เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน รับมือ PM2.5
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์
แฟ้มภาพ
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เริ่มพบในหลายพื้นที่ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาสุขภาพของประชาชน จึงได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินขึ้น พร้อมแนะกลุ่มเสี่ยงควรเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เนื่องจากข้อมูลเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพพบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากฝุ่น PM2.5 สูงสุดในช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค.ของทุกปี พื้นที่ที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และรายงานการติดตามสถานการณ์ประจำวันที่ 13 ม.ค.65 พบว่า ผลการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ภาพรวมประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ (ค่ามาตรฐาน คือ ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ยกเว้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดตาก ที่มีแนวโน้มพบค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน
สาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาไหม้ท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ การเผาขยะ เผาหญ้า กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ฝุ่น PM2.5 ยังสามารถรวมตัวกับสารมลพิษอื่นๆ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนักได้ ด้วยขนาดที่เล็กมากจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกไปยังหลอดลมจนถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จึงขอเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและงดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงฯ จะบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนภายใต้ 3 มาตรการในการรับมือ PM2.5 ประกอบด้วย 1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 2.การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด และ 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดและป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคจาก PM2.5 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโอกาสในการรับหรือสัมผัสฝุ่น เช่น ตำรวจจราจร คนขับรถสาธารณะ คนกวาดถนน เป็นต้น และผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 2.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 4.กลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งหากได้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วย หรือมีผลต่อสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป ควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น (N95) หรือหน้ากากที่มีแผ่นกรองคาร์บอน เนื่องจากมีประสิทธิภาพที่สามารถกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ ทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือเมื่อไปในพื้นที่ที่มีระดับฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ใจสั่น ระคายเคืองตา หรือหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ด้าน พญ.หรรษา รักษาคม ผู้อำนวยการกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 เป็นกลไกสำคัญในการวางระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจากฝุ่น PM2.5 เมื่อพบจำนวนผู้ป่วยมากผิดปกติในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จะมีการรายงานมายังหน่วยงานปฏิบัติการควบคุมโรคระดับจังหวัด และกทม. หรือหน่วย ENVOCC CU เพื่อลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคได้อย่างทันการณ์