เปลี่ยน ‘เลน เป็น ป่า’ สร้างสุขที่บ้านหินดาษ

ป่าชายเลน เป็นทรัพยากรที่สำคัญและให้ประโยชน์ทั้งในด้านป่าไม้ ประมง และรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ป่าชายเลนได้ถูกทำลายลงด้วยกิจกรรมต่างๆ อยู่เป็นประจำ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องหาแนวทางในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าชายเลนให้ได้ผลเต็มที่ตลอดไป และในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศด้วย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ยั่งยืนต่อไปในการอนุรักษ์ป่าชายเลน

อย่างที่ หมู่ 6 บ้านหินดาษ ต.บางปิด จ.ตราด ที่นี่เคยประสบปัญหานายทุนนอกพื้นที่ มาซื้อที่ดินลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนในหมู่ 6 บ้านหินดาษ ต่างพากันได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ไหนจะเรื่องของการประกอบอาชีพหลักของชาวบ้าน นั่นคือ ประมงน้ำตื้น แล้วอะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

เทวัญ ลั่นทม ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน (ป่าชายเลน) ของหมู่ 6 บ้านหินดาษ ต.บางปิด อ.แหลมงอบ จ.ตราด เล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เกิดจาก กลุ่มนายทุนที่เข้ามาลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ได้จัดการบุกรุกทำลายป่าชายเลนของชุมชนบ้านหินดาษ เท่านั้นยังไม่พอ ยังปล่อยน้ำเสียลงคลอง ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำของชุมชนบ้านหินดาษพลอยได้รับความเสียหายไปด้วย จากเดิมที่เคยสามารถจับสัตว์น้ำมาบริโภค และจับมาขายเพื่อเลี้ยงชีพลดลง ท้ายที่สุดชาวบ้านทนความเดือดร้อนไม่ไหว จึงได้เรียกประชุมชาวบ้านรวมตัวกัน เพื่อทำการกดดัน และขับไล่นายทุนที่เข้ามาทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนออกจากหมู่บ้านไป เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 ระยะแรกเมื่อขับไล่นายทุนออกนอกพื้นที่แล้ว ก็รวบรวมชาวบ้านมาช่วยกันปลูกป่า ซ่อมแซมพื้นที่ ที่ถูกทำลายไป เมื่อชาวบ้านเริ่มปลูกป่า กลางคืนนายทุนกลุ่มเดิม ที่ถูกไล่ที่ออกไป ก็ส่งลิ่วล้อแอบเข้าพื้นที่มาถอนต้นไม้ออก เรียกว่าร่วมกันเร่งปลูกป่า แล้วช่วยกันไล่คนถอนออกไปให้พ้นจากพื้นที่ ก็ทำอย่างนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งปีถัดมา ผู้ใหญ่ก็ขอการสนับสนุนไปยังอำเภอฯ ต.บ้านน้ำเชี่ยว เพื่อขอสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ เพื่อนำมาปลูกเพิ่ม

ระบบนิเวศป่าชายเลน จะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์น้ำกับป่าชายเลนนั้นมีมากมาย หากมีการทำลายป่าชายเลนลงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้จะหมดไป และในที่สุด ทรัพยากรสัตว์น้ำก็จะลดปริมาณลง หรือหมดไปอีกด้วยจากป่าชายเลนโดยเฉพาะไม้โกงกางมาทำถ่าน นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ทำเสาเข็ม สร้างบ้าน และในปัจจุบันอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการกลั่นไม้จากป่าชายเลน

“ต่อมาในปี 2548 ได้มีกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับ อบต.บางปิด เพื่อทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในนามวันแม่ 12 สิงหาคม โดยทางเราจัดทำป้ายขนาดใหญ่ นำไปปักไว้บริเวณที่เราเข้าไปปลูกป่า เพื่อต้องการประกาศให้นายทุนรู้ว่า ป่านี้ปลูกขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ทำให้นายทุนขยาดไม่กล้ากระทำการเหิมเกริมเช่นเดิม คือบุกรุกเข้ามาถอนต้นไม้ที่ชาวบ้านร่วมกันปลูกเอาไว้ แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง จากเดิมที่เริ่มปลูกป่าเพียง 5 ไร่ ชาวบ้านหินดาษและใกล้เคียงมาช่วยกันปลูกเพิ่มเรื่อยๆ ขยายเป็นวงกว้างออกไปเพิ่มขึ้น 15 ไร่ และเข้าไปปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่นายทุนบุกรุก ปัจจุบันมีบริเวณป่าชายเลนที่ปลูกไว้ถึง 60 ไร่ และยังมีการปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2551 ได้งบประมาณเพิ่มเติมจาก โครงการอยู่ดีมีสุข ทำให้เพิ่มแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ก่อให้เกิดแหล่งอาหาร ชาวบ้านทำมาหากินได้ตามปกติ สามารถจับสัตว์น้ำชายฝั่งส่งขายได้เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงครอบครัวจนถึงปัจจุบัน” เทวัญ บอก

ป่าชายเลน เป็นกลุ่มของสังคมพืช ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีลักษณะทางเสรีวิทยาและการปรับตัวทางโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน และการขึ้นของพรรณไม้ในป่าชายเลน จะขึ้นอยู่กับแนวเขตซึ่งผิดแปลกไปจากสังคมพืชป่าบก ทั้งนี้เพราะอิทธิพลจากลักษณะของดิน ความเค็มของน้ำทะเลและการขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นสำคัญ สำหรับแนวเขตที่เด่นชัดของป่าชายเลน ได้แก่ โกงกาง ทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ ไม้แสม ไม้ประสัก ไม้ตะบูน และไม้เสม็ด นับวันป่าชายเลนเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศที่มีทรัพยากรประเภทนี้ ประเทศไทยใช้ทรัพยากรป่าชายเลน ทั้งทางด้านป่าไม้ และด้านประมง โดยเฉพาะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ และเป็นแหล่งอนุบาลในด้านป่าไม้ ผลิตผลที่ได้จากป่าชายเลน ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้มาก ก็คือ การนำไม้โดยเฉพาะผลิตผลด้านเมทิลแอลกอฮอล์ กรดน้ำส้ม น้ำมันดิบ เป็นต้น สำหรับในด้านการประมง ป่าชายเลนถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญต่อสัตว์น้ำนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพวกกุ้ง หอย ปู และปลา วงจรชีวิตของสัตว์น้ำเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับป่าชายเลนอย่างมาก ทั้งในด้านเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งเพาะพันธุ์ และการเจริญเติบโต ป่าชายเลนสามารถผลิตอาหารแร่ธาตุหลายชนิด โดยได้จากการร่วงหล่นและสลายตัวของเศษไม้ ใบไม้

ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลบางปิด ได้เป็นหนึ่งใน “ตำบลสุขภาวะ” โดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ซึ่งนับเป็นตำบลที่ได้ขับเคลื่อนตามโครงการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ