เปิดชีวิต’แม่ผู้ต้องขัง”ลูก’คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
“แม้ร่างกายจะถูกกักขัง แต่หัวใจฉันโบยบินไปอยู่กับลูกตลอดเวลา คิดเสมอว่ายามหิวใครจะป้อนยามร้อนหนาวใครจะดูแล อ้อมกอดของคนอื่นจะอบอุ่นเท่าแม่ไหม”เสียงเล่าปนสะอื้น จากปากของ เอ (นามสมมุติ) แม่วัย 20 ปีต้นๆ ผู้กำลังรับโทษอยู่ในทัณฑสถานหญิงแห่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่แม่มีต่อลูก โดยไม่มีขอบเขตใดมาขวางกั้นได้
เธอบอกว่า มีลูกมาแล้ว 2 คน แต่ประสบการณ์ความเป็นแม่น้อยมาก เพราะความเป็นวัยรุ่น ยังอยากสวย อยากเที่ยวจึงยึดอาชีพนักร้องตามผับ และเพริดไปกับแสงสีเสียง แต่พอท้องคนที่ 3 เป็นช่วงที่ถูกจับในข้อหายาเสพติด ต้องเข้ามาอยู่ในทัณฑสถานหญิง จึงถูกกล่อมเกลาทั้งพฤติกรรม และจิตใจ ให้รู้จักรักและเอาใจใส่ลูกในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนคลอดเรื่อยมาถึงหลังคลอด
แม้ชีวิตจะไร้อิสรภาพ แต่ “เอ” บอกว่าทางทัณฑสถานหญิงได้ให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ เมื่อคลอดแล้วก็ได้สัมผัสอุ้มชู อาบน้ำ นวดตัว ให้นม และเล่านิทานให้ลูกฟัง ก่อให้เกิดความรักอย่างลึกซึ้ง
“เอ” ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดความรู้สึกเช่นนี้ได้ เป็นความปรารถนาที่จะให้ลูกได้อยู่ดีกินดี และได้ดีในทุกๆ เรื่องอย่างปราศจากเงื่อนไข ซึ่งความรู้สึกนี้ยังทำให้ย้อนทบทวนการกระทำของตัวเอง และรู้สึกผิดต่อแม่อย่างยิ่งที่เอาแต่ใจตัวเองเป็นหลัก ทำตัวไม่ดี ไม่สมกับความรักที่ท่านมอบให้ตลอดมา
เรื่องราวของ”เอ” เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนออกมาให้สังคมรับรู้ หากยังมีแม่ผู้ต้องขังอีกมากมายที่ไม่ต่างไปจาก “เอ”
สังวาลย์ เวชกิจ ผู้ดูแลศูนย์เลี้ยงเด็กทัณฑสถานเชียงใหม่ เล่าว่า จากการทำงานคลุกคลีกับกลุ่มแม่ผู้ต้องขังมาตลอด แบ่งกลุ่มของแม่ได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มแม่ที่ไม่รู้ตัวเองว่าตั้งครรภ์ มาทราบภายหลังจากต้องขังในเรือนจำแล้ว กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ทราบว่าท้องก่อนต้องขัง และกลุ่มสุดท้ายมีลูกติดมาเลี้ยงภายในเรือนจำด้วย
“นักโทษหญิงที่ตั้งครรภ์ จะถูกประเมินสุขภาพจิต และส่งเสริมความเป็นแม่ โดยช่วงแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ จะให้เพื่อนนักโทษหญิงที่เคยตั้งครรภ์มาก่อน คอยให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว กระทั่งอายุครรภ์เกิน 6 เดือน แม่จะได้รับอาหารเสริมไปจนถึงคลอด หลังจากนั้นทารกจะถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ 100 เปอร์เซ็นต์ จนอายุได้ 10 เดือน ถึงเตรียมตัวแยกลูก ให้ฝึกดื่มนมจากแก้ว และแยกนอนกับแม่ เนื่องจากเมื่ออายุครบ 1 ขวบเด็กจะถูกส่งไปอยู่กับญาติ หรือสถานสงเคราะห์บ้านเด็กเวียงพิงค์ ซึ่งแม่หลายคนยอมรับว่ารู้สึกทรมานใจมาก ที่ต้องพรากจากลูกที่เคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เกิด บางคนจะมีอารมณ์อ่อนไหว เห็นเด็กอ่อน หรือแม่คนอื่นอุ้มลูก ก็จะร้องไห้กับตัวเอง”
แต่ด้วยความจำเป็นที่บีบบังคับ เพราะพอครบ 1 ขวบ เด็กจะเริ่มจำความได้ ทางทัณฑสถานจึงมีกฎให้แยกลูกออกจากเรือนจำแต่ระหว่างนั้นญาติหรือทางสถานสงเคราะห์สามารถพาเด็กมาพบแม่ได้ตลอด และในกรณีที่ลูกมีอายุครบขวบปี ในระยะที่แม่ใกล้พ้นโทษ เหลือเพียง 1-3 เดือน ทางทัณฑสถานก็จะอนุญาตให้ลูกอยู่กับแม่ต่อไปเป็นกรณีพิเศษ
จากเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับ “ความเป็นแม่ของผู้ต้องขังหญิง” เพื่อหาคำตอบในการหาวิธีการดูแลสร้างเสริมสุขภาพให้กับแม่ผู้ต้องขัง รวมทั้งลูกน้อยด้วย
ดร.สรินยา ศรีเพชราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยประสบการณ์การเป็นแม่ของผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิง บอกว่า สุ่มเก็บข้อมูลจากทัณฑสถาน 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลกและธนบุรี จำนวนรวม 20 ตัวอย่าง จนได้ภาพรวมของความเป็นแม่ว่า
“แม้ร่างกายของผู้หญิงเหล่านี้จะถูกจองจำให้อยู่ภายในพื้นที่จำกัด เพราะต้องรับโทษ หากการเป็นแม่สามารถทำได้ และทำด้วยความตั้งใจจริงเพื่อให้ลูกเติบใหญ่ และอบอุ่นด้วยความรักของแม่ พวกเธอตั้งใจไว้ว่าจะดูแลลูกให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกของตนเดินซ้ำรอยเดิมของตน จนเข้ามาสู่เส้นทางที่ผิด และถูกจองจำอิสรภาพเช่นนี้”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่แม่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ “หวั่นกลัว” อยู่ลึกๆ พวกเธอกลัวว่า หากลูกเติบโตขึ้นจะไม่ยอมรับแม่ผู้เดินทางผิดพลาด”หัวหน้าโครงการวิจัยเผย
แม้จะหวาดกลัว แต่สิ่งเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแรงผลักดันให้คนเป็นแม่อยากทำความดีเพื่อลูก
“ลูกกลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงเหล่านี้ขวนขวายฝึกอาชีพและหาความรู้ใส่ตัว ซึ่งในทัณฑสถานจะมีกองงานฝึกอาชีพ เช่น งานครัว พี่เลี้ยงเด็ก เย็บปักถักร้อย เสริมสวย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เพิ่มเติมความรู้จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเปิด เพื่ออนาคตวันหนึ่งจะได้กลับไปเป็นแม่ที่ดีของลูก” ดร.สรินยากล่าวทิ้งท้าย
เป็นกำลังใจให้พวกเธอ เป็นแม่ที่ดีของลูกและกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมั่นใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต