เปิดแอพฯ เช็กสุขภาพปรับกินดื่มเลี่ยงโรคเรื้อรัง
โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง6 กลุ่มโรค ที่ใครๆ ก็หนีและไม่อยากเป็น เพราะกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เมื่อเป็นแล้วก็มีแต่ทุกข์ทรมาน จากคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และค่าใช้จ่ายที่ตามมาจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้ทรมานเพียงลำพังแต่ทั้งครอบครัว ก็จะเกิดทุกข์ตามมาด้วย
ปัจจุบันประชากรร้อยละ 63 ในโลกนี้ ตายจากกลุ่มโรค NCDs ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เป็นประชากรในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ต้องเผชิญปัญหา อันหนักหน่วงนี้
เมื่อปี 2552 มีประชากรตายจากโรคกลุ่มนี้ถึง 3 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 73 ของการตายของประชากร
แม้สถานการณ์จะดูว่าหนักหนาสาหัส แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป เพราะโรคกลุ่มนี้สามารถป้องกันได้
สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกลุ่มโรค NCDs มี 4 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ 1. การดื่มสุรา 2. การสูบบุหรี่ 3. การขาดการออกกำลังกาย และ 4. การกินอาหารหวาน มัน เค็มจัด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ หากหลีกเลี่ยงการกินหวานมันเค็มก็จะลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคได้มากถึงร้อยละ 80
ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ พันธุกรรม หากพบว่าคนในครอบครัว มีโรคประจำตัวกลุ่มนี้ก็อาจส่งต่อมายังลูกหลานได้ แต่หากควบคุมปัจจัยเสี่ยง 4 อย่างแรกอย่างดี โอกาสเกิดก็อาจช้าลง หรือชะลอ การเกิดโรคออกไปได้
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาต่อม ไร้ท่อและเมตะบอลิสึม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงการเรียกกลุ่มโรคนี้ว่า NCDs เพราะเป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงเหมือนกันและบ่อยครั้ง หาก เกิดโรคใดโรคหนึ่งในกลุ่มนี้จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในกลุ่มเดียวกันตามมา เช่น เบาหวาน อาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ ไต เป็นต้น
แม้ว่าโรคกลุ่ม NCDs จะรักษาไม่หาย แต่ป้องกันได้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก เห็นความสำคัญและสื่อสารให้ประชาชนป้องกันโรค เพราะเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง และยามีราคาแพง ทำให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจำนวนมากในแต่ละปี
หากจะแยกปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคง่ายๆ คือ เกิดจากการตามใจปาก คือ ความเสี่ยงจากการกินอาหารหวานๆ มันๆ เค็มๆ ซึ่งรสชาติอาหารกลุ่มนี้จะถูกปากคนไทย อร่อยลิ้น แต่แฝงมาด้วยภัยเงียบ ยิ่งถ้าเราตามใจตัวเอง ด้วยการไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครียดบ่อยๆ ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดกลุ่มโรค NCDs แบบไม่รู้ตัว
การลดพฤติกรรมเสี่ยงแม้ว่าจะป้องกันได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้ แต่หากควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดความเครียด ไม่ดื่ม ไม่สูบ ก็จะช่วยให้แนวโน้มการเกิดโรคต่ำลง เช่น เริ่มเจ็บป่วยเมื่ออายุ 30 ปี หากดูแลตัวเองและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจจะเริ่มป่วยเมื่ออายุ 40 ปี หรือมากกว่านั้น ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา รวมทั้งมีสุขภาพที่ดียาวนานขึ้น
ที่สำคัญโรคในกลุ่ม NCDs จะไม่มีสัญญาณใดๆ เมื่อเริ่มมีสัญญาณหมายถึง เจ็บป่วยแล้ว ซึ่งหากผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองได้ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดการใช้ยาลงได้
การลดพฤติกรรมเสี่ยงจึงเป็นวัคซีนสำคัญที่จะป้องกันกลุ่มโรค NCDs ได้ นอกจากนี้ การหมั่นตรวจสอบตนเองก็เป็นตัวช่วยอีกอย่างที่จะทำให้รู้จักวางแผนการปรับพฤติกรรม ได้ด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงหันมารณรงค์ให้ประชาชนรู้จักการปรับพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคลง นอกจากการผลิตสื่อเพื่อกระตุ้นเตือนประชาชน ยังมีการสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนตรวจเช็กร่างกายแบบง่ายๆ ด้วย
แบบทดสอบ (Quiz) เพื่อหาความเสี่ยงด้วยตนเอง นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ แนะนำว่า การทำแบบทดสอบเพื่อวัดความเสี่ยงนั้นทำได้ปีละครั้ง หรือ 6 เดือนครั้ง สำหรับผู้ที่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงมาก
วิธีนี้จะช่วยให้ทราบว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดบ้าง ดังนั้น เมื่อทำแบบทดสอบแล้ว ต้องไม่อยู่เฉยๆ แต่ต้องลงมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารหวานมันเค็ม เพิ่มสุขภาพดีด้วยการออกกำลังกาย เป็นต้น หากทำได้ก็จะลดความเจ็บป่วยที่จะเกิดในอนาคตได้เช่นกัน
การตรวจหาความเสี่ยงด้วยตนเอง เบื้องต้น เพื่อช่วยให้ตนเองได้ทราบว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดบ้าง ลองเข้าไปทำง่ายๆ ที่ www.ncdsthailand.com ซึ่งได้นำองค์ความรู้มาย่อและแปลงเป็นแบบทดสอบ เพื่อให้ประชาชนหาความเสี่ยงการเกิดโรคได้ด้วยตนเอง
เมื่อวิเคราะห์เสร็จแล้ว ก็จะมีคำแนะนำไว้อย่างละเอียดว่าต้องปรับปรุงพฤติกรรมตัวเองอย่างไร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำได้ด้วยการเริ่มเปลี่ยนความคิด อย่าเอาแต่คิดว่ามันเป็นกรรมเก่า เพราะโรคพวกนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งสิ้น
สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ เปลี่ยนความคิดว่าไม่เห็นเป็นไร กินนิดๆ หน่อยๆ สูบนิดๆ หน่อยๆ ไม่เกิดโรคแน่ เพราะมันผิด
ต่อมาคือเปลี่ยนความเคยชิน จากเนื้อติดมัน ของทอด ของหวาน ขนมขบเคี้ยว ที่ล้วนกินแล้วอร่อย จากที่ไม่เคยลุกขึ้นออกกำลังกาย ไม่พักผ่อนโหมงานดึกๆ ดื่นๆ สังสรรค์บ่อยๆ จนลืมไปว่า ร่างกายของเรามีขีดจำกัดและต้องการเติมพลัง ซ่อมแซมระบบเหมือนกัน
การลดหวานมันเค็ม อาจไม่อร่อยมาก แต่ก็ทำให้น่ากินได้ แถมยังสร้างสุขภาพดีๆ ด้วยการออกกำลังกาย หลายอย่าง ก็ทำให้สนุกได้ และทำให้ร่างกายแข็งแรง แค่เปลี่ยนตัวเองจากความเคยชินเก่าๆ มาเป็นสร้างสุขภาพดีๆ จะทำให้สนุกกับชีวิตได้อีกนาน
หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร รายการ เรียลลิตี้เชิงสุขภาพ "เพราะรัก…จึงยอมเปลี่ยนแปลง" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS ทุกวันเสาร์ 18.00-18.50 น. และสารคดี "ชีวิต ลิขิตโรค" สารคดีรูปแบบใหม่ที่จะชวนคุณห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทุกวันเสาร์ 17.30-18.00 น.
เป็นหนึ่งในแนวคิดสร้างแรงบันดาลใจ ส่งต่อไปถึงทุกคนที่อยากมีสุขภาพดี ผ่านอาสาสมัครที่ลงมือเปลี่ยนตัวเองจริงๆ ด้วยความรักในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ไม่ว่า จะเป็นรักครอบครัว รักตัวเอง รักหน้าที่ การงาน รักผู้อื่น เลยอยากเปลี่ยนแปลง
แต่ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงพลังการเปลี่ยนแปลง แค่ทุกคนมีความรัก ก็จะเปลี่ยนเป็นพลัง ผลักดันให้ตัวเองมี สุขภาพดี ห่างไกลโรคได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด โดย เมธาวี มัชฌันติกะ