เปิดตัวแอพฯอัจฉริยะลดการเสียชีวิต
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
สจล. เปิดตัว 2 นวัตกรรม ระบบไฟจราจรอัจฉริยะ เชื่อมรถ-ถนน-โรงพยาบาล แจ้งเตือนรถฉุกเฉิน ฝ่าวิกฤติจราจรใน 8 นาที และระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ แจ้งเตือนถนนพังแบบเรียลไทม์ให้หน่วยงานรัฐ เข้าไปแก้ปัญหาทันที
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดร.เกรียงศักดิ์ ขาวเนียม หัวหน้าทีมวิจัยระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ (Smart Road Surface Monitoring System) สจล. ดร.วิบูลย์ ปิยวัฒนเมธา ทีมพัฒนาร่วม iAmbulance และระบบไฟจราจรอัจฉริยะ สจล. พร้อมด้วยตัวแทนศูนย์นเรนทร และศูนย์เอราวัณ ร่วมแถลงข่าว เปิดตัว 2 นวัตกรรม ระบบไฟจราจรอัจฉริยะ และ ระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนนอัจฉริยะ เชื่อมรถ-ถนน-โรงพยาบาล ช่วยจัดการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเป็นระบบ ลดอัตราผู้เสียชีวิตระหว่างขนย้ายผู้ป่วย พร้อมเปิดทดลองระบบการทำงาน ในการพัฒนาเมืองสู่การเป็นนครอัจฉริยะในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมที่สมบูรณ์แบบ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ของการบาดเจ็บฉุกเฉินในประเทศไทยมีแนวโน้นสูงขึ้น ทั้งอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน แต่จากสถิติของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาลหรือระหว่างทางถึง 20 %หรือประมาณ 3 แสนคนต่อปี สาเหตุหลักมาจากสภาพจราจรติดขัด ขาดความรู้ความเข้าใจการหลีกทางให้รถฉุกเฉิน และสภาพถนนที่มีผลต่อการขนย้ายผู้ป่วย ทั้งภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากต้องฝ่าสัญญาณไฟแดง ดังนั้น สจล.จึงได้คิดค้นนวัตกรรมช่วยยกระดับด้านคมนาคม โดยเริ่มนำร่องระบบการให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วยระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ และระบบรายงานสภาพพื้นผิวถนน ช่วยขนส่งผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง และเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดสู่ระบบคมนาคมเป็นนครอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ต่อไป
ดร.วิบูลย์ กล่าวว่า สำหรับแอพพลิเคชั่น iAmbulance และนวัตกรรมระบบไฟจราจรอัจฉริยะสำหรับการแพทย์ฉุกเฉินนั้นทำงานโดยระบบจีพีเอส โดยทำการเทียบตำแหน่งระหว่างรถพยาบาลและรถยนต์คันอื่นส่งข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ หรือศูนย์รวบรวมข้อมูล เพื่อทำการประเมินผลว่ารถฉุกเฉินอยู่บริเวณไหน และวัดหาปริมาณรถใกล้เคียง จากนั้นจะทำการส่งสัญญาณภาพหรือสัญญาณเสียง อีกทั้งสามารถส่งข้อความไปยังมือถือของผู้ขับรถที่อยู่บริเวณนั้นให้ชิดซ้าย หรือ ชิดขวา เพื่อให้รถฉุกเฉินผ่านไปได้ โดยระบบของแอพลิเคชั่นจะติดตั้งที่ตัวรถฉุกเฉินเพื่อให้ผู้ควบคุมสามารถใช้สื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนโดยตรง และเป็นตัวสัญญาณระบุตำแหน่งของรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยประชาชนทั่วไปก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ iAmbulance เพื่อใช้แจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินได้ผ่านฟังก์ชั่นSOS เพื่อใช้รับสัญญาณจากรถฉุกเฉินได้
นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังสามารถเชื่อมโยง “ระบบการจัดการสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติที่แยกไฟแดง ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรได้เมื่อมีรถพยาบาลฉุกเฉินที่ขนย้ายผู้ป่วยภาวะเร่งด่วน อีกทั้งระบบไฟจราจรกึ่งอัตโนมัติ ที่จะเป็นรูปแบบกล่องติดตั้ง อยู่บริเวณป้อมตำรวจบริเวณแยก ทั้ง456แยกในกทม. สำหรับใช้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนแก่ตำรวจในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟแก่รถฉุกเฉิน แก้ไขความล่าช้า สามารถส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลให้รวดเร็วภายใน 8 นาที จากเวลา 30-40 นาที โดยจะเริ่มนำร่องที่เขตลาดกระบัง เพื่อเชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิลและโรงพยาบาลในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลสิรินธร เป็นต้น
ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนแอพลิเคชั่น”Road Surface” เป็นการเก็บข้อมูลการสั่นสะเทือน ตำแหน่งของหลุมบ่อของถนนผ่านเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และรวบรวมผลความถี่การสั่นเพื่อประมวลผลแจ้งกลับไปยังแอปพลิเคชั่น เพื่อใช้เตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า เกี่ยวกับตำแหน่งพื้นผิวถนนแบบเรียลไทม์ โดยการแสดงผล แบ่งออกเป็น3ระดับ ได้แก่ หลุมบ่อระดับเบา(สีเขียว)หลุมบ่อระดับปานกลาง(สีส้ม) หลุมบ่อระดับร้ายแรง(สีแดง) โดยจะแทนระดับการสั่นไหวด้วยข้อมูลตัวเลขเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจและแจ้งเตือนได้ง่ายขึ้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องคำนึงถึงอันตรายและแรงกระแทกบนท้องถนน แล้วยังสามารถแจ้งผลไปยังกรุงเทพมหานคร(กทม.) กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.)องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เพื่อให้เข้าไปแก้ปัญหาและซ่อมแซมถนนได้ โดยไม่ต้องเสียงบประมาณซ่อมโดยเสียเปล่า ทั้งนี้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดเอพพลิเคชั่น ได้ฟรีทั้งระบบAndroid และระบบ IOS .