เปิดต้นแบบชุมชนท้องถิ่น เพื่อเด็กปฐมวัย

      การบริหารประเทศให้บรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากทุกภาคส่วน ด้วยการทำ “นโยบายสาธารณะ” ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งนโยบายที่ดีต้องเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตอบรับและตอบสนองต่อข้อเสนอแนะทุกข้อเสนออย่างไม่มีข้อจำกัด


  /data/content/25547/cms/e_bcdefklw2458.jpg  ปัจจุบันการทำ “นโยบายสาธารณะ” ยังขาดมิติที่หลากหลาย ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วันนี้จึงเกิดชุมชนท้องถิ่นที่ลุกขึ้นมาใช้กระบวนการจัดทำนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่แท้จริง คือ เทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน


    ด้วยบริบทของเทศบาลตำบลวังผาง วิถีชีวิตยังมีความเป็นชุมชนดั้งเดิม เป็นพี่เป็นน้อง ผูกพันแน่นแฟ้น และยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม ความเป็น “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน องค์ประกอบสำคัญในสังคมยังคงรักษาไว้ได้ จึงได้เห็นภาพคนเฒ่าคนแก่จูงลูกจูงหลานเดินเข้าวัด ทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน นั่งพื้นกินข้าวขันโตก อาหารพื้นเมือง แต่งกายเรียบร้อยเหมาะสม หลายคนยังคงใส่ผ้าพื้นเมือง รอบนอกบริเวณวัดซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเป็นธรรมชาติร่มรื่นสวยงาม ไม่มีความเป็นเมืองที่จะเห็นร้านเกม ร้านโทรศัพท์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านเสื้อผ้าวัยรุ่น เป็นความงดงามและหายากในยุคสมัยนี้ องค์ประกอบเหล่านี้ที่ชาววังผางหวงแหนและนำมาเป็นประเด็นนโยบายสาธารณะ โดยเน้นไปที่เรื่องอัตลักษณ์และโครงสร้างทางสังคมที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิติประจำวันของตนเอง


    “183 ปีที่ตำบลวังผางร่วมแรงร่วมใจสร้างบ้านแปงเมืองดำรงสืบทอดความสงบร่มเย็นจากรุ่นสู่รุ่น จวบจนปัจจุบัน สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนชุมชนต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว ชาววังผางตระหนักดีว่าอนาคตต่อไปของบ้านเราขึ้นอยู่กับลูกหลานของเราในวันนี้ หากเราสามารถดูแลลูกหลานของเราให้มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตำบลวังผางของเราก็จะเป็นตำบลที่น่าอยู่ต่อไป” พระมหาจำลอง กฺลยาณสิริ เจ้าอาวาสวัดดงหลวง กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมแรงร่วมใจ ความตั้งใจที่มีพลังของชาวตำบลวังผางทุกคน จึงสามารถร่วมกันพัฒนาได้ถึงวันนี้


    “ปฏิญญาปฐมวัยเพื่อลูกหลานวังผาง” ประเด็นนโยบายสาธารณะจากการร่วมกันสำรวจทุนและศักยภาพ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง โดยคณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเทศบาลตำบลวังผาง ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กวัย 2-5 ปี : พื้นที่ภาคเหนือ ที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน/data/content/25547/cms/e_bknuvxy14689.jpg


    ผศ.ดร.อุษณีย์ จินตะเวช ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า การดูแลเด็กปฐมวัยยังมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนในหลายด้าน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการ ทั้งในด้านสถานที่ ความปลอดภัย สภาพแวดล้อม การส่งเสริมพัฒนาการ และการดูแลสุขภาพ


    รวมทั้งการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน เพื่อพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นต้นแบบด้านการดูแลเด็กปฐมวัย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และหนุนเสริมด้วยการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระบบบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ และระบบสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน แต่ประเด็นสำคัญคือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่รับถ่ายโอนมาให้ดูแลศูนย์เด็กเล็กยังขาดความเข้าใจในระบบการดูแล คัดกรอง ประเมิน ฟื้นฟู และส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย


    นายจรัญ ดวงสะเก็ด นายกเทศมนตรีตำบลวังผาง กล่าวว่า ด้วยความเป็นผู้นำท้องถิ่น จึงเล็งเห็นปัญหาความทุกข์ของชาวบ้าน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน โดยลงสำรวจปัญหาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน แล้วนำมาจัดทำนโยบายสาธารณะ ดึงองค์ประกอบของสังคมที่มีส่วนสำคัญ โดยนำคุณภาพชีวิตลูกหลานเป็นเป้าหมาย เพราะอยากเห็นลูกหลานเติบโตเป็นคนดี แล้วกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง    


    ฉะนั้น ปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิด-5 ปี จึงเป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเด็กจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป ดังนั้น เป้าหมายความสำเร็จจะเกิดได้ ทุกคนต้องพร้อมใจลงมือทำร่วมกัน


    “ทุกวันนี้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการล่าช้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเท่าที่ควร  มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาโภชนาการ โรคติดต่อ อันตรายจากอุบัติเหตุ เมื่อทุกคนรับทราบปัญหาก็กลับมาตั้งโจทย์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันรับผิดชอบงานในแต่ละส่วน และทำงานประสานเชื่อมโยงกันที่มุ่งสู่เป้าหมายที่อยากเห็นลูกหลานชาววังผางเติบโตแข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งในชุมชนของวังผางมีผู้นำ ผู้สูงอายุ และปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ และพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ประเพณีที่มีคุณค่าให้กับลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป” นายจรัญกล่าว


    นางเบญญาภา ก่อพงศ์โชติสิน หัวหน้าศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง กล่าวว่า ระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา ด้วยศักยภาพและทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น การพัฒนาแบบก้าวกระโดดเพื่อความเป็นเลิศใน 5 ระบบ จึงเป็นความรับผิดชอบที่ค่อนข้างหนัก แต่ก็เป็นความภูมิใจของครูทุกคนที่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ โดยครูทุกคนมาร่วมคิด ร่วมออกแบบ แบ่งหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาทั้ง 5 ระบบ ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทีมสหวิชาชีพมาช่วยขับเคลื่อนคุณภาพ ศพด.วังผาง


    ขณะนี้ ศพด.วังผางเปิดสอนระดับเนิร์สเซอรี่ มีครู 4 คน เด็กนักเรียน 47 คน ระดับเตรียมอนุบาลมีครู 2 คน นักเรียน 48 คน จึงประสบปัญหาครูไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก อาคารสถานที่คับแคบ ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาชนทุกคนในพื้นที่เข้ามาร่วมรับรู้รับทราบปัญหา เพื่อช่วยกันแสดงความคิดเห็น เติมเต็มในส่วนที่ขาด ประเด็นสำคัญที่ ศพด.วังผางพบคือ เด็กบางคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายายที่อายุมาก และไม่สะดวกที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ ศพด. ครูจึงใช้วิธีการลงไปเยี่ยมบ้าน ใช้การกระจายความรู้ไปยังผู้นำในชุมชน เพื่อช่วยกันส่งต่อยังพื้นที่ได้ทั่วถึง เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือคนสำคัญที่จะส่งเสริมพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก 


    นายฤาชัย กันทาดง กำนันตำบลวังผาง กล่าวอีกว่า การดูแลเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่ “รอ” ไม่ได้ คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลวังผาง และพนักงานสมาชิกสภาเทศบาลตำบลวังผาง คณะครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คณะสงฆ์วัดดงหลวง วัดดงเหนือ กำนันตำบลวังผาง ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังผาง และโรงพยาบาลเวียงหนองล่อง จึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงการดูแลเด็กปฐมวัยจนตกผลึก


  /data/content/25547/cms/e_bfghjrtyz145.jpg  โอกาสนี้ ถึงเวลาแล้วที่คนพื้นที่ตำบลวังผางจะลุกขึ้นมาแสดงพลังความพร้อม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหลานของตนเองให้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านตำบลวังผางขอประกาศ “ปฏิญญาปฐมวัยเพื่อลูกหลานวังผาง” ดังนี้


    1.เราจะร่วมกันพัฒนา “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง” ให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักวิชาการ ใน 5 ระบบ คือ 1) ระบบริหารจัดการ 2) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3) ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์เรียนรู้ 4) ระบบการดูแลสุขภาพ และ 5) ระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน


    2.เราจะร่วมกันดำเนินการตามข้อเสนอที่ระบุไว้ในท้ายปฏิญญานี้ และจะรายงานผลให้ประชาคมวังผางทราบภายใน 1 ปี


    3.เราจะร่วมกันทบทวนและจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนา “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลวังผาง” และเด็กปฐมวัยในตำบลวังผางร่วมกันทุกปี และ


    4.เทศบาลตำบลวังผางจะตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการและติดตามผลตามปฏิญญาต่อไป


    “เรามุ่งหวังว่าปฏิญญานี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกหลานของเรามีการเจริญเติบโต พัฒนาการสมวัย และมีสติปัญญาที่ดี” ประกาศเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2557 ณ วัดดงหลวง คำประกาศก้องกังวานไปทั่ววัดดงหลวง มีประชาชนชาววังผางเป็นสักขีพยาน


    หากทุกคนยังลงความเห็นว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ที่จะมาแทนที่ในวันหน้า จงหันกลับไปมองเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เราจะสร้างอนาคตของเราอย่างไร เฉกเช่นเดียวกับวังผางหรือไม่ คำตอบนี้อยู่ที่คุณ…


 


 


      ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


      ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code