เปิดปฏิบัติการสร้างอาชีพใหม่ – ลดรายจ่ายในครัวเรือน
สสค. จับมือ 92 อปท. เปิดปฏิบัติการสร้างอาชีพใหม่ – ลดรายจ่ายในครัวเรือน นำร่องกลุ่มแรงงานนอกระบบ 60% ชี้เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ เผยกลเม็ดสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน ต้องมองให้ครบ “ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ” พร้อมต่อยอดพัฒนาหลักสูตร “นักการตลาดชุมชน”
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ศูนย์การค้า เจ.เจ. มอล์ล (จตุจักร) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 92 แห่ง ใน 27 จังหวัด จัดงาน “ปฏิบัติการ 92 อปท.สร้างสัมมาชีพ” ในโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ชุมชนเพื่อสัมมาชีพ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลการทำงานเพื่อให้เกิดการสร้างนักการตลาดชุมชนรุ่นใหม่ และในวันที่ 16-17 มีนาคมจะมีการจำหน่ายสินค้าแหล่งรวมผลผลิตจากชุมชน
นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส กล่าวว่า การสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่เป็นปัจจัยของการอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งถือเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่และเป็นเศรษฐกิจเพื่อชีวิต หากดูจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างรายได้ต่ำที่สุดในโลก รายได้ส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้นงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ระบบการศึกษาของไทยจึงต้องมีเป้าหมายส่งเสริมธุรกิจรายย่อยให้มากขึ้นเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการ สสค. คนที่ 2กล่าวว่า ภาพลวงตาที่เกิดขึ้นของรายได้ในครัวเรือนไทย พบว่า คนส่วนใหญ่มักพุ่งตรงเข้ามาทำงานในเขตเมือง โดยเฉพาะภาคกลาง ซึ่งถือเป็นแหล่งเศรษฐกิจและมีค่าตอบแทนรายได้สูงกว่าภาคอื่นๆ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กทม.และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นๆ คือ 44,631 บาท ขณะเดียวกันก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายและหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นกัน คือ 27,566 บาท และ 202,157 บาท ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงถึง 75%ทำให้ภาคกลางเป็นภาคที่มีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดถึง 81% จึงมีเงินออมหรือเงินเพื่อชำระหนี้ได้น้อยมาก ขณะที่ภาคใต้มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ต่ำที่สุด คือ 72% ทำให้สามารถออมและมีเงินชำระหนี้มากกว่าภาคอื่น
“สสค.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 92 แห่ง ใน 27 จังหวัดนำร่อง จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ชุมชนเพื่อสัมมาชีพเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของชุมชน โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดทำฐานข้อมูลในชุมชน ทำให้รู้รายจ่ายของครัวเรือน ซึ่งการลดรายจ่ายดังกล่าวถือเป็นโอกาสของการสร้างรายได้ใหม่ในชุมชน นั่นคือ การมองให้ครบห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ จากนั้นจึงนำสู่การส่งเสริมทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้โดยพุ่งเป้าการพัฒนาทักษะอาชีพไปที่กลุ่มแรงงานนอกระบบ เนื่องจาก 60% ของแรงงานไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ จึงถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบ e-marketing ช่องทางสนับสนุนการตลาด และเตรียมจัดทำหลักสูตร “นักการตลาดชุมชน” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ชุมชนมองการตลาดอย่างครบวงจร ทั้งการผลิต การหาตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการจัดจำหน่ายตามระบบห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจโดยจะเกิดจากการสังเคราะห์ความรู้ที่เกิดขึ้นจริงจากการทำงานของ 92 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักการตลาดมืออาชีพเข้าร่วมออกแบบหลักสูตร” รองประธานกรรมการ สสค. คนที่ 2 กล่าว
ทางด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพกล่าวว่า หลักสูตรการสร้างนักการตลาดชุมชน ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะการผลิตที่เห็นกันทุกวันนี้คือ ภาคชุมชนสามารถทำสินค้าขึ้นเองได้ แต่ขายไม่ได้ในตลาดภายในประเทศจึงไปต่อไม่ได้ และยิ่งเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นการแข่งขันไร้พรมแดน โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า คู่แข่งจึงไม่ใช่แค่ภายในประเทศอีกต่อไป ดังนั้นการตลาดชุมชนจึงต้องพัฒนาตั้งแต่ขั้นแรกคือ รู้ความต้องการของตลาดรองรับ รู้สินค้าที่จะทำว่าแข่งขันกับใคร และสินค้านั้นอาจไม่ใช่การผลิตของขึ้นมาใหม่ แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด เช่น อาหารสัตว์ หรือภาชนะบรรจุสินค้า เป็นต้น
ตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้นแบบของการสร้างอาชีพในชุมชนที่เริ่มจากการวิเคราะห์ตลาดรองรับก่อนลงมือผลิต อาทิ เทศบาลตำบลปลายพระยาได้จัดทำฐานการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมอาชีพในชุมชน จากการมองความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดยนายจเร ปานจีน นายกเทศมนตรีเทศบาลปลายพระยา ต.ปลายพระยา จ.กระบี่ กล่าวว่า อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านตำบลปลายพระยาคือการปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา รายได้จึงผันผวนขึ้นอยู่กับราคาของตลาด ขณะที่รายจ่ายอันดับ 1 คือค่าอาหาร จึงเกิดแนวคิดการลดรายจ่ายในครัวเรือนและยังเป็นการสร้างรายได้ขึ้นใหม่ในชุมชน เช่น การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงด้วงสาคู หรือเลี้ยงจิ้งหรีด ต้นคิดมาจากวัฒนธรรมของคนใต้บริโภคของพวกนี้ นั่นคือมีตลาดรองรับ จากนั้นจึงมองหาวัตถุดิบในการเพาะเลี้ยง ซึ่งพบว่าในชุมชนมีต้นสาคูสำหรับเป็นอาหารของด้วงอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และยังเป็นการอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน จากนั้นจึงมีการอบรมเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ชุมชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วขยายผลให้ชาวบ้านนำไปทำเองที่บ้าน ซึ่งผลผลิตที่ได้นอกจากจะใช้บริโภคในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายแล้ว เทศบาลยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำไปแปรรูปและออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น การทำจิ้งหรีดทอดกรอบ จิ้งหรีด 3 รส ปลาดุกร้า พร้อมหาช่องทางในการจัดจำหน่าย
ขณะเดียวกัน นายอนันต์ โขมะนาม ปลัดเทศบาลตำบลนาหมอม้า อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ กล่าวถึง“เสือกกพันหน้า นาหมอม้า”ว่า ชาวบ้านตำบลนาหมอม้าส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปีละครั้งจึงมีเวลาเหลือ ขณะเดียวกันในพื้นที่มีต้นกกคุณภาพดี จึงเกิดกลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มทอเสื่อกกเพื่อสร้างรายได้ ตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เมื่อเข้าร่วมโครงการสัมมาชีพ จึงเกิดการเรียนรู้การมองตลาดอย่างครบวงจร โดยเพิ่มเทคนิคความรู้ใหม่มาพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาให้มีมูลค่า จากการทอแบบธรรมดาเป็นลายบ้านทั่วไป เป็นการทอแบบ “มัดหมี่และ ถักทอ” เพื่อสร้างลวดลายใหม่ๆสามารถรับงานออกแบบลายเสื่อกกได้ตามที่ลูกค้าต้องการ รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการตลาดแบบใหม่เพิ่มขึ้น เช่น การตลาดผ่านระบบอินเตอร์เน็ทให้สอดรับกับวิถีการตลาดของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนเพื่อลดรายจ่ายในชุมชน
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)