เผยพ่อแม่กว่า 60% สูบบุหรี่ ทำลูกป่วย
เหตุควันมือสอง ก่อโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก
ปีนี้เป็นปีที่ 22 ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มี “วันงดสูบบุหรี่โลก” คำขวัญวันไม่สูบบุหรี่โลกปีนี้คือ “Tobacco Health Warning” หรือที่กระทรวงสาธารณสุข แปลว่า “บุหรี่มีพิษ ร่วมคิดเตือนภัย”
ทั้งนี้จากการประเมินขององค์การอนามัยโลก พบว่าประชากรโลกส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงอันตรายที่แท้จริงของการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง ยังไม่รู้จริงถึงอำนาจการเสพติดของบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในวัยรุ่น ที่เข้าไปลองสูบบุหรี่ด้วยความเชื่อว่าตัวเองจะไม่ติดบุหรี่ หรือติดแล้วจะเลิกไม่ได้
เฉพาะกรณีประเทศไทย เรามีคนไทยที่สูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง 5 ล้านกว่าคนที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการพิมพ์คำเตือนบนซองหรือหีบห่อยาเส้น ก่อนที่จะมีคำเตือนเป็นรูปภาพ ร้อยละ 40 ของผู้สูบบุหรี่ไทยเท่านั้น ที่รู้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ทำให้คนเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต และแม้เมื่อมีคำเตือนเป็นรูปภาพถึงโรคต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่งานวิจัยพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้สูบบุหรี่บอกว่าข้อมูลที่เตือนบนซองบุหรี่ยังไม่เพียงพอ
งานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว พบว่า พ่อแม่ของเด็กๆ ที่ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่รู้ว่าการได้รับควันบุหรี่มือสองของเด็ก ทำให้เด็กเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ หูน้ำหนวก และปอดบวม และพ่อแม่ร้อยละ 60 สูบบุหรี่ในบ้าน
การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ร้อยละ 58 ของคนไทยที่สูบบุหรี่ในบ้าน
การสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า คุณพ่อที่สูบบุหรี่หนึ่งพันคน ของเด็กนักเรียน ป.2 – ป.4 ใน กทม. ร้อยละ 47 สูบบุหรี่ในบ้าน ร้อยละ 37 สูบบุหรี่ในรถขณะที่ลูกนั่งอยู่ด้วย
งานวิจัยอีกชั้นหนึ่ง พบว่า ครึ่งหนึ่งของนักศึกษาที่สูบบารากู่เท่านั้นที่คิดว่าบารากู่มีอันตรายเหมือนบุหรี่
การสุ่มดูแผ่นพับวิธีปฏิบัติตัวที่แจกให้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ พบว่า มีทั้งที่ไม่มีการพูดถึงการให้เลิกสูบบุหรี่หรือเพียงแต่ระบุว่า ควรเลิกสูบบุหรี่ แต่มีน้อยมากที่จะให้ความรู้ถึงว่าบุหรี่ไม่ดีอย่างไรกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง และโรคหัวใจ โดยอาจจะสรุปเอาเองว่าผู้ป่วยรู้แล้ว
คนที่มีโรคประจำตัวจำนวนมากยังสูบบุหรี่ เหมือนกับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว ทั้งๆ ที่การสูบบุหรี่จะทำให้โรคประจำตัวทุกโรค ที่เจ้าตัวพยายามรักษา รักษายากขึ้น เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงเร็วขึ้น และทำให้เขาเสียชีวิตเร็วขึ้น
ผู้ปกครองกว่าครึ่งยังสูบบุหรี่ในบ้านและในรถ
คนสูบบุหรี่ไม่น้อยยังสูบบุหรี่ในที่ที่กฎหมายห้ามสูบ
บริษัทบุหรี่ก็พยายามลดประสิทธิภาพของคำเตือนรูปภาพบนซองบุหรี่ โดยการออกแบบเปลี่ยนพื้นสีซองบุหรี่ให้กลืนเข้ากับสีของภาพคำเตือน
ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงต้องร่วมมือกันในการเตือนถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่ การเตือนภัยบุหรี่นี้ สื่อมวลชนและภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะหวังพึ่งให้ภาครัฐทำเพียงอย่างเดียวคงไม่พอแน่ คนใกล้ตัวคนที่สูบบุหรี่นั่นแหละ จะมีอิทธิพลสูงสุดในการเตือนภัยบุหรี่
ระหว่าง พ.ศ.2529 ถึง พ.ศ.2552 รวม 23 ปี เรามีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 42,000 คน รวมแล้วประมาณหนึ่งล้านคน ไม่นับคนที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง หากเราไม่ช่วยกันเตือนคนไทย 9.5 ล้านคน ที่ยังติดบุหรี่ให้เลิกสูบ จะมีถึงหนึ่งในสาม หรืออีก 3 ล้านคนจะทยอยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นับจากบัดนี้ไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
Update 26-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก