เปิดโมเดลต้นแบบ “องค์กรแห่งความสุข” ตัวจริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เพราะประชากรกว่าครึ่งของประเทศไทยคือ "วัยแรงงาน" กลุ่มคนสำคัญที่เป็นกำลังหลักของประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าให้กับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งอีกหนึ่งที่มาของ "ความสุข" สำหรับคนทำงานทุกคนย่อมมาจากการได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความสุข แนวคิด "Happy Workplace" หรือ "องค์แห่งความสุข" จึงไม่เพียงเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยในวัยทำงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ปลายทางของการดำเนินโครงการนี้ ยังส่งผลต่อความสำเร็จของตัวองค์กรเองที่จะได้มีพนักงานที่ประสิทธิภาพ
เอ่ยถึงความสำเร็จภายใต้การผลักดันแนวคิด "องค์กรแห่งความสุข" หรือHappy Workplace ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันมากว่า 14 ปี ร่วมกับภาคีเครือข่าย จนวันนี้เกิดองค์กรแห่งความสุขต้นแบบที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กรสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรมอบรมด้วยหลักการ Happy Workplace สร้างสุขภาวะในองค์กรแก่ผู้ประกอบการ ใน 159 แห่ง มีพนักงานเข้าร่วม 8,739 คน ส่งผลให้พนักงานมีความสามัคคีและมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร ร้อยละ 100 ทุ่มเทในการทำงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 95.9 พนักงานลาออกลดลงร้อยละ 91.9 ค่าเฉลี่ยความสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.84 เป็นร้อยละ62 ซึ่งหากคิดเป็น มูลค่าผลลัพธ์และผลตอบแทนเท่ากับ 240 ล้านบาท
"กลุ่มคนวัยทำงานที่มีความสุขในการทำงาน จะก่อให้เกิดกระบวนการทางความคิด ทำให้งานที่ได้รับมอบหมายมีประสิทธิภาพ มากขึ้น ส่งผลให้ความเครียด อุบัติหตุ และโรคที่เกิดจากการทำงานลดลง สอดรับกับพันธกิจของ สสส."
ความสำเร็จดังกล่าวกำลังต่อยอดสู่การ จัดตั้งศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุขต้นแบบ ทั้ง 7 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยองค์กรต้นแบบเหล่านี้ล้วนมีโนว์ฮาวการสร้างองค์กรแห่งความสุข ทั้งด้านการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และเทคนิคเพื่อขับเคลื่อน รวมถึงบทบาทของนักสร้างองค์กรแห่งความสุข ที่พร้อมจะถ่ายทอดสู่องค์กรเพื่อนบ้านต่อไป
โดย กรพินธุ์ คชรัตน์ ผู้จัดการศูนย์ Happy Workplace Center เล่าถึงเหตุผลของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวว่า ไม่เพียงเฉพาะเป็นวิทยากรต้นแบบให้สถานประกอบการอื่น แต่ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงาน เป็นศูนย์กลางนำเสนอองค์กรแห่งความสุข และข้อมูลการสุขภาพ ของ สสส.ซึ่งแต่ละแห่งมีกระบวนการออกแบบการสร้างองค์กรแห่งความสุขที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง และล้วนเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับ 3 องค์กรต้นแบบนี้
ผึ้งน้อยองค์กรขับเคลื่อนด้วยคนดี
บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด มีพนักงานส่วนใหญ่อายุเฉลี่ยถึง 50 ปี เพราะด้วยวัฒนธรรมองค์กรดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว และเน้นการปลูกฝังค่านิยมการเป็นคนดี ซึ่งมีต้นแบบคือเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้ถ่ายทอดสู่ ลูกน้องในองค์กร ผึ้งน้อยมีความโดดเด่นเรื่องการให้โอกาส เช่น แม้พนักงานทำผิดก็ยังไม่ได้ไล่ออกเลยทีเดียว หรือเมื่อพนักงานรอบๆ ชุมชนไม่มีงานทำก็จะมาขอสมัครงานที่นี่ ซึ่งผู้บริหารก็เปิดโอกาสหางานให้จึงพยายามคิดตลอดเวลาว่าต้องหางานเพิ่มเพื่อให้พนักงาน มีรายได้มั่นคง นอกจากนี้ยังมีความรับผิดชอบต่อสังคม (ผู้บริหาร) การสร้างงานให้กับ คนด้อยโอกาส หรือพนักงานที่ออกไปแล้ว
ริกิการเม้นส์ ครอบครัวใหญ่แต่ใจเดียวกัน
ริกิกาเมนส์ เริ่มก้าวสู่ Happy Workplace ในปี 2555 เพราะมีปัญหาพนักงานออกเยอะ ทางบริษัทจึงเพิ่มด้านค่าตอบแทน สวัสดิการที่พักและวันหยุดจูงใจพนักงาน และนำแนวคิด Happy Workplace มาปรับใช้ ซึ่งองค์กรมีพนักงานหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ทำให้ต้องรับมือในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมของพนักงานในองค์กร จึงพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียว โดยเน้นการปฏิบัติกับพนักงานเท่าเทียมกัน และมีส่วนร่วมทุกคน และ ยังพยายามสร้างกิจกรรมเพื่อพนักงาน ในด้านสุขภาพ ไปถึงกิจกรรมสร้างความสุข ในด้าน Happy Money บริษัทยังส่งเสริมให้พนักงานมี รายได้พิเศษ โดยจัดตลาดนัดให้พนักงานออกมาขาย มีสวัสดิการอาหารราคาถูก สอนการจัดระเบียบการใช้เงิน การวางแผนชีวิต
ฟุตบอลไทย ต้นแบบ Happy8 ตัวจริง
บ.ฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้งกู๊ด จำกัด มีผู้บริหารเป็นผู้นำ happy work place เข้ามาใช้ในองค์กรผ่านการฝึกอบรม คัดสรรบุคลากรมารุ่นแรก 8 คน จากแต่ละแผนก โดยไม่จำเป็นว่าเป็นหัวหน้างานหรือลูกน้อง แต่ดูจุดเด่นมีบุคลิกภาพมนุษย์สัมพันธ์ดี เพื่อนำมาฝึกอบรมเครื่องมือ Happy 8 ที่จากการอบรมในโครงการ Happy Workplace ของ สสส. แต่ต่อมาก็ปล่อยโอกาสให้พนักงานขับเคลื่อนเอง จึงร่วมกันพยายามต่อยอด เริ่มจากเอาของใช้มือสอง สินค้ามาขายเพื่อหาเงินทำกิจกรรมที่ตนเองต้องการซึ่งองค์กรเองก็มีโครงการหลายอย่างที่ดำเนินการซึ่งอยู่ในเกณฑ์ happy 8 เช่น การเปิดเนอร์สเซอรี่ให้กับพนักงานทั้งไทยและแรงงานต่างด้าวที่มีลูกเล็ก เวลากลางวันก็เปิดโอกาสให้ครอบครัวมากินข้าวพร้อมหน้ากัน ในด้านชุมชนมีการจัดกิจกรรมให้ชุมชนใกล้เคียงสามารถมาร่วมกิจกรรม และส่งเสริมกีฬาชุมชนทั้งสร้างความสุขเรื่องการเงิน โดยสร้างโครงการเกี่ยวกับการออมทรัพย์
อย่างไรก็ดี ผู้จัดการ Happy Workplace Center ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ที่ผ่านมาแม้หลายองค์กรจะมีเป้าหมายอยากเป็นองค์กรแห่งความสุข แต่ก็มีบางองค์กรเหมือนกันที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีความเข้าใจผิดในเรื่องกระบวนการ เพราะเข้าใจว่าการทำ Happy Workplace คือกิจกรรม
"หลายองค์กรบอกว่า ทำไมทำกิจกรรมครบเกณฑ์ Happy 8 แล้วก็ยังไม่เวิร์ค เราจะบอกเสมอว่า จะต้องเป็นกระบวนการการพัฒนาองค์กรอย่างมียุทธศาสตร์ ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์ แต่กิจกรรมบางองค์กรไม่ได้เริ่มมาจากจุดดังกล่าว เพราะไปติดกรอบ ในรูปกิจกรรม หรือก็อปปี้คนอื่นบ้าง"
ซึ่ง "นักสร้างองค์กรแห่งความสุข" เป็นกลไกสำคัญที่จะต้องมีความรู้ทั้งด้านเอชอาร์และการวางแผนกลยุทธทั้งในระดับองค์กรและโครงการ แต่ปัจจุบันพนักงานมักมองว่าต้องให้องค์กรทำฝ่ายเดียว เป็นหน้าที่องค์กรหรือเอชอาร์ต้องเป็นผู้นำกิจกรรม ทั้งที่จริงแล้ว พนักงานเองก็ต้องออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน จึงจะนำไปสู่องค์กรแห่งความสุขที่ยั่งยืน