เปิดผลประเมินองค์การอนามัยโลก

ทบทวน 5 ปี สสส. ผลงานคุ้มค่าหรือไม่???

 เปิดผลประเมินองค์การอนามัยโลก

          รายงานผลการประเมินขององค์การอนามัยโลกซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2550 ระบุว่า สสส.เป็นต้นแบบกองทุนส่งเสริมการสร้างสุขภาวะในระดับนานาชาติที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทำการตลาดเชิงสังคมสัมฤทธิ์ผล ลดได้ทั้งบุหรี่ และความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร

 

          ในรายงานเริ่มต้นบรรยายตั้งแต่ที่มาของ สสส.ไปจนถึงผลการประเมินเชิงลึก วิเคราะห์จุดดีจุดด้อยพร้อมข้อเสนอแนะและสรุป โดยผู้ประเมินระบุตอนหนึ่งว่า สสส.เป็นองค์กรประเภทกองทุนด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพองค์กรแรกในทวีปเอเซีย และมีลักษณะคล้ายกับกองทุนส่งเสริมสุขภาพในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสวิสเซอร์แลนด์

 

          การศึกษาผลงาน 5 ปีที่ผ่านมาของ สสส.สรุปได้ว่า การก่อตั้งและพัฒนา สสส.มีความสอดคล้องต้องกันและเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศทั้งในด้านระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเร่งให้มีการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) และนโยบายเมืองไทยแข็งแรง

 

          งานส่วนใหญ่ของ สสส.ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับหลักปฏิบัติด้านการส่งเสริมสุขภาพตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรขององค์การอนามัยโลกทั้ง 3 ฉบับที่ได้ออกประกาศไว้ ณ กรุงออตตาวา จากาตาร์ และกรุงเทพฯ

 

          อย่างไรก็ดีคณะผู้ประเมินกล่าวว่า “มีหลายอย่างของ สสส.ที่องค์กรอื่นๆ และประเทศอื่นๆ สามารถเรียนรู้จากปรัชญาอันเป็นพื้นฐานสำคัญกลยุทธ์ และโครงการต่างๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จด้านการสร้างเสริมสุขภาพ”

 

          ผู้ประเมินจากองค์การอนามัยโลกมองว่าในช่วง 5 ปีแห่งการพัฒนา สสส.มีความก้าวหน้าไปไกลอย่างมากในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในโครงการสร้างเสริมสุขภาพหลายโครงการ แต่ก็มีข้อติคือภายในองค์กร สสส.เองยังมีปัญหาเรื่องการพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะพบได้โดยทั่วไปในองค์กรที่ตั้งขึ้นมาใหม่และคณะกรรมการประเมินผลภายในของ สสส.เองก็ตระหนักในปัญหานี้อยู่แล้ว

 

          รายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุด้วยว่าในขณะที่หลายประเทศมุ่งเน้นงานสร้างเสริมสุขภาพไปที่การรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงจำพวกเหล้าและบุหรี่เป็นหลักโดยไม่ได้เข้าไปแตะในด้านการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและเชิงระบบ แต่ไม่ใช่ปัญหาของ สสส.เลย ทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว และ สสส.ยังมีสายสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีกับกระทรวง เครือข่าย และองค์กรพันธมิตรต่างๆ ด้วย

 

          ผลการประเมินยงชี้ถึงความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนในการสร้างเสริมสุขภาพ โดย ณ เวลาที่มีการประเมิน สสส.ได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายสร้างสุขภาพมาแล้วกว่า 150 เครือข่ายทั้งในระดับการดำเนินการเชิงกลยุทธ์และระดับชุมชน นอกจากนี้ยังมีองค์กรหุ้นส่วนอีกกว่า 200 ที่ช่วยให้สสส.สามารถขับเคลื่อนและเฝ้าติดตามงานไปจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ด้วยดี แม้จะมีข้อติงอยู่ตรงที่ สสส.ไม่ควรเน้นไปที่ปริมาณการสร้างเครือข่ายและหุ้นส่วนแต่ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของเครือข่ายและหุ้นส่วนมากกว่า

 

          แม้งานด้านการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาภาพนั้นประเมินออกมาเป็นตัวเลขยาก แต่ผู้ประเมินก็เห็นว่า ตั้งแต่มีการก่อตั้ง สสส.มา ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะซึ่งรวมถึงการบริโภคสุรา ยาสูบและการบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรก็มีแนวโน้มลดลง นอกจากนั้น สสส.ยังได้ทำงานเชิงรุกและมีประสิทธภาพอย่างมากในการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งสร้างความตระหนักเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ประชาชนรับสารที่ส่งออกไปได้เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

 

          เมื่อเปรียบเทียบความสำเร็จของ สสส.กับองค์กรที่คล้ายกันในชาติอื่นๆ คณะผู้ประเมินจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า สสส.ดำเนินงานได้ในระดับเดียวกับองค์กรต่างประเทศเมื่อตอนที่มีอายุ 5 ปี เท่ากันและก้าวหน้ากว่ามากในเรื่องการทำงานร่วมกับเครือข่าย หุ้นส่วน การพัฒนานโยบายและการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

          ทั้งนี้ สสส.ก็ได้สร้างความประทับใจให้ผู้ประเมินจากองค์การอนามัยโลกอย่างมากในเรื่องความโปรงใสและการตรวจสอบทั้งภายในและจากภายนอก รวมทั้งการบริหารการเงินและการบัญชี แต่อย่างไรก็ดี ยังมีบางฝ่ายสงสัยเคลือบแคลงใจต่อ สสส.ในเรื่องนี้ แต่ทีมผู้ประเมินจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าเป็นความกังขาที่เกิดจากการขาดข้อมูลที่แท้จริง ฉะนั้นแล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ สสส.ต้องเผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะให้แพร่หลายขึ้น

 

          สิ่งที่ถูกติงว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดของ สสส.คือเรื่องการประเมินผลการใช้ผู้ประเมินจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่มีข้อจำกัด การประเมินผลในหลายส่วนงานก็ยังด้วยพัฒนา แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่คณะผู้บริหาร สสส.กำลังดำเนินกลยุทธ์เพื่อสร้างความเข้มแข็งในด้านนี้อยู่

 

          มาถึงคำถามที่ว่า สสส.ควรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือไม่คณะผู้ประเมินจากองค์การอนามัยโลกเสนอแนะไว้ว่า สสส.ควรได้ศึกษาและทดลองการกระจายอำนาจในหลายรูปแบบเพื่อหาทิศทางที่เหมาะสมที่สุดในการนำไปปฏิบัติในอนาคต แต่ทั้งหลายทั้งปวง การเปลี่ยนโครงสร้างบ่อยๆ ก็มีข้อเสียทั้งต่ดความต่อเนื่องและเสถียรภาพภายในองค์กร ฉะนั้นผู้ประเมินแนะนำว่าให้ยึดโครงสร้างเดิมไปก่อนจนสิ้นแผนแม่บทในปี 2551

 

          คณะผู้ประเมินยังได้แนะนำทิศทางการดำเนินงานในอาคต 5 ปี ข้างหน้าของ สสส.ไว้ด้วยว่าความท้าทายของ สสส.คือการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับโครงการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในภาคใต้ และการเข้าให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สนใจ ไม่เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพเลย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ท้าทายความสามารถของ กองทุนสร้างเสริมสุขภาพโดยทั่วไป

 

          ปิดท้ายการประเมินคณะขององค์การอนามัยโลกสรุปในภาพรวมได้ว่าสสส.ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะ

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

 

 

Update : 01-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code