เปิดเวที ฟังเสียงประชาชน สร้างเขื่อนปากชม
ส่วนใหญ่ร่วมค้าน หวั่นกระทบระบบนิเวศ
เปิดเวทีประชาคม รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน กรณีสร้างเขื่อนพลังน้ำปากชมเมืองเลย มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท เจอภาคประชาชนร่วมต้าน หวั่นเกิดปัญหาผลกระทบ ยกกรณี 3 เขื่อนในจีนเป็นโมเดล ที่สะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา
วันที่ 10 พ.ย. ที่ศาลาประชาคมอำเภอปากชม จ.เลย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาคุณค่าการพัฒนา และผลกระทบในลุ่มน้ำโขง คณะกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.อีสาน) ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุดรธานี นำโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายสุรจิต ชิรเวทย์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีเขื่อนพลังน้ำปากชม อ.ปากชม จ.เลย ที่รัฐบาลไทย และ สปป.ลาวได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาด 1,079 เมกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุน 69,641 ล้านบาท
มีผู้ร่วมอภิปรายบนเวที ประกอบด้วย นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม นายธงชัย ลืออดุลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ รองอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีประชาชน ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อ.ปากชม อ.เชียงคาน จ.เลย และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ รองอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในฐานะตัวแทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ กล่าวว่า ขั้นตอนในขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเท่านั้น ยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ
ด้าน นายธงชัย ลืออดุลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า การริเริ่มโครงการเขื่อนผามองในขณะนี้ ยังไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิชุมชนไว้ แต่ปัจจุบันการดำเนินโครงการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด
ส่วน นายพิทักษ์ชัย สิงห์บุญ ตัวแทนกลุ่มไทเชียงคานฮักเมือง กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่าระดับน้ำจากนี้ไปจะสูงกว่าภาวะน้ำท่วมปกติ 2 เมตร ประเด็นนี้ คือ ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
น.ส.พรพิมล จันทร์หอม ตัวแทนกลุ่มรักษ์ปากชม จากหมู่บ้านคกเว้า กล่าวว่า แม่น้ำโขงคือชีวิต เพราะเป็นแหล่งอาหาร และเศรษฐกิจ หากสร้างเขื่อนสิ่งเหล่านี้จะหายไป ปัจจุบันที่น้ำขึ้นลงไม่ปกติจากมาจากเขื่อนจีน ส่วนที่ระบุว่าจะสร้างผนังกั้นน้ำนั้นคงไม่ได้ผล
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงขึ้น-ลงผิด ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีน 3 เขื่อน ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลง เกิดน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย เพราะแม่น้ำสาขาถูกดันเอ่อล้นขึ้น เพราะเขื่อนจีนปล่อยน้ำขณะที่แหล่งอาหารลดลง ดังนั้น เขื่อนจึงไม่สามารถแก้ปัญหาแล้ง หรือแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
และ นายสนั่น ชูสกุล ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำป่าทามมูน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เขื่อนปากชมเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการโขง ชี มูล เพื่อสูบน้ำไปเติมเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำสายสำคัญในภาคอีสานเหนือ จากกรณีเขื่อนปากมูล หรือเขื่อนราษีไศล พบว่า ประชาชนถูกหลอกลวงมาโดยตลอด เพราะผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย
นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า ภาครัฐต้องตัดแนวคิดที่ว่าพลังน้ำเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อยากให้รัฐบาลยุติโครงการไปเลยไม่ต้องมาทำการศึกษาอีก
ด้าน นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.และคณะอนุกรรมาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนของจีน ซึ่งส่งผลกระทบให้คนท้ายน้ำอยู่แล้ว เช่น ที่เชียงของ จ.เชียงราย น้ำขึ้นลงไม่ปกติ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update : 11-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน