“เป่ายิ้งฉุบ” ข้ามวิกฤติองค์กร ด้วย Happy Family
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบาก สำหรับ “เป่ายิ้งฉุบ” พวกเขาข้ามผ่านวิกฤติ ด้วยกุญแจที่ชื่อ “ครอบครัวอบอุ่น"
จากองค์กรที่เคยทำรายได้ประมาณ 200 ล้านบาท ต่อปี แต่เจอสถานการณ์วิกฤติฉุดให้ยอดขายตกลงมาเหลือแค่ไม่ถึงร้อยล้าน เล่นงานธุรกิจ “เจ็บสาหัส” จนแทบจะถอดใจสู้
เรากำลังพูดถึง เสื้อยืดแบรนด์ “เป่ายิ้งฉุบ” ที่ผ่านพ้นช่วงหอมหวาน มาอยู่ในสถานการณ์ “เกือบจะเจ๊ง!” หลังธุรกิจต้องเจอสารพัดโจทย์หนัก ทั้งปัญหาด้านแรงงาน เศรษฐกิจ การเมือง กับปัจจัยลบสารพัด ที่ถ่วงยอดขายให้เริ่มตกลงตั้งแต่ปี 2549-2550 พอเข้าปี 2552 ก็เริ่มออกอาการ “ไปต่อไม่ไหว” หนักถึงขนาดที่ “ชาลี รัตนวชิรินทร์” ซีอีโอ บริษัท ครอบครัวเป่ายิ้งฉุบ จำกัด บอกกับคนของเขาในวันนั้นว่า อีก 6 เดือน ข้างหน้า ถ้ายังไม่มีอะไรดีขึ้น อาจต้องปิดบริษัท!
นี่คือเรื่องจริงของเอสเอ็มอีสายพันธุ์ไทย ที่นำมาแบ่งปันให้ผู้ร่วมสัมมนางาน “Happy Workplace Forum 2015 ครั้งที่ 6” ตอน “Happy Family : เติมรัก ปันสุข สร้างพลัง..(ใจ)..ครอบครัวอบอุ่นให้คนทำงาน” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบัน อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ที่ผ่านมา
โจทย์ใหญ่ที่โถมใส่พวกเขาในวันนั้น ส่งความท้าทายให้ผู้นำอย่างชาลีต้องมาขบคิดว่า จะนำพาองค์กรที่ก่อตั้งมาด้วยสองมือข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร ที่สำคัญต้องปรับตัวแบบไหนธุรกิจถึงจะเข้มแข็งและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ท่ามกลางทางออกมากมายที่หลายคนเลือกทำ พวกเขากลับใช้สิ่งใกล้ตัวที่เรียก “ครอบครัวอบอุ่น” (Happy Family) และพลัง “คน” มาเป็นเครื่องมือฝ่าวิกฤติ ใครจะคิดว่า เรื่องง่ายๆ แค่นี้ ก็สามารถนำความเข้มแข็งกลับสู่องค์กรได้ พวกเขาประกาศความตั้งมั่น ที่จะปรับค่านิยมองค์กรมาสู่ “ครอบครัวอบอุ่น” ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก “กลุ่มน้ำหนึ่ง” มาเป็น “บริษัท ครอบครัวเป่ายิ้งฉุบ จำกัด” แล้วสื่อสารค่านิยมนี้ออกไปในวงกว้าง ด้วยการประกาศตัวว่า จากนี้จะเป็น ผลิตภัณฑ์และบริการแห่งแรงบันดาลใจของครอบครัวอบอุ่นระดับโลก!
เพื่อก้าวข้ามจากผู้ผลิตเสื้อผ้า มาเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจเรื่องครอบครัวอบอุ่น “จุดขายใหม่” ของพวกเขา ทว่าแม้จะมีคำพูดที่สวยหรู และความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม แต่ก็คงไร้ความหมายถ้ายังไม่สามารถทำให้คนในองค์กรของพวกเขามีครอบครัวที่อบอุ่นได้ ชาลี มองเห็นปัญหานี้ หลังสังเกตว่า พนักงานส่วนใหญ่ ยังต้องทิ้งลูกให้อยู่กับตายาย เพื่อเข้ามาทำงานในเมือง ไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัว และไม่มีสิทธิแม้แต่จะเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยสองมือของตัวเองได้
นั่นคือที่มาของการตัดสินใจทำ “สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านครอบครัวอบอุ่น” ขึ้น เพื่อให้พนักงานและลูกๆ ได้มีสิทธิ์อยู่ด้วยกัน เติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับคำว่า ครอบครัว
“ศูนย์เด็กของเราไม่ได้เป็นที่ทิ้งเด็กของพ่อแม่ แต่เป็นที่ๆ เราจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ทุกวันนี้ทุกเช้าผมจะไปยืนอยู่หน้าศูนย์เด็กเพื่อคอยรับผู้ปกครอง ซึ่งก็เป็นพนักงานของเรานี่แหล่ะ ผมยกมือไหว้เขา แล้วบอกว่า ทำงานอย่างมีความสุขนะครับ เขาก็เรียนรู้ที่จะทำงานอย่างมีความสุขเพื่อให้ลูกหลานได้เห็น..เราเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ร่วมกัน” เขาบอก
การทำสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เด็กเล็กในชุมชน ไม่ทำกำไร ตรงกันข้าม ยังขาดทุนทุกเดือนและขาดทุนมาเรื่อยๆ ตลอด 8 ปี ที่ดำเนินการมา แต่คนทำยังบอกเราว่า ถึงขาดทุนก็ “มีความสุข” ที่สุขเพราะเขาสามารถตอบเป้าหมายการสร้างครอบครัวอบอุ่นให้กับพนักงานได้ พนักงานยังคงทำงานอย่างมีความสุข ขณะหนึ่งผลลัพธ์ระหว่างทาง คือ การพัฒนาหลักสูตรที่ชื่อ “หลักสูตรห้องเรียนพ่อแม่” ซึ่งภายหลังสามารถนำมาให้บริการกับคนภายนอก เพื่อหารายได้มาเสริมศูนย์เด็กของพวกเขาได้ หากทว่า เส้นทางนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น
“ปรากฏพอทำไป จากขาดทุนแค่เดือนละ 2-3 หมื่นบาท กลายเป็น 7-8 หมื่นบาท คราวนี้เริ่มไม่สุขแล้ว (หัวเราะ) สุดท้ายก็ต้องถอย เพราะทำต่อไม่ไหว แต่เราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำ ดีและงดงาม สุดท้ายทำเงินไม่ได้ ก็ทำฟรีมันเสียเลย”
ที่มาของหลักสูตรอบรบ ฉบับครอบครัวเป่ายิ้งฉุบ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงทำกับพนักงานของพวกเขา หากทว่ายังทำกับองค์กรภายนอกด้วย โดยองค์กรต่างๆ ยังส่งพนักงานของตัวเองมาอบรมอย่างต่อเนื่อง หลังพิสูจน์พบแล้วว่า ชุดความรู้ที่พวกเขาจัดทำขึ้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือระงับสงครามในห้องทำงาน ห้องประชุม และแม้แต่บนโต๊ะอาหารได้ ขณะผลตอบแทนสู่องค์กรก็เป็นสิ่งที่ทุกคนถวิลหา นั่นคือ “Productivity”
ยังจินตนาการกันไม่ออก มาลองดูผลลัพธ์ที่เกิดกับ เป่ายิ้งฉุบ หลังทำหลักสูตรแห่งความสุข พร้อมๆ กับ กิจกรรมที่ทุ่มให้กับคนของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เช่น “ซุ้มสนทนา” ที่นำความรู้มาแบ่งปันกัน การทำชมรมสุขภาพการเงิน ชมรมสุขภาพใจ กิจกรรมปลูกผักในบริษัท กับสารพัดกิจกรรม ที่เขาบอกว่า “สนุกดี และมีความสุข” จากแค่คนทำงานก็เริ่มหลอมรวมเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” อย่างแท้จริง
“เราทำจนกระทั่ง เป่ายิ้งฉุบ เป็นครอบครัวของเรา ไม่ได้คิดว่า เป็นนายจ้าง กับลูกจ้าง ทุกวันนี้เราทำงานอย่างเห็นคุณค่าของการทำงาน และเห็นคุณค่าของได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว”
ผลที่ได้จากครอบครัวอบอุ่น คือ “คนเข้มแข็ง” แรงส่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่เคยดิ่งหัว กลับเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากยอดขายที่เคยสูงถึงประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี และตกลงมาเหลือเพียงแค่ 80 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มกลับมาสู่หลักกว่าร้อยล้านบาทได้อีกครั้ง โดยปีที่ผ่านมาธุรกิจยังเติบโตได้ถึง 40% และปีนี้ตั้งเป้าว่าจะโตได้ที่ประมาณ 20%
“แม้ครอบครัวอบอุ่นอาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจเติบโต แต่เห็นเลยว่า ในยามวิกฤติทุกคนพร้อมที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับองค์กร เพราะต่างรู้ดีว่า องค์กรจริงใจ และพร้อมมอบสิ่งดีๆ ให้กับเขา วันที่เราพร้อมที่จะเติบโต เขาก็พร้อมที่จะทำงานอย่างมีความสุข เห็นคุณค่าของการทำงาน และเดินหน้าอย่างมั่นคงไปพร้อมกับเราด้วย”
ปัจจุบัน เป่ายิ้งฉุบ มีกำลังการผลิตประมาณ 5-6 พันตัวต่อวัน มีพนักงานประมาณ 130-140 คน เขาบอกว่าวิกฤติที่เกิดขึ้น ช่วยคัดกรองพนักงาน “ตัวปลอม” ออกไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่ “ตัวจริง” ที่พร้อมต่อสู้เพื่อองค์กร โดยปัจจุบันอัตราเทิร์นโอเวอร์ของพนักงานยังต่ำกว่าอุตสาหกรรม และเริ่มมีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานบ้างแล้ว หลังทายาทรุ่นสองของเขา ในวัย 24 และ 27 ปี เริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจ เลยกลายเป็นองค์กรที่ผสมผสานคนต่างเจน แต่มีจุดร่วมเดียวกันนั่นคือ “ครอบครัว”
เขาบอกอีกว่า ทุกวันนี้ผู้ประกอบการไทย ในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มซึ่งใช้แรงงานสูง ยังต้องเจอกับความท้าทายมากมาย และยังมีอุปสรรคปัญหาอยู่รอบด้าน ไม่ว่าจะปัญหาแรงงาน เศรษฐกิจ การเมือง ปัญหาชุมชนและสังคม ต่างๆ เหล่านี้ ที่ขับเคลื่อนรุนแรงมากขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องเรียนรู้ และอยู่กับมันให้ได้
“ธุรกิจต้องยอมรับความจริงว่า ชีวิตวันนี้ไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกแล้ว เราจะอยู่กับบริบทที่เปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนรุนแรงนี้ได้อย่างไร เราต้องยอมรับความจริง และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ต้องดูแลตัวเองและองค์กรให้มีความสุข เราอาจเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้” เขาบอก
ก่อนย้ำในตอนท้ายว่า วันนี้ “เป่ายิ้งฉุบ” ไม่ใช่แค่คนทำเสื้อยืดขาย แต่กำลังส่งผ่านแรงบันดาลใจครอบครัวอบอุ่นสู่สังคม
ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต