เปิดโอกาสผู้สูงอายุ ร่วมพัฒนาสังคม
สร้างทัศนคติเชิงบวกแก่ผู้สูงอายุ ตระหนักถึงคุณค่าดึงศักยภาพพัฒนาสังคม
ผู้สูงอายุนับว่าเป็นบุคคลที่ผ่านช่วงชีวิตและเหตุการณ์ต่างๆ มามากมายซึ่งก่อนที่จะก้าวผ่านช่วงเวลาของผู้สูงวัยมานั้น กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไม่น้อย และทุกวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีนอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้วยังจัดให้เป็นวัน "ผู้สูงอายุแห่งชาติ" เพื่อสร้างความตระหนักให้คนรุ่นหลังเห็นคุณค่าและความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกลดทอนบทบาทจากสังคมทั้งที่ยังมีประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม
“การสร้างทัศนคติต่อความสูงวัยยังมีน้อยในสังคมปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรคำนึงและตระหนักคือการสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุและความสูงวัย เพราะวัยหนุ่มสาวสักวันหนึ่งย่อมก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน” อาจารย์สว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุกล่าว
อาจารย์สว่าง อธิบายถึงบทบาทของผู้สูงอายุว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีบทบาททางสังคมไม่มากพอ ซึ่งมุมมองของคนทั่วไปมักมองว่าผู้สูงอายุผ่านการทำงานมากมากพอแล้ว ในช่วงวัยที่ยังเป็นหนุ่มสาวจึงไม่อยากให้ผู้สูงอายุทำงานมาก แต่ที่จริงแล้วในวัยผู้สูงอายุยังสามารถทำงานได้ในหลายๆ ด้านอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสังคมควรให้ความสำคัญและดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาสร้างประโยชน์ อีกทั้งผู้สูงอายุเองก็ควรออกมาทำงานเพื่อสังคม
จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในปี พ.ศ. 2557 มีประชากรสูงอายุร้อยละ 14 และคาดว่าในปี พ.ศ. 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งนับว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามว่าประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ
ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ กล่าวต่อว่า ด้วยศักยภาพของผู้สูงอายุที่เห็นได้ชัดเจนคือการมีประสบการณ์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และสังคม ซึ่งสังคมควรให้โอกาสและไม่จำกัดว่าอายุต่ำกว่า 60 ปี ถึงจะทำงานได้ เช่นการวางแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นควรให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุก็สามารถเป็นปากเสียงให้แก่สังคมได้ เพียงต้องเกิดการชักชวนและการเปิดโอกาสของสังคม
“แต่ก่อนที่จะไปสร้างประโยชน์แก่สังคมได้ ผู้สูงอายุควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีไม่เป็นภาระของลูกหลานซึ่งสุขภาพที่ดีไม่ได้หมายถึงการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการกินอาหารที่ถูกต้องเป็นประโยชน์และเหมาะสมต่อร่างกาย อีกทั้งคนรอบข้างหรือผู้ดูแลควรให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุอย่างถูกต้องด้วย” อาจารย์สว่าง กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามนอกการจากเปิดโอกาสทางสังคมให้ผู้สูงอายุมีบทบาทมากขึ้นแล้ว ควรสร้างคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงวัย ส่วนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ อย่าลืมกลับบ้านรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตด้วยนะคะ
เรื่องโดย แพรวพรรณ สุริวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต