เปิดตัวศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติแห่งแรกในไทย

ที่มา :  เว็บไซต์เดลินิวส์


เปิดตัวศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติแห่งแรกในไทย thaihealth


แฟ้มภาพ


จุฬาเปิดตัวศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติแห่งแรกในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมรองรับการวิจัยและทดสอบชีววัตถุในสัตว์ไพรเมท ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ


ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เป็นศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ที่มีการจัดตั้งขึ้นจากการที่รัฐบาลที่ได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะด้านระบบสาธารณสุข และได้เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสทางด้านการวิจัยยา สมุนไพร วัคซีนและงานทางชีวการแพทย์ของประเทศไทย ประกอบกับประเทศไทยมีโรคเขตร้อนหลายชนิด เช่น มาลาเรีย วัณโรค ไข้เลือดออก และไข้ซิก้า แพร่ระบาดค่อนข้างมาก แต่ด้วยงานวิจัยทางด้านนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินไปถึงขั้นสุดท้ายได้ เพราะขาดสัตว์ทดลองกลุ่มไพรเมทที่จะใช้ในการทดสอบพิษวิทยาและประสิทธิภาพของยา ซึ่งจัดเป็นการทดลองระดับพรีคลินิกก่อนที่จะนำไปสู่คน ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ นี้ นอกจากจะทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาและวัคซีนได้ด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นการลดการนำเข้ายาและวัคซีนจากต่างประเทศได้


“ในการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของศูนย์ในการรองรับบริการงานวิจัย โดยในขณะนี้ศูนย์มีอาคารเลี้ยงลิงแบบกึ่งเปิดขนาดเล็ก 2 หลัง ที่สามารถจุลิงแสมได้ประมาณ 200 ตัว และอาคารเลี้ยงลิงแบบกึ่งเปิดขนาดใหญ่ 2 หลัง ที่สามารถจุลิงแสมได้ประมาณ 1,200 ตัว โดยลิงแสมที่เลี้ยงอยู่ในศูนย์เป็นลิงแสมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และเป็นลิงที่จับมาจากการแก้ปัญหากรณีพิพาทระหว่างคนและลิง ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์สองต่อต่อประเทศ คือ เป็นการลดปัญหาให้กับชุมชนและการพัฒนางานวิจัย นอกจากนี้ศูนย์ยังมีอาคารวิจัยที่สามารถรองรับงานวิจัยโรคไม่ติดเชื้อ (ระดับ animal biosafety level 1) เช่น โรคกระดูกพรุน โรคความจำเสื่อม และ โรคเบาหวาน และงานวิจัยโรคติดเชื้อ (ระดับ animal biosafety level 2) เช่น โรคไข้เลือดออก และซิก้า โดยในปี พ.ศ. 2561 นี้ ศูนย์ได้ยื่นขอรับการรับรองมาตรฐานสากล AAALAC International ในการดูแลและเลี้ยงสัตว์ทดลองแล้ว และมีแผนที่จะยื่นขอรับการรับรองมาตรฐานสากล Good Laboratory Practice (GLP) ของห้องปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2562-2563 นี้”


ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ศูนย์ได้รับบริการงานวิจัยให้กับหน่วยงานในประเทศ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในการทดสอบพิษวิทยาและประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออก และซิก้า และหน่วยงานต่างประเทศ เช่น CYPRUMED จากประเทศออสเตรีย ในการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของยารักษาโรคเบาหวานและโรคกระดูกพรุน และจาก University of California, San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการวิจัยเพื่อรักษาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ศูนย์มีหน่วยงานพันธมิตรจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ที่มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทั้งศูนย์โดยตรง หรือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 12 ฉบับ ซึ่งเป็นการการันตีถึงความพร้อมในการที่จะก้าวไปข้างหน้าและก้าวสู่ระดับสากลของศูนย์ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่าศูนย์จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ที่จะรองรับการพัฒนาและเพิ่มพูนศักยภาพทางด้านสาธารณสุข การผลิตยา และวัคซีน รวมทั้งการบริการงานวิจัย ทดสอบ และผลิตชีววัตถุ ที่ต้องใช้สัตว์กลุ่มลิง ให้แก่นักวิจัย บริษัทยา และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ


นอกจากนี้ยังจะช่วยยกระดับการแข่งขันงานวิจัยระดับสูงให้ทัดทียมประเทศที่พัฒนาแล้วเนื่องจากในขณะนี้ประเทศที่ถือได้ว่ามีศักยภาพสูงในทางเศรษฐกิจ เช่น อเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ต่างก็มีศูนย์ไพรเมทเพื่อรองรับการวิจัย ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับศูนย์วิจัยไพรเมทอื่นๆ ในเขตภูมิภาคเอเชีย และอเมริกา และกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และก้าวสู่การเป็นผู้นำในด้านงานวิจัยและทดสอบชีววัตถุในระดับพรีคลินิกในสัตว์กลุ่มลิง

Shares:
QR Code :
QR Code