อเหตุฆ่ากัน พบว่า เกิดเหตุที่กรุงเทพฯ มากที่สุด โดยเฉพาะกรณีสามีฆ่าภรรยา รองลงมา สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี ชลบุรี” นางสาวจรีย์ กล่าว
นางสาวจรีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการฆ่าตัวตายนั้นจะพบว่า ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง คือผู้ชายฆ่าตัวตาย 47 ข่าว คิดเป็น 58.75% หญิงฆ่าตัวตาย 21 ข่าว คิดเป็น 26.25% และจังหวัดที่เกิดการฆ่าตัวตายมากที่สุดได้แก่ จังหวัดชลบุรี รองลงมากรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช สระบุรี นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง ส่วนประเด็นการทำร้ายกัน พบว่า สามีกระทำต่อภรรยา จำนวน 12 ข่าว คิดเป็น 41.39% โดยมีสาเหตุเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 6 กรณี และพื้นที่จังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ทำร้ายกันมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงมา ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี และจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ ตามข่าว เกิดขึ้น 8 จังหวัด คือ ชุมพร สมุทรสาคร นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม ปทุมธานี และกรุงเทพฯ
นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บสถิติข้อมูลการให้บริการและการให้คำปรึกษาความรุนแรงในครอบครัวปี 2555 ที่ผ่านมา ภายใต้การทำงานที่เพิ่งเริ่มต้นขององค์กร พบว่า เป็นความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 70% มีการขอรับคำปรึกษาปัญหาทั้งหมด 234 ราย มีปัจจัยที่กระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 101 ราย ปรึกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 104 ราย และสภาพเกี่ยวกับสิทธิทางเเพ่ง หรือปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายทางเเพ่ง 106 ราย กฎหมายอาญา 115 ราย ซึ่งปัญหาโดยรวมทั้งหมดที่มารับคำปรึกษารวมแล้ว 315 กรณี
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 2555 น่าเป็นห่วงกว่าปี 2554 และปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวคือ 20% สามีไม่รับผิดชอบ 19% นอกใจหึงหวง 16% การทำร้ายร่างกาย 8% สื่อลามก และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“จะเห็นได้ว่าช่วงที่มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงเดือน พ.ย.-ธ.ค.จะมีจำนวนผู้เสียหายเข้ารับคำปรึกษามากกว่าทุกเดือน หากใครรับทราบหรือพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือช่วยส่งต่อหน่วยบริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจากการสอบถามผู้ถูกกระทำ ส่วนใหญ่ระบุว่า เคยไปแจ้งความแล้วแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จนนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นอาจถึงแก่ชีวิต เช่น กรณีภรรยาไปแจ้งความแต่เจ้าหน้าที่นิ่งเฉย จนนำมาสู่การฆ่าสามีกลายเป็นผู้กระทำเสียเอง ทั้งนี้อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะมีบทบาทสำคัญในการรับเรื่องร้องเรียนและส่งต่อหน่วยบริการ โดยขอให้เร่งรัดคดี เนื่องจากคดีเหล่านนี้มีเรื่องของอายุความเข้ามาเกี่ยวข้อง” นางสาวสุเพ็ญศรีกล่าว
ขณะที่ นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ความรุนแรงนับวันยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ ทัศนคติ ความเชื่อของคน โดยเฉพาะปัญหาในการแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว เพราะเป็นต้นตอของปัญหาความรุนแรงต่างๆ ตามมา เช่น เรื่องค่านิยมของคนไทยระหว่างสามีภรรยา เรียกว่า ลิ้นกับฟัน หรือการปลูกฝังให้ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายอดทน เพื่อครอบครัว ซึ่งฝ่ายที่อดทนก็ต้องอดทนอยู่ฝ่ายเดียวตลอดเวลา ดังนั้นการปรับค่านิยม ต้องเริ่มจากเรื่องการศึกษา ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ กำลังมีหลักสูตรเจนเดอร์ ในโรงเรียนตั้งแต่ในระดับอนุบาล เป็นการปลูกฝังเพื่อให้เคารพสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศให้อยู่ในใจตั้งแต่เด็ก
“ขณะเดียวกัน กระทรวง พม.กำลังพยายามจัดระบบหน่วยบริการช่วยเหลือ oscc ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ถูกกระทำมีทางเลือกเพิ่มขึ้น เมื่อรับเรื่องเบื้องต้น ก็สามารถส่งต่อผู้ประสบปัญหาไปยังหน่วยบริการที่มีความพร้อม เพื่อเกิดการฟื้นฟูเยียวยาและนำไปสู่การป้องกัน ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็ก ผู้หญิงและครอบครัว การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปัญหาการค้ามนุษย์” นายสมชายกล่าว
ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์