เปิดใจ ‘3 ครูรางวัล’ มากกว่าเรือจ้างคือสร้างคน

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์


เปิดใจ '3 ครูรางวัล' มากกว่าเรือจ้างคือสร้างคน thaihealth


"จากการดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 32 ปีก่อน ได้เห็นการใช้ไอซีทีในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งชาวนา และในอดีตมีคำพูดที่ว่า..ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ..ถ้าหากเราไม่รู้เทคโนโลยีก็จะตามหลังเขา ก็เป็นจังหวะที่โรงเรียนได้รับคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่แต่ไม่มีใครใช้เป็น จึงหันมาพัฒนาความรู้ทางไอซีทีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโลกกว้างการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์"


เรื่องเล่าจาก นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ครูผู้ได้รับ "รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ประจำปี 2560" กล่าวในงานประชุมวิชาการนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานส่งเสริมสังคม แห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เมื่อ 26 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ณ รร.เดอะ สุโกศล ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ


ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนเองหันเหจากการเป็นครูพละ มาสนใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2528 ทั้งที่ในขณะนั้นสังคมไทยทั่วไปยังมองว่า "ไกลตัว" โดยเป็นคนหนึ่ง ที่เริ่ม "บุกเบิก" การจัดการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตในโรงเรียนไทย ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งเสริมให้ลูกศิษย์ออกไปทำกิจกรรม ประกวดต่างๆ จนได้รับรางวัลกลับมาอยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งครูท่านนี้ ต้องใช้ "เงินส่วนตัว" เป็นทุนสนับสนุนกิจกรรมของลูกศิษย์ รวมถึง ทุ่มเทเวลาให้แม้จะอยู่นอกเหนือจากเวลาราชการก็ตาม


นายจิรัฏฐ์ระบุว่า สมัยเด็ก "ยากจน" ต้องทำงานส่งตนเอง เรียนมาตลอด อีกทั้งครอบครัวยังแตกแยก แต่เพราะได้ "กำลังใจ" และความช่วยเหลือจากครูหลายท่าน ทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแสนยาก ลำบากมาได้ จึงมองว่า "แม้เกิดมาไม่สมบูรณ์ก็สามารถมีอนาคต ที่ดีได้ หากได้รับการดูแลและความเข้าใจ" ดังนั้น เมื่อได้เป็นครู จึงตั้งใจจะทำอย่างที่ตนเคยได้รับโอกาสบ้าง


เช่นเดียวกับ นางนฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครู กศน. ประจำศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาบ้านกรูโบ อ.อุ้มผาง จ.ตากซึ่งเป็น 1 ใน 2 ครูผู้ได้รับ "รางวัลคุณากร" กล่าวว่า ทำงานอยู่ที่บ้านกรูโบมาแล้ว 18 ปี และยังไม่คิดจะย้ายไปที่อื่น เพราะ คิดเสมอว่า "หากไม่มีใครอาสามาเป็นครูที่แห่งนี้แล้ว เยาวชนและประชาชนในชุมชนแห่งนี้คงจะไม่ได้รับโอกาสเรียนรู้ภาษาไทย"ทั้งที่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเหมือนกับผู้คนในพื้นที่อื่นๆ


ภารกิจแต่ละวันของครูนฤมล นอกจากจะสอนหนังสือแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นหมอ เป็นผู้ส่งเสริมอาชีพการเกษตรทั้ง ธนาคารข้าว เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชแบบปลอดสารเคมี รวมถึงทอผ้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งชุมชน โดยตั้งเป้าหมายว่า..


"ต้องพยายามให้ลูกศิษย์รักชุมชนของตนเอง เพราะเมื่อเขา เรียนจบเขาจะได้ไม่ทิ้งบ้านเกิด ส่งผลให้มีนักเรียนหลายคนเกิดแรง บันดาลใจ อยากเป็นครูเพื่อกลับมาทำหน้าที่ในชุมชนของตนเองบ้าง"


ด้าน นายศรัณย์ ศรีมะเริง ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ครูอีกท่านที่ได้รับรางวัลคุณากร กล่าวว่า ตั้งใจว่า "อยากให้ลูกศิษย์จบไปแบบที่เก่งกว่าครู" จึงคิดค้นการใช้โน้ตดนตรีเปรียบเทียบกับตัวเลขเพื่อสอนเด็กในระดับประถม-ใช้ตัวการ์ตูนเพื่อสอนเด็กในระดับอนุบาล พบว่าทำให้จดจำโน้ตต่างๆ ง่ายขึ้


ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เปิดเผยว่า สำหรับครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 โดยรางวัลเกียรติยศ ทั้งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และรางวัลคุณากร มูลนิธิฯ คัดเลือกจาก 3 ช่องทางคือ 1.เสนอชื่อโดย ศิษย์เก่าที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป 2.จากสถานศึกษา หรือ 3.สมาคมหรือองค์กรที่มีการคัดเลือกครู เพื่อปลุกพลังคนไทยทั้งชาติ ร่วมกัน "ยกย่อง" ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์และสร้าง "คุณูปการ" แก่วงการการศึกษาไทย

Shares:
QR Code :
QR Code