เปิดเทอมของ “ยานรก” เหยื่อโอชะ “เยาวชน” ยังกลุ่มใหญ่


เปิดเทอมแล้ว ระยะนี้นอกจากความคึกคักในแวดวงการศึกษา สถานศึกษา นักเรียน-นักศึกษาแล้ว กับมุมของ “ปัญหา” ในช่วง “เปิดเทอม” ก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องเงิน-เรื่องหนี้สิน ของคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอันเนื่องจากการส่งเสียบุตรหลานให้ได้เรียน-ให้ได้มีอุปกรณ์การเรียน หรือปัญหาเรื่องรถติด ซึ่งยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนปัญหาเรื่องรถติดก็ยิ่งหนัก และเมื่อเปิดเทอมก็ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม


“ปัญหายาเสพติด” ในกลุ่ม “เยาวชน” อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมไทยยุคนี้ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ในปี 2553 แม้สถานะของผู้ที่รับการบำบัดรักษาอาการติดยาเสพติดในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาจะคิดเป็นร้อยละ 10.31 ซึ่งอาจจะดูเป็นตัวเลขไม่สูง แต่เอาเข้าจริงแล้วเมื่อโฟกัสที่ช่วงวัย-ช่วงอายุ กลุ่ม “เยาวชน” อายุระหว่าง 8-24 ปี เป็น กลุ่มที่เข้ารับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติด “มากที่สุด” คือ 41,96 0คน หรือคิดเป็นร้อยละ 36.78


เยาวชนที่ไม่เข้ารับการบำบัด ไม่รู้อีกเท่าไหร่??นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานการณ์ด้านยาเสพติดในปี 2553 สถานการณ์ การแพร่ระบาดของยาเสพติดในโรงเรียน-สถานศึกษาผลการสำรวจได้ข้อมูลจากประชาชนว่า การแพร่ระบาดร้อยละ 19.2 ในปี 2552 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 51.3 ในปี 2553 และในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปัญหายาเสพติดในสถานศึกษามาก


ข้อมูลเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาที่น่าเป็นห่วง!!และสำหรับเยาวชนเอง ก็ให้ข้อมูล และยอมรับถึงข้อมูลเหล่านี้ อย่างนักศึกษาชายมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง บอกกับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า “มีเพื่อนๆ ที่ติดยาเสพติดหลายประเภท มีทั้งบุหรี่ เหล้า กัญชา ยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ สี่คูณร้อย เห็นเพื่อนๆ เสพกัน ก็มักจะเสพกันที่หอพักเกือบทุกวัน”


นักศึกษาชายรายนี้ยังบอกอีกว่าได้รู้ได้เห็นเรื่องการเสพยาเสพติดจนแทบเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เห็นเป็นประจำ เพื่อนบางคนแม้กระทั่งช่วงสอบก็ยังเสพกันอยู่ “เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วไง มันไม่มีวันหมดหรอก โลกแตกโน่นแหละ แต่ทุกคนก็รู้นะว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ” นักศึกษารายนี้บอก ด้านนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ก็บอกกับ “สกู๊ปหน้า 1เดลินิวส์” ว่า “มีเพื่อนเสพยาไอซ์ ก็เคยลองเสพกับเพื่อน เสพแล้วก็รู้สึกมึนๆ แต่ก็แค่ครั้งเดียวที่ลอง แล้วก็ไม่คิดจะลองอีกเลย เพราะมันทรมานมาก นอนไม่หลับไป 3 วัน” อย่างไรก็ตาม นักศึกษาหญิงรายนี้ยังเคยลองอย่างอื่นอีก


“เคยลองสูบบารากุ ยาสูบที่วัยรุ่นก็นิยม โดยเฉพาะพวกไฮโซ ลองครั้งแรกตอนไปร้านเหล้ากับเพื่อน ครั้งที่สองตอนไปงานฉลองวันเกิดเพื่อน อันนี้ก็หาเสพง่าย มีตามร้านเหล้าใหญ่ๆ”


นอกจากตามร้านเหล้าที่มีอยู่ทั่วไป แม้แต่ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ๆ สถานศึกษา นอกจากการไปหลบๆ ซ่อนๆ เสพตามแหล่งต่างๆ เยาวชนวัยเรียนจำนวนหนึ่งบอกว่า “ตามหอพักมักเป็นแหล่งเสพยาเสพติด” เพราะปลอดคนภายนอก โดยส่วนใหญ่จะเป็นหอพักนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าหอพักที่เป็นของมหาวิทยาลัย


“เป็นเรื่องยากที่จะห้ามนักศึกษาในสมัยนี้ เพราะมักจะถือว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และอีกอย่างบางครั้งก็สอดส่องได้ไม่ทั่วถึง อย่างตามหอพักเราก็ไม่สามารถไปตามดูเด็กได้ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่ตัวนักศึกษาเองที่จะต้องมีจิตสำนึกที่ดี ไม่ยุ่งกับยาเสพติด และเจ้าของหอพักก็ต้องมีจิตสำนึกที่จะช่วยป้องกันปัญหานี้ด้วย” อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งระบุ ซึ่งก็สะท้อนอะไรๆ ได้อีกด้าน-อีกระดับ


อย่างไรก็ตาม กับเยาวชนวัยเรียนที่เข้าไปอยู่ในวังวนยาเสพติด แล้วอาจจะคิดว่าตนเองโตแล้ว คิดว่าทำอย่างนี้แล้วจึง คิดว่าแน่ คิดว่าเพื่อนๆ จะซูฮก ก็ลองฟังเสียงเยาวชนวัยเรียนวัยเดียวกัน โดยนักศึกษาหญิงรายหนึ่งบอกผ่าน “สกู๊ปหน้า 1เดลินิวส์” ว่า “ถึงจะเป็นเพื่อน แต่ถ้าไปยุ่งกับยาเสพติด ก็ไม่ชอบที่จะคบเป็นเพื่อนด้วยต่อไป คิดว่าพวกนี้เป็นพวกมีปัญหา เป็นคนไม่ค่อยมีความคิด หนีปัญหา ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถหาความสุขจากตัวเองได้ เลยต้องพึ่งยาเสพติด” ขณะที่นักศึกษาหญิงอีกรายก็บอกว่า…”คนที่ติดยาเสพติด ถ้าจะมาเป็นคนที่รัก หรือคนที่เราสนิทมากๆ เราก็ไม่อยากแน่ๆ ไม่อยากให้มายุ่งเกี่ยวเลย เพราะพวกนี้มักจะขาดการควบคุมตัวเอง อีกหน่อยถ้าอยากยามากๆ พอเงินหมด ก็ต้องหาวิธีเอาเงินมาให้ได้ทุกทาง ก็จะอันตรายกับเราแน่ๆ อย่างนี้คงไม่อยากสนิทด้วยแน่”


ทั้งนี้ สรุปก็คือ “เยาวชนเสพยาเสพติด” จริงๆ แล้วก็คือ “เหยื่ออันโอชะของขบวนการค้ายาเสพติด” มิใช่ฮีโร่ แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตด้านใดดีขึ้นแม้แต่น้อยนิด มีแต่จะดิ่งลงนรก มีแต่จะเพิ่ม-จะสร้างปัญหา


“เปิดเทอม” ก็เหมือน “เปิดตลาดยาเสพติด” ด้วยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ก็จะต้องเข้มงวดกวดขันจริงจังและคงจะมี ‘เยาวชนเสียอนาคต” อีกไม่น้อย!!


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code