เปิดแผนยุทธศาสตร์แก้แรงงานนอกระบบ

เมื่อก้าวสู่การทำงาน สิ่งหนึ่งที่คนทำงานจะได้รับคือประกันสังคมซึ่งจะได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกได้ว่า “ตกค้าง” ไม่ได้รับสิทธิตามที่ควรจะได้ คนกลุ่มนั้นคือ “แรงงานนอกระบบ”

เปิดแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน แก้แรงงานนอกระบบให้เท่าเทียม

แรงงานนอกระบบคือผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก่อสร้างหรืองานรับจ้างต่าง ๆ ซึ่งหลายปีผ่านมามักได้ยินปัญหาที่เกิดกับแรงงานนอกระบบอย่างต่อเนื่อง เช่น ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่กำหนด ได้รับอันตรายจากความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่แรงงานนอกระบบมากขึ้น ด้วยการให้ขึ้นทะเบียนประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งขณะนี้มาตราดังกล่าวอยู่ระหว่างเสนอแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกา คาดมีผลใช้บังคับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยจะให้ความคุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย, กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต

ด้วยสิทธิประโยชน์ที่ได้ไม่เทียบเท่าแรงงานในระบบที่เข้ากองทุนประกันสังคม จึงทำให้เกิดข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เท่าเทียม แต่ด้วยช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง จึงทำให้กฎหมายยังคงค้างเติ่ง และไม่รู้ว่าจะทันบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมตามกำหนดหรือไม่

กระนั้นถือว่าเป็นการดีที่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงแรงงาน ได้ศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554 ขึ้น เป็นแผนการนำร่องระยะ 1 ปี เพื่อหาแนวทางในการคุ้มครอง ส่งเสริม และพัฒนาแรงงานนอกระบบ ซึ่งแผนฉบับนี้ทบทวนจากแผนยุทธศาสตร์ของ พ.ศ. 2550

มาถึงการยกร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ระยะ5ปี (พ.ศ.2555-2559) ที่ได้จัดประชุมเมื่อไม่นานผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้กับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (tdri) และกระทรวงแรงงาน

“ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัย ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เผยว่า ขณะนี้แรงงานนอกระบบของไทยมีประมาณ 25ล้านคน โดยแรงงานภาคเกษตรเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีจำนวนกว่า 15 ล้านคน

“แผนยุทธศาสตร์เกิดจากปัญหาที่เกิดกับแรงงานนอกระบบ เพราะพวกเขาไม่มีความมั่นคงในชีวิต รายได้ไม่แน่นอน ขาดหลักประกันในเรื่องรายได้ ขณะที่สวัสดิการมีน้อยมาก เมื่อชราภาพก็ไม่มีเงินบำนาญ ยิ่งหากขาดความช่วยเหลือจากลูกหลานก็ยิ่งลำบาก เพราะเงินจัดสรร 500บาทของรัฐบาลไม่พอค่าใช้จ่าย เราจึงหวังว่าเมื่อแผนยุทธศาสตร์ออกมาบังคับใช้ ปัญหาที่กล่าวมาจะหมดไป”

ทั้งนี้ หลักการคือต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะยกระดับความมั่นคงของรายได้อย่างไร เมื่อมีรายได้ที่มั่นคง ก็มาคิดว่าทำอย่างไรเพื่อให้มีเงินออม ซึ่งส่วนหนึ่งออมไว้เพื่อใช้จ่ายในปัจจุบันและอีกส่วนเพื่อใช้ยามชราภาพ และเมื่อมีรายได้ที่มั่นคง มีเงินออมแล้ว เชื่อได้ว่าคุณภาพชีวิตที่ดีจะตามมา

โดยการประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันกำหนดรายละเอียดทางยุทธศาสตร์ 4ด้าน คือ 1.ขยายขอบเขตการคุ้มครองและหลักประกันแรงงานนอกระบบสนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลด้านสุขภาวะ และพัฒนากฎหมายคุ้มครองกลุ่มแรงงาน สอดคล้องกับหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ilo)

2.เสริมสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาสมรรถนะคนทำงาน เพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงาน โดยต้องจัดระบบมาตรฐานฝีมือให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงโดยภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มสมรรถนะของคนทำงาน

3.ขยายโอกาสการมีงานทำ สร้างการเข้าถึงการให้บริการแนะแนวอาชีพในสื่อทุกรูปแบบ และให้มีแหล่งจ้างงานทุกพื้นที่โดยให้มีงานทำที่ยั่งยืน และ 4.เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ เริ่มด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

“เราให้ความสำคัญกับการมีองค์กรถาวรเข้ามาดูแล มิฉะนั้นถ้าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จะมีรอยต่อ ขาดองค์กรเข้ามาติดตาม แผนงานก็จะไม่ต่อเนื่องต้องเริ่มกันใหม่ทุกครั้ง”

นี่เป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่รัฐบาลผลัดใหม่ต้องให้ความสนใจ ทั้งการสานต่อให้สามารถบังคับใช้ได้ตามกำหนด และขยายสิทธิเพิ่มให้เทียบเท่าแรงงานในระบบ

เพราะทุกคนมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงาน และเมื่อพ้นสภาพการทำงาน ซึ่งเป็นข้อบัญญัติตามมาตรา 40ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ  

Shares:
QR Code :
QR Code