เปิดเวทีสร้าง “เครือข่ายผู้บริหารนักสร้างนวัตกรรม”
เปิดเวทีสร้าง “เครือข่ายผู้บริหารนักสร้างนวัตกรรม” ยก 2 กรณีศึกษา ‘แก้ปัญหาอ่านออกเขียนได้’ ด้วย ‘นวัตกรรมมัลติพอยท์’ และ ‘นวัตกรรมเปลี่ยนครูให้เป็นโค้ช’ ดึง “ชุมชนร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้”
จากวง “ปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อคนทั้งมวล” ซึ่งนำกรณีศึกษาด้านการศึกษาที่ดีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นเวลาติดต่อกัน 1 ปีมาแล้วนั้น มีคำถามชวนคิดจาก “เพื่อนปฏิรูป” ทิ้งท้ายว่า แล้วสุดท้าย “ไอเดีย” ดีๆ เหล่านั้นจะนำสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ?
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงระดมความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาเพื่อกลั่นกรองความคิด จนเป็นที่มาของ “เวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้” ซึ่งมีโจทย์สำคัญ คือ การเฟ้นหา “ผู้บริหารนักสร้างนวัตกรรม” ที่มีใจมุ่งมั่นและพร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้วงการศึกษาไทยซึ่งจะเป็นเครือข่าย“ผู้ปฏิบัติ” นำไอเดียจากกรณีศึกษาไปปรับใช้
โดยเน้นการค้นหารูปแบบนวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษาแนวใหม่ที่ไม่ติดกรอบ และสอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียนและชุมชน (school autonomy) ซึ่งจะยังผลให้โรงเรียนแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน (accountability) ในการช่วยเหลือเด็กทุกคนให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและอย่างมีคุณภาพ
สำหรับเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ “ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมนักอ่าน” จะใช้ประเด็นปัญหา “การอ่านออกเขียนได้” เป็นประเด็นขับเคลื่อน โดยเวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำนั้น จะจัดขึ้นสม่ำเสมอทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมี ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา และที่ขาดไม่ได้คือ
ผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ที่จะได้รับเชิญสลับสับเปลี่ยนกันไปตามเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการนำวิธีการบริหารจัดการศึกษาเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพบริบทของชุมชนท้องถิ่นตนเอง โดยให้เกิดเครือข่ายผู้บริหารสถานศึกษาที่มีการดำเนินงานมุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยกว่า 300 ทั่วประเทศ
สมพงษ์ แสนสำโรง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห่วงหลวง เริ่มอาชีพครูครั้งแรกที่อ.อมก๋อย เมื่อครั้งได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ แทนที่จะขอย้ายลงพื้นราบ แต่กลับขอย้ายขึ้นดอย ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง และอาจจะมากกว่าหลายเท่าตัวเมื่อฤดูฝนมาเยือน
“ฝนแรกที่ผมมาเป็นผอ.ก็เริ่มช่วยให้เด็กกินอิ่มนอนหลับก่อน” ผอ.สมพงษ์ กล่าว และย้อนเล่าให้ฟังว่าครั้งแรกที่มาถึงโรงเรียนบ้านห่างหลวงนั้น ไร้สีสัน มีเพียงอาคารเดียว ครู 3 คนและนักเรียนกะเหรี่ยงจำนวน 100ต้นๆ ปัจจุบันพัฒนาจนมีเด็กเรียนเพิ่มขึ้นรวม 140 คน และครู 13 คนในเวลา 2 ปี
“ฝนที่ 2 เมื่อเด็กและชุมชนอิ่มท้องแล้ว ผมจึงพาครูปรับเปลี่ยนเรื่องหลังสูตรการเรียนรู้ ซึ่งมีปัญหาการอ่านออกเขียนได้เป็นธงสำคัญ” ผอ.สมพงษ์เล่าต่อ และว่าตนโชคดีได้เพื่อนคู่คิดอย่าง ปาริชาติ เภสัชชา อดีตศึกษานิเทศน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 5 ด้วยการนำ “นวัตกรรมมัลติพอยท์” ที่สามารถบูรณาการการเรียนการสอน 3 วิชาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษากะเหรี่ยงไว้ด้วยกัน
โน้ตบุ๊คเพียงตัวเดียวจึงสามารถสร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ขณะเดียวกันครูและนักเรียนก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ไปพร้อมกับการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับชุมชน
สอดคล้องกับ วงค์เดือน จันทา ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สรุปถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กนักเรียนว่า 1)เด็กสนุกกับการเรียน ร่าเริงและตั้งใจมากขึ้น 2)ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาวัดจากข้อสอบกลางภาคและปลายภาคดีขึ้น โดยคะแนนเฉลี่ยของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรวมทุกกลุ่มสาระของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จาก 27.20 ในปี 2553 เป็น 34.16 ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีแรกที่นำนวัตกรรมมัลติพอยท์มาใช้ 3)นักเรียนได้รับรางวัลการอ่านออกเขียนได้ยอดเยี่ยมจากเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต5 และ 4)จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก 100 ต้นๆ เป็น 140 คน และมีนักเรียนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาเรียนร่วมด้วยประมาณ 20 คน
“เด็กบอกว่าอยากเรียนแบบมัลติพอยท์ทุกวิชา เพราะรู้สึกสนุก จากแต่ก่อน คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เด็กมุงกัน 4-5 คน แต่ตอนนี้โน้ตบุ๊คตัวเดียวเล่นได้ 40 คนพร้อมกัน โดยจะเริ่มจากการสอนภาษาไทยให้เขาคุ้นชินกับชื่อตัวเอง สะกดคำผ่านโปรแกรมการฝึก ให้ฝึกอ่านออกเสียงศัพท์ ก่อนจะให้เรียนควบคู่ทั้ง 3 ภาษา ด้วยปลายนิ้วสัมผัสผ่านการคลิกเมาท์” ครูวงค์เดือน เล่า
และเพื่อยกระดับการศึกษาที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหาเด็กตกหล่นตาม “หย่อมบ้าน” จึงเป็นที่มาของแนวคิดการบริหารจัดการศึกษาร่วมกันระหว่าง โรงเรียนบ้านห่างหลวง และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กระทรวงศึกษาธิการ ผ่าน “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา(ศศช.)” ซึ่งมีอยู่ 7 ศูนย์กระจายตัวรอบโรงเรียนบ้านห่างหลวง ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษาแนวใหม่ที่ไม่ติดกรอบ และสอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียนและชุมชน (school autonomy) ซึ่งก็คือ “ผู้รับบริการ” โดยตรง ยังผลให้โรงเรียนแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน (accountability) ในการค้นหาวิถีการในการช่วยเหลือเด็กตกหล่นในทุกหย่อมบ้าน
“ที่นี่ผมยึดหลักการบริหารที่เอา ‘ชุมชน’ เป็นฐาน เรียกว่า หลักการบริหารแบบ ‘ผมคิดน้องทำ น้องคิดผมทำ เราช่วยกันทำ’ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากบุคคลากรภายในองค์กรที่พร้อมดำเนินการร่วมกัน โดยการมีส่วนร่วมจะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
“สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ อาชีพครู มีเด็กที่ไหนผมอยู่ได้ที่นั่น แต่ถ้าผมทำคนเดียวคงไม่ได้ ผมขายความคิด และพาน้องผมทำ ผมต้องยอมรับว่า ผมได้ทีมดี ต้องขอบคุณน้องๆ ครูทั้ง 13 คนและชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาที่ห่างหลวงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสให้ดีขึ้น” ผอ.สมพงษ์ กล่าวขอบคุณเพื่อนครูรุ่นใหม่ทิ้งท้าย
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)