เปิดสายด่วนอัยการคุ้มครองสิทธิ ช่วยคนเครียดจากพิษโควิด-19

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์


เปิดสายด่วนอัยการคุ้มครองสิทธิ ช่วยคนเครียดจากพิษโควิด-19 thaihealth


เเฟ้มภาพ


รองโฆษก อสส. เผย เปิดสายด่วนอัยการคุ้มครองสิทธิ ช่วยคนเครียดจากพิษโควิด-19 มีปัญหาหนี้สิน หาเงินไม่ได้ อยากคิดสั้น เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำว่าจะแก้ไขปัญหา หรือปรึกษาใครได้อีก ที่เบอร์โทร. 1157


เมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ ผอ.สำนักงานกิจการในพระดำริฯ กล่าวว่า แม้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง แต่ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์น่าสลดใจที่ในรอบเดือนที่ล็อกดาวน์ มีข่าวประชาชนฆ่าตัวตายหลายข่าว เช่น กรณีข่าวคนขับแท็กซี่แต่ไม่มีผู้โดยสาร ขาดรายได้ ประกอบกับไฟแนนซ์มาทวงค่ารถขาดส่งเพียงสองงวด ถามว่าการขาดส่งค่ารถแค่สองงวดทำให้คนถึงกับต้องคิดสั้น ฆ่าตัวตาย และข่าวสาวลูกสองไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก เครียดหนักผูกคอดับ และข่าวพ่อกระโดดน้ำตายแล้วลูกสาวกระโดดน้ำตาม


รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อคนมีปัญหาต้องคิดหาทางแก้ปัญหา อย่าคิดสั้น ถ้าแก้ไม่ได้ควรขอคำปรึกษาหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมให้คำแนะนำ สายด่วนอัยการคุ้มครองสิทธิ พม. กรมสุขภาพจิต กรมสวัสดิการสังคม แม้หน่วยงานเอกชนก็มีหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้ได้ การฆ่าตัวตายอาจเป็นการทิ้งความทุกข์และปัญหาไว้ให้คนอยู่ข้างหลัง ประเทศไทยพัฒนามาถึงวันนี้ เวลาเราจนขัดสน ตกงาน วันนี้ยังมีสายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คอยให้ความช่วยเหลือ ปัญหาทุกอย่างแก้ได้ไม่ถึงต้องคิดสั้น ปัญหาโควิดทำให้คนที่ไม่ป่วยไม่ติดเชื้อ แต่ถึงต้องคิดฆ่าตัวตายเชียวหรือ ตนเห็นว่าทุกปัญหามีทางออก


นายโกศลวัฒน์   กล่าวต่อว่า สภาพปัญหาที่พบ คือ ยังมีคนที่ขาดทักษะในการแก้ปัญหา คิดว่าชีวิตพบทางตันจนคิดสั้น โดยสภาพสังคมของความเป็นจริงวันนี้ หากมีทักษะเบื้องต้นก็สามารถสอบถามข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้เคียงหรือกดโทรศัพท์ หรือใช้สื่อตามโซเชียลต่างๆ จะบอกได้ว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วหนทางแก้ปัญหามีวิธีการอย่างไร ไปพบใคร ต้องเตรียมการอย่างไร แก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และคนอยู่รอบตัว หรือเพื่อนบ้าน ก็ควรคอยช่วยกันสอดส่องดูแลคนกลุ่มนี้ที่ยังขาดข้อมูลของความช่วยเหลือที่ภาครัฐและภาคเอกชนมีให้แก่คนทุกข์ยาก คนตกงาน คนไม่มีจะกิน ซึ่งนั่งเก็บความทุกข์ไว้จนไม่รู้จะไปถามใคร ไม่มีใครเป็นที่พึ่ง


"จากปัญหาดังกล่าวจึงอยากให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อนบ้านของเรา คนที่อยู่ใกล้เคียงรอบตัวเรา หากพบว่าเขามีอาการซึมเศร้า ช่วยกันแนะนำเพื่อหาทางออกที่ถูกต้อง ในสภาวการณ์เช่นนี้ หน่วยงานทุกหน่วยงานลงมาช่วยกันดูแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ จะช่วยสามารถแก้ความทุกข์ แก้ปัญหาชีวิต โปรดอย่าคิดผิดคิดสั้น หลายคนเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ชาวโซเชียลก็นำไปโพสต์ไปส่งต่อ ก็จะพบคนดีมีน้ำใจมีผู้ใจบุญร่วมกันบริจาคมากมาย บางรายได้รับความช่วยเหลือหลายล้านบาท สังคมไทยไม่แล้งน้ำใจแน่นอน" รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว


นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า อัยการทราบว่ายังมีประชาชนที่ขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง ยามทุกข์ไม่รู้จะไปร้องกับใคร ร้องที่ไหน ร้องอย่างไร เขียนคำร้องก็เขียนไม่ถูก อัยการจึงยินดีให้ความช่วยเหลือ และเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่ประชาชนทุกข์ยากกันอยู่ หนทางแก้ไข ขอย้ำควรไปพบส่วนราชการที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น พม. หรือ กรมสุขภาพจิต หรือหน่วยงานประนอมหนี้ตามกฎหมาย การคุยผ่อนชำระการเจรจาต่อรองผ่อนผันยืดเวลาชำระหนี่ลดต้นลดดอก หรือการตกงานก็ปรึกษาเรียกค่าชดเชยเงินทดแทนต่างๆ การขอเงินกู้ การรักษาพยาบาล เป็นต้น


รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวด้วยว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีสำนักงานคุ้มครองสิทธิทั่วประเทศจะมีอัยการได้อบรมทักษะและแหล่งข้อมูลเชื่อมโยงให้นิติกรคอยรับโทรศัพท์รับฟังปัญหาผ่าทางตัน เพื่อให้อัยการ สคช.วางแผน จัดทางเลือกเพื่อทางรอดไว้ให้ว่าควรไปกรมสวัสดิการสังคม หรือไปพบใครอย่างไรเมื่อใด เพื่อคลี่คลายความช่วยเหลือระยะสั้นระยะยาว โดยประชาชนโทรมาที่เบอร์โทร. 1157 สายด่วนอัยการคุ้มครองสิทธิ


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ