เปิดค่ายพลังเยาวชนพอเพียง เติมหลักคิดติดอาวุธทางปัญญา

          เปิดค่ายพลังเยาวชนพอเพียง นำเยาวชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์


/data/content/24623/cms/e_abempsv13459.jpg


          การพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้ามุ่งสู่ความทันสมัยตามกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วิถีวัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม เกิดผลทั้งทางด้านบวกและด้านลบ ทั้งส่วนที่เกื้อหนุนให้ประเทศมีความเจริญทัดเทียมประเทศอื่น ขณะเดียวกันก็เกิดความอ่อนแอของสังคมจากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่หลั่งไหลเข้ามาโดยไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ การปลูกฟังสร้างความเข้าใจตามหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาช้านาน เป็นแนวทางที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไหลบ่าอย่างรุนแรง


          หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่เพียงแต่เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนอนาคตของชาติในการนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นได้อีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามโครงการ "ค่ายพลังเด็กและเยาวชนกับการขับเคลื่อนประยุกต์ใช้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (มพพ.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ ต.ป่าขะ อ.บ้านนา จ.นครนายก จึงเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่เยาวชน จากหลายพื้นที่ของประเทศได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานใน 3 ประเภทโครงการ ได้แก่ โครงการด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม  และโครงการ  "รักษ์น้ำ รักษ์ปราณบุรี"  ที่มี ทวีศักดิ์ เริ่มภักดิ์ และกนกพล จันทร์ดารัตน์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมดำเนินการกับเพื่อนๆ ในโรงเรียน เป็นตัวอย่างของการทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในโรงเรียนและได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ในการนำไปขยายผลให้กว้างขึ้น


/data/content/24623/cms/e_cdfnopstv349.jpg


          ทวีศักดิ์ เล่าว่า เข้ามาทำโครงการ "รักษ์น้ำ รักษ์ปราณบุรี" เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์แม่น้ำปราณบุรี ปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวปราณบุรี เนื่องจากพบว่าลำน้ำมีความสกปรกจากการทิ้งขยะและน้ำเสีย มีกลิ่นเหม็น บางช่วงมีวัชพืชผักตบชวาอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะระยะทางที่ไหลผ่านโรงเรียนประมาณ 400 เมตร จึงทำการศึกษาสำรวจและเก็บวิเคราะห์ข้อมูล วางเป้าหมายลดปริมาณขยะและวัชพืช กำหนดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของเพื่อนนักเรียน พร้อมๆ กับการได้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วย "โรงเรียนของพวกเรามีแม่น้ำปราณบุรีไหลผ่าน มีปัญหาเรื่องความสกปรกมีกลิ่นเหม็น ก็เลยสำรวจข้อมูลกันก่อน แล้วมาวางแผนกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร"


          กนกพล เสริมว่า เมื่อศึกษาแล้วพบว่าวัชพืชพวกผักตบชวาถ้ามีปริมาณมากเกินไป ไม่มีช่องว่างจะทำให้เกิดน้ำเน่าได้ หากมีปริมาณที่เหมาะสมผักตบชวาจะดูดเอาเศษตะกอนไปเป็นอาหารทำให้น้ำใสขึ้น และเห็นตัวอย่างการทำกระชังที่เพชรบุรีจึงคิดว่าน่าจะมาประยุกต์ใช้สำหรับกั้นผักตบชวา นำไปปรึกษากับอาจารย์ด้านช่างให้ช่วยออกแบบให้ อาจารย์ด้านเกษตรก็จะช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการทำปุ๋ย เมื่อเก็บผักตบชวาได้ก็จะเอามาทำปุ๋ยใช้กับสวนในโรงเรียน ส่วนอาจารย์ด้านแนะแนวก็ให้คำแนะนำการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการปลูกหญ้าแฝกเสริมริมตลิ่ง เพื่อป้องกันการทลายของดินอีกด้วย "พวกเราแบ่งหน้าที่กันทำ นักเรียนทุกห้องมีส่วนร่วม ถ้าไม่ไหวก็ขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ จากการที่เราได้ทำโครงการทำให้เรารู้จักหลักคิด มีเหตุผลรู้จักการคิดวิเคราะห์วางแผน พอประมาณกับกำลังที่มีอยู่สอนให้พึ่งตัวเองก่อนไปพึ่งคนอื่น"


          ขณะที่ ส่งศักดิ์  ริยะป่า นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจักรคำคณาทร อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งกำลังจะศึกษาเข้าระดับอุดมศึกษาเป็นนักศึกษาแพทย์ในภาคการศึกษาหน้า หัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ "ละอ่อนหละปูนฮักบ้านเกิดอย่างพอเพียง"  ริเริ่มรวมกลุ่มเยาวชนเพื่อนักเรียนศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนไก่แก้วที่อยู่ใกล้โรงเรียน นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมาเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของท้องถิ่นตนเองภายใต้หลักคิดพอเพียง "พวกเราได้เข้าไปศึกษาวิจัย พบว่าชุมชนรอบโรงเรียนเรามีของดีอยู่ ชุมชนแถบนั้นจะมีอาชีพทำกลองขาย มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้อยู่มาก เราจึงได้รวมกลุ่มสมาชิกเยาวชนประมาณ 30 คน เข้าไปสืบค้นข้อมูลประวัติชุมชน วิถีชีวิต สถานที่และบุคคลสำคัญ เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็นำมาจัดทำนิทรรศการ เผยแพร่ให้นักเรียนได้รับรู้ในวงกว้าง ซึ่งผู้ทำโครงการเองก็ได้เรียนรู้ร่วมกันไปด้วย"


          จินางค์กูร โรจนนันต์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาทางสังคม สศช. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รวมองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในหลายๆ ด้านไว้ ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้นำไปใช้และขยายผลไปสู่วงกว้าง รวมทั้งการทำงานผ่านมูลนิธิ ซึ่งไม่ใช่แค่การให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้มีการขับเคลื่อนในด้านการปฏิบัติด้วย ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับ สสส.ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งโครงการด้านเด็กและเยาวชนและโครงการด้านนวัตกรรม


          ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาทางสังคม สศช. เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ได้รับทุนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมาชิกสภาเยาวชนจังหวัดต่างๆ มาอบรมการคิดเชิงระบบได้เห็นตัวอย่าง และนำไปคิดวิเคราะห์ ลงมือปฏิบัติ ซึ่งบางโครงการก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และในบางโครงการสถาบันการศึกษาให้ความสนใจ พร้อมที่จะดำเนินโครงการต่อยอดต่อไป


          "เป้าหมายสำคัญก็คือโครงการเป็นเพียงเครื่องมือให้รู้จักตัวเอง ให้รู้จักหลักคิด รู้จักวิธีการแก้ปัญหา เด็กได้ประสบด้วยตัวของเขาเอง บางโครงการล้มเหลวเพราะคิดใหญ่ไป แต่สิ่งที่ได้คือกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งสามารถกลับไปแก้ปัญหาและทำได้อีก" นี่คือส่วนหนึ่งการติดอาวุธทางความคิดให้เยาวชน ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง


 


         


         ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ