เปิดเวทีสมัชชาผู้ใช้แรงงานรับวันแรงงานแห่งชาติ
เน้นนำเสนอความต้องการการคุ้มครองและขยายหลักประกันทางสังคม
แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบและแผนงานสุขภาวะในองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับคณะกรรมการสมาฉันท์แรงงานไทย, มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, มูลนิธิเพื่อหญิง, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และศูนย์ยุทธศาสตร์วิชาการแรงงานนอดกระบบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 ภาคีหุ้นส่วน จัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอความต้องการของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ในเรื่องนโยบายการคุ้มครองและการขยายหลักประกันทางสังคมของภาครัฐต่อแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ผ่านกลไกของสำนักงานประกันสังคม ที่มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบาย
30 เมษายน 2551 วันสุดท้ายของเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปี นัดรวมระดมพลังใน “เวทีสมัชชาผู้ใช้แรงงาน” เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบเปิดประเด็นเร่งด่วน เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการ ต่อสังคม นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายประสานหาแรงทางการแก้ไขปัญหา และประเมินสถานการณ์ร่วมกัน การเปิดเวทีครั้งนี้คาดหวังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคมอย่างมีส่วนร่วม และขยายสิทธิประโยชน์การคุ้มครองไปยังกลุ่มอาชีพที่เป็นเศรษฐกิจภาคนอกระบบและเป็นแหล่งกำเนิดของ “แรงงานนอกระบบ” ที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
ข้อมูลในปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นถึงกว่าเก้าล้านคน จากการขยายความคุ้มครองไปยังนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป แนวโน้มในอนาคตจะขยายความคุ้มครองยังกลุ่มอาชีพอื่นๆ ทำให้มีผู้ประกันตนมากขึ้น เงินกองทุนประกันสังคมมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงสี่แสนล้านบาท แต่การบริหารของสำนักงานประกันสังคมยังไม่พัฒนาเพื่อรองรับการเติบโต และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน
รักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิต ผู้อำนวยการโครงการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประกันสังคม หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในเวที สมัชชาผู้ใช้แรงงาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จากสภาพของโลกสมัยใหม่ที่พยายามลดต้นทุน จึงเกิดสัญญาจ้างแบบเหมาค้าแรงในการทำงาน แรงงานจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเกิดความเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ที่ต้องการขยายโอกาสการคุ้มครองสิทธิ ให้มีกองทุนประกันสังคมเหมือนในระบบ ผลักดันพรบ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เสนอต่อรัฐบาลในยุคก่อน ความคืบหน้ายังไม่มีการสานต่อในทางปฏิบัติเพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง จึงมีการเสนอทางออกที่ได้เร็วและทันเวลา คือการแก้ไข พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 ที่ยอมรับสิทธิประโยชน์ โดยความสมัครใจเป็นผู้ประกันตนในกลุ่มอาชีพต่างๆ สามารถสมัครประกันสังคมได้”
ในมิติของตัวแทนแรงงานนอกระบบ สุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ เสนอความความต้องการและความคิดเห็นในประเด็นการขยายการประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบว่า “แม้ว่ารัฐบาลจะขยายโอกาสให้กับแรงงานนอกระบบ ที่มุ่งเน้นเฉพาะคนขับแท็กซี่ ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของแรงงานนอกระบบทั้งหมดและยังมีความแตกต่างในเรื่องรายได้ ในข้อเท็จจริง คนขับที่มีรถเป็นของตนเองมีความสามารถส่งเงินประกันสังคมได้ แต่ในส่วนของคนขับที่เช่าขับ หรือเช่าซื้อเกิดปัญหาเดียวกันคือรายได้ไม่พอกับการส่งเงินประกันสังคม และยังมีกลุ่มผู้ไม่รู้เรื่องการประกันสังคม ไม่มีข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้ประกันตนอย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้ การใช้กลุ่มคนขับรถแท็กซี่เป็นกลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเดียวและส่วนใหญ่อยู่ในเมือง รัฐควรมองเห็นความสำคัญของการขยายโอกาสการประกันสังคมยังกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน และกลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำระบบพันธสัญญา ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ ซึ่งได้เรียนรู้เรื่องประกันสังคม เรียกร้องและเสนอความต้องการยาวนาน และความคืบหน้ายังลอยอยู่กลางอากาศ เพราะรัฐบาลยังอยู่ในช่วงไม่แน่นอน สิ่งที่จะช่วยผลักดันให้เร็ว คือการแก้ไขมาตรา 40 ที่สอดคล้อง เหมาะสมกับความต้องการของผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นผู้ประกันตน โดยให้พิจารณาถึงการขยายสิทธิที่ครอบคลุม การทดแทนรายได้จากการเจ็บป่วย, ทุกพลภาพ, ชราภาพและชีวิต”
ตัวอย่างจาก 2 ความคิดเห็นจากตัวแทนหน่วยงานประกันสังคมและผู้ใช้แรงงาน คงไม่พอสำหรับการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ยังจำเป็นที่จะจ้องการรับฟังและศึกษาข้อมูลที่สำคัญอีกหลายส่วน ซึ่งเวทีสมัชชาผู้ใช้แรงงาน ที่เปิดเป็นเวทีสาธารณะในรอบปี เป็นอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่สำคัญ ที่รอผู้สนใจ และทุกท่านผู้อยู่ในวัยแรงงานร่วมกันรับรู้และเปลี่ยนข่าวสาร ประสบการณ์ และระดมพลังความคิด ร่วมกับผู้ใช้แรงงานภาคบริการ (กลุ่มหาบเร่แผงลอย, กลุ่มแรงงานคุ้ยขยะและซาเล้ง, มอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่) เกษตรกรในระบบพันธสัญญา และนักวิชาการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน สื่อมวลชน รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบประกันสังคมที่มีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและคุ้มครองโรคที่เกิดจากการทำงานด้วย ในวันที่ 30 เมษายน 2551 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 18.00 น. ณ ห้องประชุมสโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update:30-07-51