เป็น อยู่ ตาย สู่วาระสุดท้ายที่มีสุขภาวะดี

ข้อมูลจาก : งานเสวนา “การดูแลแบบประคับประคองเริ่มที่หัว + ใจ

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    “ไม่มีใครสามารถเอาชนะสังขาร และความตายไปได้  การจากลา หรือความตาย จึงควรเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ควรเป็นการยื้อทรมาน” เรื่องราวที่ ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย . และ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมถ่ายทอด บอกเล่า สร้างความเข้าใจเรื่องการตาย อย่างมีคุณภาพ  เหมาะสมกับผู้ป่วย และญาติ ในวงเสวนา “การดูแลแบบประคับประคองเริ่มที่หัว + ใจ”

                    โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการรักษาโรคมีความก้าวหน้า แทบจะไม่มีโรคไหน รักษาไม่ได้ ในอดีตการเรียนการสอนแพทย์ มักถูกสอนเสมอให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้เต็มที่  ไม่ค่อย มีพูดถึงเรื่องของความตาย  สะท้อนได้จากนับอัตราการคลอดบุตร มากกว่าการนับอัตราการตาย แต่แนวทางการสอนและการรักษาในขณะนี้ ได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภา เน้น ให้แพทย์ มีความรู้ความเข้าใจ ใช้แนวทางการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care ) เน้นให้เกิดความสุขสบายกับผู้ป่วยมากที่สุด ในช่วงท้ายของชีวิต   โดยเปลี่ยนเป้าหมายในการรักษา จาก “อยู่ให้นาน”  เป็น “อยู่ให้ดี”

                    “การรักษาแบบประคับประคอง ไม่ใช่แปลว่าไม่ได้รับการรักษา แต่เป้าหมายของการรักษาเปลี่ยนไป ไม่ใช่การยื้อชีวิต แต่เป็นการรักษาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและเกิดประโยชน์กับคนไข้ ทั้งการให้ยาเหมาะสมกับบริบท ไม่เกินความจำเป็น”รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

                    สำหรับโรคที่เหมาะกับการรักษาแบบประคับประคองมากที่สุด  เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicale diseases) เบาหวาน ,ความดันโลหิตสูง ,โรคหัวใจและหลอดเลือด, มะเร็ง  เนื่องจากภาวะของโรค ทำให้ร่างกายอวัยวะเสื่อม คุณภาพชีวิตแย่ลง ถึงจุดหนึ่งกระบวนการรักษาไม่สามารถแก้ไขได้  ดังนั้นในกระบวนการผลิตแพทย์ ให้ตรงกับแนวทางการรักษาแบบประคับประคอง   เพื่อให้สอดรับนโยบายสถานชีวภิบาล 250 แห่งใน กทม.นั้น แพทย์ต้องมี  3 สิ่ง

  • Hand มีความชำนาญในการรักษา
  • Head  มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ
  • Heart  มีความเข้าใจความรู้สึกทุกข์ของผู้ป่วยและญาติ

                    จากนั้นแพทย์ต้องพิจารณา ตั้งวัตถุประสงค์ของการรักษาโรค  หากเป็นโรคที่รักษาหายขาด ต้องรักษาเต็มที่ ส่วนโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ ต้องเน้นการรักษาตามอาการ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีที่สุด

                    ข้อมูล รายงานสุขภาพคนไทย  ปี 2566 พบว่า  อัตราการเสียชีวิตของไทย อันดับ 1 มาจาก โรค NCDs  และมีคนไทยมากถึง 14 ล้านคน ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ มากกว่า 4.8 ล้านคน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เป็น 5.3 ล้านคนในปี 2583  ส่วนโรคมะเร็ง ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2566 มีคนไทยเสียชีวิต ถึง 67,000 คน และมีผู้ป่วยเข้ารับการักษาแบบประคับประคอง 185,577 คน

                    ด้านนางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผอ.สำนักสร้างระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า สัดส่วนของประชากรไทย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 20% และมีแนวโน้มมากขึ้น ในอีก 10 ปีข้างหน้า แน่นอนสัดส่วนของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ย่อมเพิ่มสูงขึ้นตาม แนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเหมาะกับสังคมผู้สูงอายุมากที่สุด เพื่อให้ได้รับความสบายทั้งจิตใจ ร่างกาย และสภาพแวดล้อม โดย สสส. ให้การสนับสนุนเชื่อมโยง ประสานขับเคลื่อนนโยบายชีวาภิบาล และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความตายว่า เป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว โดยจัดทำหลักสูตร “เพื่อนตาย ” ร่วมกับเครือข่าย ชีวามิตร พร้อมจัดทำคู่มือ “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” Happy Leaving Journey เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว เพื่อน และอาสาสมัคร ตระหนัก เข้าใจ เลือกสิ่งที่ดีที่สุด เสมือนมองในมิติ ดูแลตนเอง เข้าใจความต้องการบริบทของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้หัวใจ

                    “หลักสูตรเพื่อนตาย มีรายละเอียดครอบคลุม ตั้งแต่การเลือกทางเลือก วางแผนการรักษา หรือ การรักษาแบบประคับประคอง เมื่อร่างกายบ่งบอกว่าเข้าสู่ระยะสั่งลา  เช่น ภาวะเบื่ออาหาร ความอ่อนเพลีย ระบบหายใจ ระบบประสาท เป็นการวบรวมแนวทางการเลือกสื่อสารบอกข่าวภาวะการเจ็บป่วยต่อผู้ป่วย  การรับมือกับปฏิกิริยาความเศร้าที่อาจเกิดขึ้น  จนไปถึงการจัดเตรียมธุรกรรมต่างๆ เปรียบเหมือนการจัดกระเป๋าเดินทางครั้งสุดท้าย  และการระบุความปรารถนาที่แท้จริง ต่อการรักษา  หรือ การทำ Living Will  เช่น ไม่ประสงค์รับการเจาะร่างกาย ปั้มหัวใจ”

                    “ปัจจัยแวดล้อมของคนไข้ก่อนระยะสุดท้าย ทั้งคนที่สามารถโอบอุ้มดูแล ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิด คนในครอบครัว แพทย์ หรือ เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ การดูแลยังคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพเจตจำนงของผู้ป่วย จึงมีความสำคัญมาก” นางญาณี กล่าว

                    ในส่วนบทบาทการขับเคลื่อนสร้างความเข้าใจในประชาชน ถึง “สิทธิ์” ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี สามารถอยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุขนั้น คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เผยว่า ทางชีวามิตร ฯ เดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนี้มากกว่า 6 ปีแล้ว ตั้งแต่เรื่อง หนังสือแสดงความต้องการไม่ขอรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้าย หรือ(Living Will) จนมาถึงการรักษาแบบประคับประคอง  ต้องอาศัย ก้าวข้ามเส้นแบ่ง ต่อสู้กับความเชื่อ ศาสนา จารีต บนพื้นฐานว่าไม่มีใคร เอาชนะสังขาร และหนีความตายไปได้  โดยคนในครอบครัว คนรัก มักติดกับดักคำว่า กตัญญู ทำให้เกิดการยื้อชีวิตผู้ป่วย ซึ่งเท่ากับยื้อทรมาน  สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการรักษาช่วงท้ายของชีวิต จึงกลายเป็นความต้องการของญาติ หลงลืมความต้องการของผู้ป่วย  ทั้งที่หลักของการตายที่ดี คือ การตายด้วยจิตใจ ที่ปลอดโปร่ง ไม่ห่วง ไม่กลัว

                    “กับดักความคิดของญาติ มักคิดวนซ้ำ อยู่ 3 อย่าง 1 ถ้าไม่รักษาอย่างเต็มที่จะบาปไหม 2 อยู่ไม่ได้ หากไม่มีเค้า ตัดใจไม่ได้  3 หากปล่อยผู้ป่วยไป คนอื่นจะมองอย่างไร ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกับตัวเองให้ดี”  คุณหญิงจำนงศรี กล่าว

                    หากเลือกฉากสุดท้ายของชีวิตได้ เชื่อว่าทุกคนคงอยากลาจาก ท่ามกลางแวดล้อมคนที่รัก และประคองสติด้วยสงบ

 

Shares:
QR Code :
QR Code