เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทย ปี 67 ป่วยโรค NCDs ร้อยละ 80 เหล้า-บุหรี่-กัญชา สาเหตุหลัก
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
คนข่าวอ่วม พบ เครียด เกือบ 70% – ไร้วันหยุดที่แน่นอน เกือบ 90% – ป่วยโรค NCDs เกือบ 80% สสส. สานพลัง มสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทย ปี 67 พบปัจจัยสังคม “เหล้า บุหรี่ กัญชา” กระทบการทำงาน ห่วงปี 68 ฟองสบู่สื่อออนไลน์ใกล้แตก
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ธ.ค. 2567 ที่โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมโฟกัส กรุ๊ป “ความเสี่ยงและสุขภาวะสื่อมวลชนไทย ปี 2567” ว่า สสส. ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) จัดการประชุมโฟกัส กรุ๊ป กับตัวแทนสื่อมวลชน 36 คน นอกจากเพื่อการนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน ยังมีจุดประสงค์ในการประมวลสภาพการทำงานที่กระทบต่อสุขภาวะสื่อในปี 2567 เพื่อวางแนวทางการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในปี 2568 การทำงานของสื่อเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ข้อมูลการเลิกจ้างพนักงาน เดือน ม.ค. – มิ.ย. 2567 มีธุรกิจสื่อปลดพนักงานไม่ต่ำกว่า 300 คน แม้จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่หากไม่มีงานใหม่จะสร้างปัญหาด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว สื่อออนไลน์ที่มีปริมาณล้นตลาด บางส่วนปรับลดขนาดองค์กรทำให้สื่อทำงานหนักขึ้น ค่าล่วงเวลา วันหยุดไม่มี เกิดความเครียด อาจทำให้ในปีหน้า สื่อออนไลน์ประสบความยากลำบาก ไม่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการ ไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เกิดเป็นภาวะฟองสบู่สื่อออนไลน์กำลังจะแตก ในปี 2568
“สสส. ในฐานะองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ ได้พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เครื่องมือเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่ความเสี่ยงที่น่ากังวล หากร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. … ที่จะปลดล็อกอาจเป็นการอนุญาตให้มีเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อัตโนมัติ หรือกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มว่าจะเสนอให้มีการนำเข้าและจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย รวมถึงการเดินหน้าเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. … เพื่อปลดล็อกให้มีการจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย เป็นปัจจัยความเสี่ยงด้านสุขภาพ นอกจากปัญหาด้านสุขภาพส่วนตัวยังต้องรับมือกับปัญหาทางสังคมที่ส่งผลให้ความเครียดทวีคูณ ความคาดหวังของประชาชนคืออยากให้สื่อเป็นกระจกสะท้อนสังคม และชี้แนะทิศทางสังคมให้ถูกต้อง หวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 จะสามารถเป็นแนวทางในการแสวงหาวิธีจัดการวงการสื่อ เสนอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป” นายวิเชษฐ์ กล่าว
รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 372 คน แบ่งเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38% เพศทางเลือก 1% พบว่าทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน 44.09% ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน 19.35% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวัน 13.98% และที่น่าห่วง ทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน 8.60% ที่สำคัญยังพบว่ามีวันหยุดน้อยกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ 89.25% ส่งผลให้เกิดความเครียด 69.90% และมีโรคประจำตัว 56.99% โดยเฉพาะป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 77.58% ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหาโดยเร่งด่วน ผลักดันให้เกิดมาตรการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตของสื่อมวลชนในระยะยาว