เปิดประสบการณ์ชีวิตเสพติด “พนัน” เตือนเยาวชนไทย อย่ามี “ครั้งแรก” ดีที่สุด
ข้อมูลจาก กิจกรรม “No first time : พนันต้องไม่มีครั้งแรก”
ภาพโดย ภัณฑิรา แสวงดี Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ครั้งแรกของคุณคืออะไร?
เชื่อว่าทุกคนต้องมี “ครั้งแรก” กับในทุกเรื่อง และบ่อยครั้งที่ “ประสบการณ์ครั้งแรก” จะทำให้มีครั้งที่สอง สามหรือครั้งต่อไป จริงหรือไม่?
ว่ากันว่า “วัยรุ่นวัยเรียน” ดูจะช่วงวัยที่มีความอยากรู้อยากลองมากที่สุด และด้วยความอยากรู้อยากลองนี่เองที่นำทางไปสู่ เส้นทางเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทดลองเสพย์สิ่งเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไปจนถึงการทดลอง “เสี่ยงการพนัน” คนเรามักเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงวัยรุ่นวัยเรียนนี่แหละ
เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน ที่จะถึงปีนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จึงชวนเยาวชนมาเปิดประสบการณ์ “ครั้งแรก” กับการจัดกิจกรรม “No first time : พนันต้องไม่มีครั้งแรก”
ผงะ!เยาวชนไทยเสพติดพนันหลักล้าน
ไฮไลท์สำคัญของกิจกรรม คือการเปิดผลสำรวจประสบการณ์เสี่ยงอะไร ที่เป็น “ครั้งแรกที่ติดใจ” และ “ครั้งต่อไปที่อยากเลิก” ของเด็กเยาวชน ซึ่งเผยข้อมูลโดย ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี จาก 19 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 5,010 ตัวอย่าง ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างเดือน ม.ค. – ก.พ. 2566 พบว่า มีผู้เล่นพนันออนไลน์ถึงกว่า 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา และเป็นผู้เล่นหน้าใหม่สูงถึง 700,000 คน เล่นพนันผ่านช่องทางมือถือมากถึง 98.7%
ข้อมูลด้านบนสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์พนันในเด็ก และเยาวชนส่งสัญญาณอันตราย โดยเฉพาะพนันออนไลน์ที่เด็กเยาวชนมีโอกาสเป็นผู้เสพติดพนันสูงกว่าผู้ใหญ่ ก่องกาญจน์เสริมต่อว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ จึงหวังเพื่อสร้างความตื่นตัว เน้นย้ำให้สังคมตระหนักว่า “พนันเป็นสิ่งเสพติด” ยิ่งเล่นยิ่งติด และต้องไม่มีครั้งแรกสำหรับพนัน
ด้าน สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการติดพนัน ซึ่งในกลุ่มเด็กมีความเสี่ยงติดได้ง่ายกว่าวัยอื่น แต่ก็สามารถรักษาได้ ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ เพราะครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ก้าวข้ามการเสพติดพนันได้
พนันอย่าเผลอมีครั้งแรก อีกกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ คือร่วมฟังถ่ายทอดประสบการณ์จริงของผู้ที่เคยอยู่ในวังวนการติดพนันมาแล้ว อย่าง ศตวรรษ นักบุญ หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ TikTok ที่มียอดผู้ติดตามนับแสนราย
แต่สิ่งที่หลายคนไม่คาดคิด ถ้าทราบว่าอีกมุมหนึ่งของชีวิต ศตวรรษเคยผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานและได้รับผลกระทบจากการพนันมาแล้ว และนี่อาจเป็นครั้งแรกที่เขายอมมาบอกเล่าเรื่องราวอย่างหมดเปลือก ในเวทีการเสวนา “ดีที่สุด…อย่ามีพนันครั้งแรก” ศตวรรษฉายภาพอดีตว่า เขาเริ่มเล่นการพนันเมื่อครั้งที่ยังทำงานประจำ ด้วยมีความคิดอยากหารายได้เพิ่ม เมื่อมีเพื่อนแนะนำให้เล่นจึงทดลอง “เข้าไปลองเล่นครั้งแรก เขาจะทำให้เราได้ก่อน คือลงไปแค่ 100 บาทได้กลับมาสามหมื่นเลย”
ศตวรรษบอกว่า นี่เป็นเทคนิคสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นการพนันส่วนใหญ่ติดใจ และมีครั้งต่อมา ไปจนถึงมีความอยากเล่นต่อไปเรื่อย ๆ
“ทุกครั้งที่ลง เราหวังเสมอว่าจะได้กำไรกลับมา 100% แต่ในสภาพความเป็นจริง เมื่อมองกลับไปนั่นคือจุดเริ่มของสิ่งที่เรียกว่า “หายนะ” ในตอนนั้นเราเริ่มรู้สึกเสพติดความตื่นเต้นที่ได้เล่น ได้เงินรางวัลไปแล้ว ยิ่งเล่นยิ่งทำให้เราอยากได้อีก เคยคิดนะว่าพอได้เป็นกอบเป็นกำจะหยุดเล่น แต่พอวันรุ่งขึ้นก็กลับไปเล่นใหม่ อันไหนเสียก็อยากแก้มือเอาคืน” หลังจากเขาติดอยู่ในวัฏจักรแห่งความได้-เสีย ไม่จบสิ้นนี้เป็นปี จุดเปลี่ยนที่ทำให้ศตวรรษคิดได้ และตัดสินในหย่าขาดจากการพนันคือการได้เห็นจำนวนเงินทั้งหมดที่สูญเสียไป
“ให้ทายว่าเงินที่เราเสียไปเท่าไหร่ จำได้แน่นอนเลยคือ 6 ล้านกว่าในระยะเวลา 1 ปี ที่ทราบเพราะเราเอาสมุดบัญชีธนาคารไปลองอัพเดทรายรับ รายจ่าย จึงได้รู้ความจริง แถมตอนนั้นเริ่มยืมเงินพ่อแม่ เพื่อนแล้ว มีการโกหกว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่น ไม่กล้าบอกความจริง โทรศัพท์มือถือก็เคยนำไปขายเพื่อมาเล่น ที่ร้ายแรงที่สุดคือเคยกู้เงินนอกระบบแล้วเกือบโดนหลอก แต่เราก็ยังเล่นต่อ จนวันหนึ่งที่เราถามตัวเองว่า ทำไมเราต้องไปอยู่จุดนั้น?” ศตวรรษ ย้อน ความหลังในอดีต
เขาเล่าต่อว่า ในวันที่เอาสมุดบัญชีธนาคารไปอัพเดท พบในบัญชีเหลือเงิน 1,000 บาท “ตอนนั้นเราเริ่มเล่นติ๊กต่อกแล้ว ซึ่งเงินหนึ่งพันบาทนั้นคือเงินที่เราได้จากการหารายได้ในติ๊กต่อก มันทำให้เราตระหนักได้ว่า เงินที่เราได้จากการทำงานมันกลับเป็นเงินที่ยังอยู่ แต่การพนันทำให้เราหมดไปกว่าหกล้าน เรียกว่าสามารถซื้อบ้านได้หนึ่งหลัง หรือรถได้หนึ่งคันเลยนะ
“พอเห็นยอดเงินที่หายไป เราเริ่มคิดถึงภาพวันที่เราไปโกหกคนอื่นเพื่อยืมเงิน เริ่มอายตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น จากวันนั้นจึงตัดสินใจเลิก และเรามาค้นพบตัวตนอีกด้านของเราคือการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในติ๊กต่อก” ซึ่งวันนี้ ศตวรรษประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตใหม่ที่ได้รับนี้มากว่าสามปีแล้ว
พนันกับดักความท้าทายของเด็ก
วศิณี สนแสบ ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เผยว่า เมื่อวันที่ 1-10 ก.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนันได้ทำสำรวจเด็ก และเยาวชนไทย อายุระหว่าง 13-25 ปี จำนวน 1,200 คน ใน 17 จังหวัดจากทุกภาคของประเทศ เกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาต่อปัจจัยเสี่ยง ได้แก่อุบัติเหตุ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พนัน การสูบบุหรี่หรือสารเสพติด
พบว่า 40% เคยมีประสบการณ์อย่างน้อยหนึ่งเรื่อง มากที่สุดคือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 21.3% รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ มีพฤติกรรมขับขี่โลดโผน 17.7% เล่นพนัน 15.3% สูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด 12.2% แต่ข้อมูลสำรวจที่น่าสนใจคือพนันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รู้สึกติดใจในครั้งแรก ๆ แต่ในครั้งต่อไปอยากจะเลิก ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ ร่างกายทรุดโทรม พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด การเงินที่ไม่มีพอจับจ่ายใช้สอย ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทะเลาะกับคนใกล้ตัว และการถูกลงโทษทางวินัย รวมถึงการถูกข่มขู่และถูกทำร้ายร่างกาย
“เยาวชนยุคใหม่ทุกอย่างเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะการพนัน ซึ่งเด็กสมัยนี้ต้องการแรงจูงใจ มีวัฒนธรรมเรื่องการแข่งขัน อยากท้าทายตัวเองว่าเป็นผู้ชนะ ซึ่งการเล่นพนันจึงตอบโจทย์ตรงนี้” วศิณี กล่าว
“แต่ถ้าดูจากผลสำรวจ เราพบว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ อยากเลิกเรื่องการพนันที่สุด แสดงให้เห็นว่าการพนันเป็นเรื่องใหญ่อันดับต้น ๆ”
ธนภัทร เฉลิมรัตน์ ตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ สะท้อนภาพปัญหาจากมุมของเยาวชนให้ฟังว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนันง่าย มีอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวก็เล่นพนันได้แล้ว
“ผมได้เห็นเพื่อนๆ และคนรอบข้างเล่นการพนันเสียทั้งเงิน ทั้งการเรียนและเสียหลายอย่าง” ส่วนการที่เด็กและเยาวชนเล่นการพนัน ธนภัทรวิเคราะห์ว่า เพราะรู้สึกว่าอยากเท่ อยากได้รับการยอมรับ เป็นโชว์ให้เห็นว่าตนเองเก่งหรือมีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น
ด้าน ภาสกร คุ้มศิริ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ร่วมวงวิเคราะห์เหตุผลในเชิงวิชาการถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเล่นครั้งแรกถึงติด โดยกล่าวว่าพฤติกรรมติดการพนันเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ที่คล้ายกับการติดสารเสพ ที่เรียกว่า “Brain Rewards System” หรือระบบการให้รางวัลของสมอง ซึ่งเป็นระบบประสาทที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุขความพึงพอใจเหมือนได้รับรางวัล เมื่อผู้เล่นได้รางวัลหรือได้ผลตอบแทนจากการเล่น ยิ่งเมื่อมีการเล่นนาน ๆ จะมีความต้องการเล่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น
“เมื่อสิบปีก่อนหน้า สังคมยังไม่ได้มองว่าการพนันเป็นโรคและมองว่าไม่รุนแรง แต่ปัจจุบันมีผลวิจัยรองรับ เนื่องจากคนที่ติดพนันมีมากขึ้น เมื่อดูจากอาการพบว่ามีลักษณะการเสพติดพฤติกรรมรุนแรง และยังมีผลกระทบต่อสมอง ทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
“นอกจากนี้การที่เรามีเรื่องไม่กล้าบอกคนที่บ้านแปลว่ากลัวโดนตำหนิ ดุว่า แปลว่าเรากำลังทำสิ่งไม่ถูกต้อง คนรอบตัวควรสังเกต โดยเฉพาะพ่อแม่ควรทำตัวเป็น Safe Zone ที่ลูกไว้ใจพอจะบอกเล่าหรือพูดความจริงได้” ศตวรรษ กล่าว
รู้อย่างไรว่าเราติด “พนัน” ?
ส่วนสัญญาณเตือนว่าเราติดการพนันแล้ว ภาสกรแนะนำให้สังเกตอาการ คือ หากตรวจสอบความรู้สึกตัวเอง ว่าหงุดหงิดเมื่อไม่ได้เล่น เริ่มมีพฤติกรรมแยกสังคม เก็บตัว ซึ่งหากใครสงสัยหรือต้องการตรวจสอบว่ามีอาการเสพติดการพนันหรือไม่ สามารถเข้าไปทดสอบได้ที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต หัวข้อ “ประเมินปัญหาพนัน 9 ข้อ” เสริมด้วย ธนภัทรที่แนะนำวิธีการแยกแยกว่าสิ่งใดเป็นการพนันหรือไม่ ด้วย 3 ข้อ ได้แก่ 1.มีเดิมพัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยเงินหรือของมีค่า 2. มีความเสี่ยง มีได้มีเสีย และ 3. มีของรางวัลหรือเงินรางวัลล่อใจ
ภาสกรยังแนะแนวทางที่จะเลิกติดหรือป้องกันการติดการพนันว่า ควรมีการจัดกิจกรรมปลูกฝังสมองให้มีความเชื่อใหม่ เพื่อให้สมองส่วนที่คิดวิเคราะห์ทำงานได้ดีขึ้น
“อันดับแรกต้องการจัดการความเชื่อตัวเอง คนเล่นพนันมองว่าการพนันเป็นการลงทุนที่ได้เงินเร็ว ดังนั้นต้องทำให้เลิกคิดว่าการพนันเป็นการลงทุน เช่นการเปรียบเทียบให้เห็นจำนวนเงินที่เราเสียไป แบบกรณีคุณศตวรรษ”
ท้ายสุด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน วศิณียังเสนอแนวทางต่อรัฐบาลชุดใหม่ ให้จริงจังต่อการปกป้องเด็กและเยาวชนจากพนันมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่ให้มีการจำหน่ายสลากฯ แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี 100% รวมถึงให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนภูมิรู้สู้พนันแก่เด็ก เยาวชน และพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งที่แน่นอน อาจไม่เกิน 1-5 % จากกิจการพนันถูกกฎหมายที่รัฐกำกับดูแลอยู่ เช่น รายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มาตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างภูมิรู้สู้พนัน เพื่อพัฒนานวัตกรรม และการสร้างโอกาสการเรียนรู้ต่าง ๆ แก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว สร้างสังคมปลอดภัยจากการพนัน
นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการปรึกษาเพื่อเลิกติดการพนัน สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323
“สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาติดพนัน ถ้าไม่อยากบอกพ่อแม่ หรือครูสามารถปรึกษาได้ผ่านช่องทาง Line ระบายสายพนัน ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สสส. หรือผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ “เด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน” รวมถึงโรงเรียนหรือเด็กที่อยากให้เครือข่ายทำกระบวนการสามารถติดต่อได้ที่เฟสบุ๊คเพจดังกล่าว” วศิณีแนะนำทิ้งท้าย
เมื่อ “ครั้งแรก” เป็นครั้งสำคัญที่อาจเปลี่ยนชีวิตคนหนึ่งคน ดังนั้น อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญ ในทุกครั้งที่เรามีครั้งแรก มาเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ที่ดี ๆ และสร้างสรรค์จะดีกว่า
ที่สำคัญ หากใครมีประสบการณ์ครั้งแรกกับพนันมาแล้ว…ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้เตือนใจว่า การพนันนั้น ควรมีแค่ “ครั้งแรกครั้งเดียว”… ก็เกินพอ