เปิดทิศทางการจัด​การศึกษาโลก 15 ปีข้างหน้า

สสค. เปิดเวทีเสวนาทิศทางการจัดการศึกษาโลก 15 ปีข้างหน้า เน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ-ประชากรเรียนรู้ตลอดชีวิต-เข้าถึงกลุ่มด้อยโอกาส 


เปิดทิศทางการจัด​การศึกษาโลก 15 ปีข้างหน้า  thaihealth


12 ต.ค 58 ที่ อาคารไอบีเอ็ม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)มีการจัดเสวนาวิชาการนานาชาติ “ทิศทางการจัดการศึกษาโลก สู่เป้าหมายการศึกษาปี 2030” มีศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม เป็นประธาน โดยมีผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาการศึกษา องค์การยูเนสโก และองค์การยูนิเซฟ เข้าร่วมประชุม 


นางเอพริล โกลเด้น เจ้าหน้าที่ภาคีสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สำนักงานกองทุนการศึกษาโลก กล่าวถึงทิศทางการจัดการศึกษาโลกในอีก 15 ปีข้างหน้าว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกที่ผู้นำ 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ร่วมกันลงมติรับที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติสมัยที่ 70 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทิศทางใหม่ของการจัดการศึกษาคือการเน้นการศึกษาที่มีคุณภาพและเรียนรู้ตลอดชีวิต จากเดิมที่เน้นสร้างโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียน จึงมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยพยายามเข้าถึงเด็กทุกกลุ่มที่ด้อยโอกาส ปัญหาความเท่าเทียมของหญิงและชายในการเข้าถึงการศึกษา และต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพโดยเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงานจึงต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อรวบรวมข้อมูลถึงทักษะการทำงานที่ภาคเอกชนต้องการ รวมถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการอ่านออกเขียนได้และการขาดทักษะใหม่ๆที่ตลาดต้องการให้กลับเข้ามาศึกษาต่อเพื่อให้เกิดการทักษะเพื่อการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง   


นางเอพริล กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องมีระบบการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดระบบการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพไม่สูญเปล่า สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบายด้านการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของสังคมเศรษฐกิจ และการลดปัญหาช่องว่างการจัดการศึกษาของโลกให้แก่เด็กเยาวชนวัยเรียนอีกกว่า 124 ล้านคนทั่วโลกที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ สำนักงานกองทุนการศึกษาโลกจึงมีบทบาททั้งการสนับสนุนนวัตกรรมความรู้และงบประมาณให้แก่ประเทศต่างๆ  โดยมีเป้าหมายระดมทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศและองค์กรต่างๆในรูปแบบหุ้นส่วนการทำงาน จำนวน 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 1.4 ล้านล้านบาททุกปี ตลอด 15 ปีข้างหน้า


นายฮิวส์ เดลานี ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางการจัดการศึกษาของไทยต้องดูว่าระบบการศึกษามีส่วนพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต ทั้งทักษะการสื่อสาร การแสดงออก จึงต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายด้านการศึกษา


จากนั้นผู้แทนองค์การยูเนสโกได้ตอบข้อซักถามในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง ลงทุนด้านงบประมาณการศึกษามากกว่า 20% ของงบประมาณแผ่นดินและถือว่าสูงอันดับต้นของโลก แต่ยังเป็นการลงทุนที่ขาดประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับผลของผู้เรียน ประเทศไทยจึงควรพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณด้านการศึกษาด้วยการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและเป็นอิสระในการสนับสนุนการตัดสินใจทางนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงตามรัฐมนตรี 


นางเอพริล กล่าวว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ใช้เงินถึง 20-25% ของงบประมาณแผ่นดินเพื่อการศึกษาและมีปัญหาประสิทธิภาพเพราะขาดข้อมูลและระบบการจัดเก็บข้อมูล กองทุนการศึกษาโลกจึงได้สนับสนุนโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีการทำงานในระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเรื่องการเก็บข้อมูลงบประมาณที่มีคุณภาพ เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถวิเคราะห์การใช้งบประมาณ อะไรที่ลงทุนแล้วได้ผลไม่ได้ผล  ส่วนกระบวนการนโยบายที่ขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีซึ่งเป็นปัญหาในหลายประเทศ ยุทธศาสตร์การทำงานจึงเลือกทำงานกับเจ้าหน้าที่ประจำของรัฐในระดับกระทรวงเพื่อเป็นผู้ประสานความร่วมมือให้เกิดความต่อเนื่องกับภาคนโยบาย รวมถึงการทำงานในรูปแบบของคณะทำงานด้านการศึกษาระดับประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่รวมถึงทุกภาคส่วนที่อยู่นอกภาคการศึกษา เช่นองค์กรระหว่างประเทศ สมาคมครูอาจารย์ รวมถึงผู้ประกอบการ องค์กรประสานงานระดับประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหลายกระทรวงที่มีบทบาทในการวางแผนการศึกษาชาติ


ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เป้าหมายการจัดการศึกษาโลกคือประชาชนทุกคนจะมีโอกาสอย่างน้อยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวไทยภูเขา ลูกแรงงานอพยพที่ต้องย้ายถิ่นตามพ่อแม่ที่ไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควรทั้งกัมพูชาและพม่า รวมทั้งลูกแรงงานต่างด้าว ซึ่งกองทุนการศึกษาโลกอาจมีส่วนช่วยในส่วนนี้รวมถึงการทำงานร่วมกันต่อไปในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากประสบการณ์ของกองทุนการศึกษาโลกที่ทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการยกระดับประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณการศึกษา เพราะทุกวันนี้เราจัดสรรงบประมาณแบบอุปทาน และจ่ายเงินถึง 1 ใน 5 ของงบประมาณแผ่นดินแต่ไม่ค่อยได้ผล สิ่งที่เราต้องการสนับสนุนจึงไม่ใช่เรื่องเงินทุน แต่ต้องการองค์ความรู้เชิงระบบและประสบการณ์นโยบายเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ จึงควรมีคณะทำงานที่จะร่วมมือกันโดยมีสสค.เป็นผู้ประสาน ซึ่งแม้เป็นหน่วยงานเล็ก แต่สามารถเคลื่อนที่เร็ว เป็นหน่วยประสานยุทธศาสตร์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการศึกษาทุกฝ่ายในประเทศและในระดับนานาชาติ


 



ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code