เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงาน ไทย-เมียนมา

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงาน ไทย-เมียนมา thaihealth


พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายเต็งส่วย (H.E.U Thein Swe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนอง เพื่อเป็นศูนย์ฯ รับแรงงานเมียนมา เข้าทำงานในภาคประมงทะเลเป็นการเฉพาะ โดยมีนายสุเทพ วงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ


สำหรับการเปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนอง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทะเล ทั้งเรื่องของความต้องการแรงงาน และการคุ้มครองแรงงาน โดยมีแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระบบ MOU ทั้งนี้ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนองแห่งนี้จะเป็นศูนย์ฯ รับแรงงานเมียนมา เข้าทำงานในภาคประมงทะเล เป็นการเฉพาะ สอดรับกับการหารือร่วมกันของไทย- เมียนมา


ซึ่งจะส่งแรงงานเข้าทำงานทางเกาะสอง ของเมียนมา อันจะเป็นประโยชน์ ในการลดขั้นตอน เกิดประสิทธิภาพของการจัดส่ง และรับแรงงาน ความสะดวกในการติดต่อสื่อสารของนายจ้าง ผู้ประกอบการ กับแรงงาน ในขั้นตอนต่างๆ เป็นศูนย์ที่รองรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยตามระบบ MOU โดยเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่แรงงานต่างด้าว เช่น การทำงาน กฎหมายต่าง ๆ การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เป็นต้น ตรวจสอบและคัดกรองแรงงานต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตรงตามสัญญาจ้าง และมีความพร้อมที่จะทำงานก่อนอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมทั้งประสานงานให้ความช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง ตั้งอยู่เลขที่ 89/227 หมู่ 1 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สามารถรองรับการให้บริการแรงงานต่างด้าวในการอบรม และออกใบอนุญาตทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-WORKPERMIT) ประมาณ 1,200 คนต่อวัน บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ อยู่ใกล้ท่าเทียบเรือที่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาใช้ในการเดินทางระหว่างจังหวัดเกาะสอง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และจังหวัดระนอง ประเทศไทย ประมาณ 1.5 กิโลเมตร


ซึ่งระบบการทำงานของศูนย์แรกรับฯ นี้ จะเป็นรูปแบบของ ONE STOP SERVICE คือ แรงงานเดินทางเข้ามาจะได้รับ 1) การตรวจลงตรา Visa 2) ลงทะเบียนประวัติแรงงาน 3) เข้ารับการอบรมตามแนวทางการทำงานในภาคประมงทะเล สิทธิสวัสดิการ และ 4)ได้รับการอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำให้มีความพร้อมที่จะไปขอรับใบอนุญาตทำงานในภาคประมงทะเล (Sea Book) จากกรมประมง


นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยในเรื่องของการติดตามนัดหมาย การยืนยันจำนวนแรงงาน เที่ยวเรือในแต่ละวัน เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่มีแรงงานตกค้าง นายจ้างสามารถมารับแรงงานได้ตรงตามเวลานัดหมาย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ