เผยมีผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงการรักษากว่า5แสนคน

 ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


เผยมีผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงการรักษากว่า5แสนคน thaihealth


แฟ้มภาพ


อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยรอบ 10 เดือนปีนี้ ผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงบริการรักษากว่า 500,000 คนทั่วประเทศ


นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในโอกาสนำคณะลงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 จังหวัด นครสวรรค์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช ในเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร ว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมสุขภาพจิตได้เร่งขยายบริการด้านสุขภาพจิตเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้มีอาการป่วยทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคจิตเภท ให้ได้ร้อยละ 65 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งพบอัตราป่วยร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 650,000 คน โรคนี้มีอาการผิดปกติทางความคิด มีพฤติกรรมการรับรู้และอารมณ์ที่ผิดไปจากคนทั่วไป เช่น คิดว่ามีคนจะมาทำร้าย ระแวงว่าจะถูกวางยาพิษ มองเห็นวิญญาณ หูแว่ว ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นในช่วงปลายวัยรุ่นตั้งแต่อายุประมาณ 16-18 ปี แต่ขณะนี้มีรายงานพบได้อายุน้อยลงคือ 10 ปี เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถดำเนินชีวิตประจำวันเท่ากับผู้ที่ป่วยเป็นอัมพาตทั้งตัวตั้งแต่คอลงไป


ซึ่งผลการดำเนินการของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 3 พบว่าผู้ป่วยเข้าถึงบริการร้อยละ 68 จำนวน 33,647 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 11 ในภาพรวมของประเทศขณะนี้นับว่าดีขึ้นมาก ในรอบ10 เดือนปีงบประมาณนี้ มีผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการจำนวน 570,000 กว่าคน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคจิตเภทประมาณร้อยละ 90 จะมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย ซึ่งสาเหตุกว่าร้อยละ 50 เกิดมาจากการขาดยา สาเหตุที่ผู้ป่วยกินยาไม่สม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่เชื่อมั่นในคุณภาพยา โดยเฉพาะสีของเม็ดยาที่ได้รับไม่เหมือนเดิม จึงไม่กินยาต่อ โดยที่รพ.จิตเวชนครสวรรค์ฯพบปัญหานี้ร้อยละ 45


ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ยารักษาโรคจิตเภทที่โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้ในขณะนี้คือยาขนานเดียวกัน แต่อาจมีสีไม่เหมือนกันเพราะผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างกัน แต่ยามีประสิทธิภาพเหมือนกัน จึงไม่ควรยึดติดกับสีเม็ดยา ขอให้ผู้ป่วยกินยาที่แพทย์จ่ายให้อย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดหรือลดยาเองอย่างเด็ดขาด เนื่องจากฤทธิ์ของยาจะไปปรับการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองให้สมดุล จะรักษาอาการประสาทหลอนและอาการหลงผิดให้หาย อาการจะไม่กำเริบ สามารถใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำงานประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ฯ เร่งพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคจิตเภทและเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะของกรม เพื่อถ่ายทอดวิชาการเทคโนโลยีความก้าวหน้าลงสู่โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยในประเทศให้ดียิ่งขึ้น


 

Shares:
QR Code :
QR Code