เปิดโมเดล ‘โคราช’ จังหวัดต้นแบบลดปัญหาท้องในวัยรุ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดนครราชสีมา จัดเวทีแลกเปลี่ยน "นครราชสีมา:ต้นแบบการจัดการและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น"
นายสมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จ.นครราชสีมาได้รับผลกระทบจากปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ในปี 2552 มีหญิงอายุ 15-19 ปีที่มาคลอดเฉลี่ยสูงถึงวันละ 13 คน หรือคิดเป็น 58 คนต่อวัยรุ่นหญิงพันคน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ที่น่าห่วงใยคือ 80% ยังอยู่ในระบบการศึกษา จึงได้ปรับการทำงานจากการแก้ไขปัญหาเป็นยุติปัญหา มีการวางแผนร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยมองอนาคตร่วมกันใน 10 ปี ปรับการทำงานจากพื้นที่นำร่องเป็นการทำงานครอบคลุมทั้งจังหวัดเพื่อให้กระทบถึงเด็กเยาวชนทั้งจังหวัด ภายใต้กลยุทธ์จับคู่การทำงานระหว่างสถานศึกษากับสถานบริการสุขภาพ 400 โรงเรียน 400 โรงพยาบาล พร้อมกับปรับศูนย์ประสานงานให้มีความชัดเจน โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาเป็นหน่วยประสานงาน ทำให้ปัจจุบันในปี 2559 มีหญิงอายุ 15-19 ปี ที่มาคลอดบุตรลดลงเหลือ 48 ต่อวัยรุ่นหญิงพันคน ซึ่งเกิดจากการบูรณาการของหน่วยงานหลัก สถานศึกษาและสถานบริการสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสสส. ซึ่งทิศทางในอีก 10 ปีข้างหน้าภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี ให้เหลือ 25 ต่อวัยรุ่นหญิงพันคน
น.พ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีผลบังคับใช้แล้ว เด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนเพศวิถีศึกษา รวมถึงการให้คำปรึกษาช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม และส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2.สถานบริการสุขภาพต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3.สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4.หน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมต้องจัดสวัสดิการสังคมให้กับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ต่อเนื่องจนถึงหลังคลอด และ 5.ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิและสนับสนุนการเข้าถึงบริการต่างๆ ตามสิทธิของวัยรุ่น โดยกฎหมายกำหนดให้ 5 กระทรวงหลักคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ และสาธารณสุข ทำงานร่วมกัน ระหว่างนี้ในแต่ละกระทรวงจึงเตรียมออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ ซึ่งการทำงานของนครราชสีมา ที่มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม จึงถือเป็นตัวอย่างที่ดี ที่พื้นที่อื่นๆ จะได้ศึกษาเรียนรู้การทำงาน
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่าจากสถิติการคลอดบุตรของแม่วัยรุ่นในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า มีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มาคลอดบุตร รวม 104,289 คน เท่ากับว่าในแต่ละวันมีเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นถึง 286 คน ที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนหลักใน 20 จังหวัด ซึ่งนครราชสีมาเป็นหนึ่งในกลุ่มจังหวัดดังกล่าว โดย สสส. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้กรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษที่องค์การอนามัยโลกยกย่องให้เป็นโมเดลความสำเร็จในการทำงานเรื่องนี้ ร่วมกับบทเรียนในไทย พัฒนามาตรการ "9 ภารกิจ" ขึ้นเป็นแนวทางขับเคลื่อน โดย 9 ภารกิจดังกล่าว ได้แก่ 1.การมีกลไกประสานการทำงานระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง 2.การทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก 3.มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน 4.การทำงานกับกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา 5.การณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบเพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก 6.การมีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น 7.ระบบบริการที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษาและสังคม 8.การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน และ 9.มีระบบข้อมูล เพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ 2 มาตรการสำคัญและส่งผลต่อความสำเร็จในเรื่องนี้ คือ หนึ่ง การสร้างการเรียนรู้แก่เด็กเยาวชนในเรื่องเพศวิถีศึกษาที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ทั้งเรื่องพัฒนาการทางเพศ สัมพันธภาพและความเท่าเทียมทางเพศ การเคารพสิทธิ การคุมกำเนิด รวมถึงเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ส่วนมาตรการสำคัญที่สอง คือ การจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น และมีความยืดหยุ่น ที่จะช่วยให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ง่ายและไว้วางใจ
น.ส.บุญช่วย นาสูงเนิน ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.นครราชสีมา กล่าวว่า กลไกข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการจัดการและแก้ไขปัญหา หลังจากที่มีการปรับฐานข้อมูลใหม่ทำให้พบว่า เป็นปัญหาที่หนักหน่วงของทั้งจังหวัด จึงนำสู่การหารือของคณะทำงานเพื่อรับรู้ปัญหาร่วมกันและทบทวนสิ่งที่เคยทำแล้วได้ผล ซึ่งพบว่าหลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนต้นแบบทำได้ผลเป็นอย่างดี แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อให้ได้ผลกระทบถึงเด็กเยาวชนทั้งจังหวัด 150,000 คน จึงเป็นที่มาของการจับคู่การทำงานระหว่างโรงเรียนและโรงพยาบาลเพื่อการจัดการเรียนรู้ทักษะชีวิตอนามัยเจริญพันธุ์วัยรุ่นและเพศศึกษา การวางระบบให้คำปรึกษา ระบบส่งต่อเพื่อรับบริการทางสุขภาพ พร้อมกับทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อสร้างแรงสนับสนุนให้ผู้บริหารประกาศเป็นนโยบายของทั้งจังหวัด และมีการขยายผลไปสู่ผู้ปกครองในกลุ่มเด็กเปราะบางที่อยู่เป็นคู่หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว เพื่อให้มีการแนะนำให้คำปรึกษาเพื่อรับบริการฝังยาคุมกำเนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียนและป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มแม่วัยรุ่น ทั้งนี้ สสส.มีส่วนเข้าไปสนับสนุนงานจังหวัด ทั้งด้านข้อมูลความรู้และงบประมาณในการริเริ่มงานใหม่ๆ และการเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อให้การเคลื่อนทั้งจังหวัดสามารถเกิดขึ้นได้จริง