เปิดโครงการเคาท์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จ.เชียงใหม่
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
สสส.–มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย จ.เชียงใหม่ เปิดโครงการ “เคาท์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่” แก้ปัญหาติดอันดับค่าฝุ่นสูงสุดในโลก สสส. นำร่องแก้ปัญหา 19 ตำบลใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ชู ต.จอมทอง ลดฝุ่น PM 2.5 ได้ผล “ใช้นวัตกรรมทะเบียนประวัติการใช้ที่ดิน” จัดการปัญหาบุกรุกป่า ลดปัญหาเผาป่าได้ผลดี
ที่โรงแรมฟูราม่า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย (Scenario Thailand Foundation) และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าวโครงการ “เคาท์ดาวน์ PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่” โดยเชิญตัวแทนภาคนโยบาย ภาคหน่วยงานราชการ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาค ประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคสื่อสารมวลชน แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน พร้อมจัดทำแผนการปฏิบัติงานลดฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่
โดยนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบในหลายด้าน ๆ จังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบูรณาการ ระหว่างภาคราชการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน อาทิ มหาวิทยาลัย สภาลมหายใจเชียงใหม่ และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ประกอบกับที่ผ่านมา ทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับนโยบายที่เข้มแข็ง เช่น การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ประสานข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ
การเข้มงวดตรวจจับรถควันดำ เร่งระบายการจราจรไม่ให้ติดขัด ทำความสะอาดพื้นผิวถนน การให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวัง ตรวจสอบคุณภาพอากาศแจ้งเตือน สร้างความตระหนักและปรับพฤติกรรมประชาชน เป็นต้น ซึ่งครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานของหลายฝ่าย รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูกาลต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย.ของทุกปี ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตมลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และทุกครั้งที่เกิดไฟป่า ค่าฝุ่น PM 2.5 จะทะยานสูงขึ้นถึง 925 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทางสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี ขึ้นอันดับ 1 คุณภาพอากาศแย่ที่สุด ในโลก จัดอันดับโดยเว็บไซต์ AirVisual ส่วนที่มาของฝุ่นควันเกิดจากการเผาในที่โล่ง การเผาป่า ฝุ่นในเมือง ฝุ่นจากนอกประเทศ ฯลฯ สถานการณ์ฝุ่นควันซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ี่คุณภาพอากาศเป็นพิษ ต่างได้รับผลกระทบทั้งในทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต
เพื่อให้มีการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเป็นระบบ การบูรณาการเชิงระบบของหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม การบริหารจัดการระบบงบประมาณเพื่อการมีอากาศสะอาด จึงจำเป็นต้องให้มีกฏหมายว่าด้วยการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กระทั่งเป็นที่มาของการที่ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการแก้ไข ปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน ไฟป่า เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนโดยตรง โดยได้สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหานี้หลายโครงการ เช่น ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการเสริมศักยภาพชุมชน และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชุมชนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่าอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 19 ตำบล ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการมากถึงร้อยละ 80
โดยเฉพาะพื้นที่บ้าน หัวเสือ ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทางเทศบาลตาบลบ้านหลวงได้ใช้นวัตกรรม “ทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินรายแปลง” สำรวจเขตที่ดินของชาวบ้านด้วยเทคโนโลยี GPS บอกพิกัดผ่านทางดาวเทียม 20,000 ไร่ รวมที่ดิน 6,000 แปลง เมื่อเกิดไฟป่าขึ้น ระบบจะชี้จุดเกิดความร้อน (Hotspot) ว่าเกิดในที่ดินแปลงใด ซึ่งไฟป่าส่วนใหญ่มักเกิดจากฝีมือคน การมีทะเบียนฯ ทำให้มีหลักฐานดำเนินคดีเอาผิดได้ ทำให้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา พบว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี กระทั่งไม่พบปัญหาบุกรุก พื้นที่ป่า และปัญหาไฟป่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า โครงการเคาท์ดาวน์ฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. มูลนิธิฯ และจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงวิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยระดมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสะท้อนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน พร้อมจัดทำเป็นแผนปฏิบัติแก้ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราค ม 2564
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ จ.เชียงใหม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้สำเร็จ และเป็นต้นแบบการทำงานให้กับพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานนี้ทุกฝ่ายต้องแบ่งปันข้อมูลกัน และเกิดกระบวนการเรียนรู้ความสำเร็จและความท้าทายจากการทำงานที่ผ่านมา