เปิดชีวิตทนทุกข์ของ `นักสูบ`

          ถ้าคุณสูบบุหรี่ แล้วป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีช่วงที่คุณแค่นั่งเฉยๆ ก็เหนื่อยหอบ แม้แต่นอนก็ยังเหนื่อย! ซึ่งคุณต้องเป็นแบบนั้นไปตลอดชีวิต!! คุณอยากเป็นแบบนั้นมั้ย?… นี่เป็นคำกล่าวส่วนหนึ่งของการสนทนากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 


          ขอต้อนรับ "วันงดสูบบุหรี่โลก" 31 พฤษภาคมนี้ ด้วยการตอกย้ำความน่ากลัว และความสูญหายที่เกิดจาก "การสูบบุหรี่" ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จนก่อให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ที่ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานไปจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต


         เปิดสถิติคนไทยตายจาก "บุหรี่" เท่าไหร่?


         นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยข้อมูลว่า ในหนึ่งปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละกว่า 50,000 คน โดยปี 2554 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 9.9 ล้านคนสูบบุหรี่ประจำ เด็กไทยอายุ 15-24 ปีเริ่มสูบบุหรี่เร็วขึ้น โดยเริ่มสูบอายุเฉลี่ย 16.2 ปี


         ขณะที่ผลสำรวจของคณะทำงานภาระโรคฯ กสธ. ระบุว่า ในปี 2552 มีคนไทยจำนวน 50,710 คน เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ และบุหรี่เป็นสาเหตุของการสูญเสียเวลาแห่งชีวิตเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทำให้เสียเวลาชีวิต เพราะตายก่อนเวลารวมกัน 628,061 ปี และสูญเสียภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184 ปี นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย 52,200 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP ขณะที่ในแต่ละปีทั่วโลกมีคนเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 6 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 600,000 คน เสียชีวิตจาก "ควันบุหรี่ มือ 2" ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อในปอด


/data/content/24452/cms/e_bceijlmopz23.jpg


        2 ปีสุดท้าย "คุณภาพชีวิต" เท่ากับศูนย์ เป็นอย่างไร?


        แน่นอนว่า การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานจนเกิดโรคนั้น ไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะจะมีผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของเรา ซึ่ง ศ. นพ.ประกิต วาทีสาธกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่คุณภาพพรีเมี่ยม หรือราคาต่ำ ต่างก็ส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น บางยี่ห้อเพิ่มสารนิโคตินเข้าไป เพื่อให้เกิดการเสพติด ขณะเดียวกัน ยังเสี่ยงการเกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ทั้งนี้ มีการคำนวณว่า คุณภาพชีวิต 2 ปีสุดท้ายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ คือ 0 เพราะจะต้องอยู่แต่ในห้องไอซียู ต้องใช้ทรัพยกรจำนวนมาก เพื่อคอยดูแล


       "คุณภาพชีวิตของคนเรามีเกณฑ์ตั้งไว้ คือ 1 และเขาจะมีเกณฑ์ว่า คนที่แขนขาด ขาขาด หรือป่วยโรคใดโรคหนึ่งจะ คุณภาพชีวิตจะถูกหักลงไปเท่าใด ซึ่งสำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น คุณภาพชีวิตจะเป็น 0 ทันที ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต และต้องทนทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก ทำอะไรไม่ได้เลย" ศ.นพ.ประกิต กล่าว


/data/content/24452/cms/e_achlmnst3489.jpg


       ด้าน นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา แพทย์ประจำหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) องครักษ์  เปิดเผยถึง "ความทุกข์ และทรมาน" ของโรคถุงลมโป่งพอง โรคที่ไม่เคยหยุดเดินหน้าเพิ่มความรุนแรง!


       หากเปรียบเทียบภาพให้เห็นอย่างชัดเจน ในระยะแรกจะมีความรู้สึกเหมือนไม่เป็นอะไรเลย แต่เมื่อโรคเดินหน้าไปสักระยะหนึ่ง คุณภาพการทำงานของปอดจะเริ่มเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ เริ่มไอ มีเสมหะ จนเป็นเรื้อรัง


        ถัดมา เริ่มมีอาการหอบเหนื่อย ซึ่งจะหอบเฉพาะเวลาออกแรงเยอะๆ เช่น จ็อกกิ้ง วิ่งมาราธอน หรือออกกำลังหนักๆ จากนั้นพอโรคเดินหน้าไปอีก อาการหอบเหนื่อยจะเป็นเร็วขึ้น แม้ไม่ได้ทำงานหนักก็จะรู้สึกเหนื่อยงาน เช่น เข้าห้องน้ำก็เหนื่อย ทำอะไรก็จะเหนื่อยง่าย เดินขึ้นบันไดก็เหนื่อย จนกระทั่ง จะนั่งเฉยๆ หรืออยู่นิ่งๆ ก็เหนื่อย สุดท้าย แม้นอนก็ยังรู้สึกเหนื่อยหอบ จนนอนไม่ได้!


       นพ.สุทัศน์ ยังเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ เคยบันทึกภาพการสัมภาษณ์คนไข้รายหนึ่งซึ่งเป็นนายตำรวจ ที่เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุ 40 ปี ซึ่งตอนนี้เขาเสียชีวิตลงแล้ว แต่ได้พูดถึงอาการป่วยไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเขาบอกว่า เขาเสียดายชีวิตของตัวเองอย่างมาก


       "ตัวท่าน ณ ขณะนั้น รู้สึกเสียดายชีวิตของตัวเองมาก เพราะตอนที่ป่วยอายุแค่ 40 กว่า ท่านบอกว่า เป็นจนถึงขั้นที่ว่า นอนก็ยังเหนื่อย นอนไม่ได้ เพราะว่าเหนื่อยมาก และถ้าให้ท่านเลือกได้ ขอเลือกที่เป็นมะเร็งปอดดีกว่า ตายแน่นอน แต่ถุงลมโป่งพองนั้น ไม่รู้วันตาย ซึ่งทุกๆ วันที่มีชีวิตอยู่ คือ วันที่ทรมาน" นพ.สุทัศน์เล่า


/data/content/24452/cms/e_dfgmpqxz1369.jpg


       ตะเกียกตะกายเหมือน "คนจมน้ำ" คือ วาระสุดท้ายของชีวิต


       นพ.สุทัศน์บอกว่า หากมีคนมาเห็นคนไข้ที่ป่วยจากการสูบบุหรี่ในวาระสุดท้าย หรือที่กำลังจะเสียชีวิต จะรู้สึกเศร้าใจอย่างมาก เพราะจะรู้สึกว่า "โรคนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในโลกนี้"


        และหากให้เปรียบเทียบว่า คนไข้ถุงลมโป่งพองที่กำลังจะเสียชีวิต จะต้องเจอกับอะไรนั้น นพ.สุทัศน์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ "คนจมน้ำ" ซึ่งหากใครเคยเห็นคนจมน้ำต่อหน้า หรือเคยจมน้ำเสียเอง จะเข้าใจความรู้สึกนี้


        "ถ้าเราจินตนาการดูว่า ตอนจมน้ำใหม่ๆ เรายังมีเรี่ยวแรง เราจะตะเกียกตะกายพ้นน้ำด้วยตัวเรา เราจะเอาปาก จมูกขึ้นมาเหนือน้ำได้เร็วและบ่อย เพื่อหายใจ เหมือนถุงลม ระยะแรกๆ ที่ป่วย ก็เป็นแบบนั้น แต่พอจมอยู่นานเข้าๆ เรี่ยวแรงที่มีก็เริ่มหด เริ่มเหนื่อยล้า ระยะเวลาที่อยู่ใต้น้ำก็เริ่มนานขึ่น เช่นเดียวกับอาการป่วยที่ก้าวหน้ามากขึ้น เริ่มหายใจไม่ออก ในที่สุดก็ต้องอยู่ใต้น้ำ และรวมกำลังขึ้นมาเหนือน้ำ แบบนานๆ ที ซึ่งระยะเวลานี้ก็จะยาวขึ้นๆ และสุดท้ายเมื่อไม่มีเรี่ยวแรงพอมาพ้นน้ำ ก็จะเสียชีวิต" นพ.สุทัศน์อธิบาย


        ไม่ใช่แค่ "คนไข้" ที่คุณภาพชีวิตแย่ลง!


        การป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ไม่ได้กระทบเพียงแค่ "ผู้ป่วย" เท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงคนรอบข้างที่ต้องคอยดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต ที่กินเวลาหลายปี ซึ่งหมายรวมถึงการสูญเสียรายได้อีกด้วย


        จากการสอบถามค่ารักษาพยาบาลจาก นพ.สุทัศน์ เพื่อดูแลคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง พบว่า ค่าพยาบาลจากการรักษาที่ดีที่สุดตามมาตรฐานนั้นตกอยู่ที่คนละ 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งโรคนี้ เมื่อเป็นแล้ว มีระยะเวลาที่จะมีชีวิตอยู่อีกประมาณ 15-20 ปี นั่นหมายความว่า คนไข้จะต้องมีเงินรักษาโรคนี้อยู่ประมาณ 450,000-600,000 บาท และยังไม่รวมถึงค่ารักษา "โรคไซด์ไลน์" ที่อาจเข้ามาแทรกอีก เช่น โรคต้อกระจก อาจตาบอดได้ บางคนเกิดโรคกระดูพรุน กระดูกบางลง และหัก กล้ามเนื้อเนื้อลีบ โรคหัวใจ โรคหัวใจตีบตัน โรคความดันโลหิตสูง บางคนมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย


        "เราต้องอยู่กับโรคไปอีกประมาณ 15-20 ปี ซึ่งช่วง 10 ปีสุดท้ายน่ากลัวมาก ที่คนป่วยทุกคนมองย้อนกลับไปแล้วว่าไม่อยากจะเป็นแบบนี้ จะเป็น 10 ปีที่จำไปจนวันตาย และมันไม่ใช่แค่เรานะ ที่ต้องเสียเงินรักษา แต่พอเราป่วยแล้ว เราสูญเสียรายได้ คนที่มาดูแลเรา เขาก็อาจสูญเสียรายได้ไปด้วย และหากเรา 2 คน เป็นเสาหลักของครอบครัวล่ะ เราจะหารายได้จากทางไหนได้?" นพ.สุทัศน์ ระบุ


         การเลิกสูบบุหรี่ คือ หนทางที่ดีที่สุด ที่แพทย์ทั้ง 2 แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นเลิกสูบตอนที่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคแล้ว หรือตอนที่ยังไม่เกิดโรค เพราะยังมีบางคนที่คิดว่า "ไหนๆ ก็เป็นแล้ว" ก็ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่จะทำให้ผู้สูบนั้น "อายุสั้นลง" เพราะบุหรี่ 1 มวล ทำให้ชีวิตสั้นลง 7 นาที และทำให้โรคที่ป่วยอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้น!


        นพ.สุทัศน์บอกว่า แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้โรคนี้หายได้ เพียงแต่วิวัฒนการทางการแพทย์จะช่วยให้เราอยู่กับมันได้แบบ "ไม่ทรมาน หรือทำร้ายกัน" มากนัก ทั้งการใช้ยาสูตร หรือยาพ่น ซึ่งการเลิกบุหรี่ และออกกำลังกายจะช่วยได้อย่างมาก


        "ในความเป็นจริง เป็นโรคถุงลมโป่งพอง เป็นมะเร็ง การหยุดบุหรี่ หรือเลิกบุหรี่ จะเกิดประโยชน์ที่ชัดเจน คือ โรคจะดำเนินช้าลง ซึ่งมีการเปรียบเทียบว่า คนที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดแล้วเลิก กับยังไม่เลิก พบว่า คนที่ดื้อด้าน คือ ตายอย่างทนทุกข์ทรมานจริงๆ จะเหนื่อยหอบมากๆ ขณะกำลังจะเสียชีวิต ดังนั้น เลิกสูบดีที่สุด"


         เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ประกิจที่ระบุว่า เลิกเมื่อไหร่ก็ได้ประโยชน์เมื่อนั้น โดยในประเทศอังกฤษมีการทำวิจับเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ เปรียบเทียบคนที่เลิกสูบบุหรี่ และยังสูบบุหรี่ต่อไป พบว่า


       คนอายุ 60 ปี คนที่เลิกบุหรี่จะอายุยืนกว่าคนอายุ 60 ที่ยังไม่เลิก 3 ปี


       คนอายุ 50 ปี คนที่เลิกบุหรี่จะอายุยืนกว่าคนอายุ 50 ที่ยังไม่เลิก 6 ปี


       คนอายุ 40 ปี คนที่เลิกบุหรี่จะอายุยืนกว่าคนอายุ 40 ที่ยังไม่เลิก 9 ปี


       คนอายุ 30 ปี คนที่เลิกบุหรี่จะอายุยืนกว่าคนอายุ 30 ที่ยังไม่เลิก 10 ปี


/data/content/24452/cms/e_dgqrtuvx1457.jpg


       ตอกย้ำ "คุณค่าของชีวิต" ไม่ควรหยุด เพราะบุหรี่!


        ศ.นพ.ประกิตกล่าวย้ำว่า คนสูบบุหรี่มักคิดว่า "มันไม่เกิดกับตัวเองหรอก มันคงเกิดกับคนอื่น" และใช้จิตวิทยา เพื่อปลอบตัวเอง


        "เขาต้องเข้าใจว่ามันมีความเสี่ยงมันสูง 50-50 ถ้าสูบไปเรื่อย ไม่ตายจากอุบัติเหตุ ก็จะป่วยตาย เพราะฉะนั้น ถ้าเลิก จะได้คุณภาพที่ดีขึ้น อายุยืน และบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนโชคดี เพราะความเสี่ยงนี้สูงอันที่ 2 จำนวนคนไทยก็ควรตัดสินใจได้แล้ว" ศ.นพ.ประกิต กล่าว


        ขณะที่ นพ.สุทัศน์ คิดว่า บุหรี่เป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงที่สุดที่มีมาในชีวิตตั้งแต่เป็นแพทย์ "คิดว่าเป็นยาเสพติดร้ายแรง แต่เป็นยาเสพติดที่มีช่องโหว่งอย่างหนึ่ง คือ พอจะเลิกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ยังไม่ป่วย รีบเลิกเสียแต่วันนี้ ก่อนจะเกิดโรค เพราะถ้าเป็นแล้วจะเสียใจไปตลอดชีวิต และจะย้อนกลับไม่ได้ ไม่มีโอกาสแก้ไขมันอีก" นพ.สุทัศน์ ทิ้งท้าย


        "เลิกบุหรี่ตั้งแต่วันนี้ เพื่อหนีคุณภาพชีวิตเป็นศูนย์ ไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว และเสียค่ารักษากว่าครึ่งล้าน ไม่ต้องเสี่ยงกับการกระเสือกกระสนหายใจ และทรมานในช่วงสุดท้ายของชีวิต" คือ สิ่งที่ "ไทยรัฐออนไลน์" รับรู้จากการพูดคุยกับแพทย์ทั้ง 2 คน และหวังว่า สิ่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกระตุ้น สร้างความตระหนัก และตอกย้ำ "นักสูบ" ทั้งหลายให้คิดถึงคุณค่าของชีวิตที่ต้องไม่จบไปเพราะ "บุหรี่"


 


 


         ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ 


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code