เปลี่ยน ‘ราชภัฏ’ เป็นศูนย์ปฏิบัติการชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน สถาบันการศึกษาก็ต้องเปลี่ยน มหาวิทยาลัยราชภัฏจากบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างครูดีมีคุณภาพเพื่อเป็นแกนนำหลักในการช่วยพัฒนาประเทศ ถึงวันนี้ต้องปรับบทบาท เพราะการสร้างครู หรือการให้บริการทางวิชาการอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ใช้กลไกมหาวิทยาลัยนำมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น โดยใช้ศาสตร์พระราชาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการจัดการชุมชนท้องถิ่น
ในงานเสวนา "ยุทธศาสตร์ใหม่ มหาวิทยาลัย คู่ความร่วมมือชุมชนท้องถิ่น" ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานภายใต้เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชาร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 1-2 มีนาคมที่ผ่านมา บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก
ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อธิบายถึงที่มาของยุทธศาสตร์ใหม่ที่ใช้กลไกมหาวิทยาลัยนำมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นตามพระราโชบายว่า เมื่อ 25 ปีก่อนวิทยาลัยครูผลิตครูอย่างเดียว มาปี 2535 เมื่อคิดจะปรับเปลี่ยนและขอพระราชทานนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม "ราชภัฏ" แปลว่า "คนของพระราชา" จึงคิดว่าทรงอยากให้ราชภัฏเป็นตัวแทนทำงานในท้องถิ่นต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระองค์ท่าน และยังพระราชทานพระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย มาถึงรัชกาลที่ 10 ทรงศึกษาและสืบทอดพระราชภารกิจแทนพระองค์ท่าน และรับสั่งให้ราชภัฏทำงานเพื่อท้องถิ่น
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทั้งสองรัชกาล เราจึงรวมพลังและจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เรียกว่า ยุทธศาสตร์ของราชภัฏในการพัฒนาท้องถิ่นตามพระราโชบายของ รัชกาลที่ 10 ซึ่ง ผศ.ดร.เรืองเดชบอกว่า หนึ่งใน 4 บทบาทของราชภัฏนอกเหนือจากการผลิตครู พัฒนาคุณภาพการศึกษาของราชภัฏ การบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ "ต้องเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น" มหาวิทยาลัยลงท้องถิ่นด้วยศาสตร์พระราชา เราใช้คำว่า "พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม" คือการทำงานร่วมกัน ซึ่งก่อนจะออกไปเราต้องมีองค์ความรู้ที่ชัดเจน ซึ่งเกิดจากการทำวิจัย และสิ่งที่จะทำต้องเกิดจากความต้องการของท้องถิ่นเท่านั้น ต้องเป็นการทำงานด้วยกัน และดูว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร โดยเป็นการทำงานกันเป็นเครือข่าย เช่น ทำงานกับ สสส. สกว. สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ โดยราชภัฏ ทั้งหมด 38 แห่ง ร่วมกันดูแลพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ
ทางด้าน สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ บอกว่า องค์กรท้องถิ่นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นฐานของประเทศ ถ้าเราสามารถทำให้สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรท้องถิ่นได้ สุดท้ายฐานของประเทศก็จะเข้มแข็ง
"เรามักจะโทษท้องถิ่น โทษชาวบ้านว่าไม่พร้อม ถ้าเราจะให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง มหาวิทยาลัยสามารถไปทำตรงนั้นได้ เราควรจะมองใหม่ว่าเราไปช่วยสร้างให้เขาพร้อม เมื่อเขาพร้อม เขาเข้าใจ เขาเปลี่ยนวิธีคิด มันก็จะไปถึงประชาชน ฉะนั้นความไม่พร้อมเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะไปเติมเต็มให้กับเขา เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาโครงสร้างราชการแผ่นดินเป็นตัวตั้ง แล้วมันจะไปสู่ความสำเร็จ" สมพรบอก การเปลี่ยนวิธีคิด ทำได้ เขารับได้ แทนที่จะมุ่งรอ แต่ความช่วยเหลือของรัฐ เปลี่ยนเป็นลุกขึ้นทำด้วยตนเอง การจัดงานครั้งนี้จึงเห็นชุมชนมากมายเข้ามาร่วมงาน เพราะอยากจะมาดูว่าท้องถิ่นอื่นทำอย่างไร และนำกลับไปประยุกต์ใช้กับท้องถิ่นตนเอง นี่คือ "การระเบิดจากข้างใน" โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงแต่ท้องถิ่นจะได้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้มากมายจากท้องถิ่นเช่นกัน
ขณะที่ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบัน พระปกเกล้า ชวนให้คิดว่า ถ้ามหาวิทยาลัยจะพูดเรื่องศาสตร์พระราชา มหาวิทยาลัยต้องทำก่อน "ชุดความรู้มี 2 ชุด คือชุดความรู้ในตำรา และชุดความรู้ในท้องที่ เมื่อไหร่มาเจอกันแล้วทำให้เกิด Co-Creation of Knowledge การสร้างสรรค์ร่วมกันขององค์ความรู้ใหม่ นั่นคือการปฏิสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยกับท้องถิ่น คือมีองค์ความรู้ที่สร้างขึ้น เพื่อตอบโจทย์พื้นที่"
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องมีคือ 1.ต้องมีมายด์เซตเรื่อง การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา 2.ที่เราพูดกันมากคือ "ระเบิดจากข้างใน" ต้องเริ่มต้นจากปัญหาที่เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่เริ่มจากที่เราอยากทำ 3.มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งต้องใช้ "ภูมิสังคม" แปลว่าไม่ใช่ซิงเกิลโมเดล แต่ต้องออกแบบตามลักษณะของท้องถิ่น
"เทรนด์ของพื้นที่วันนี้มีแรงกระแทกเข้าไปที่พื้นที่เยอะมาก เช่น ประเทศกำลังพัฒนาด้วยสปีดและ ความเชื่อเรื่องไทยแลนด์ 4.0 แต่คำถามคือ มันแปลว่าอะไร 'ประชารัฐ' ต้องทำให้ Local Business อยู่ได้ ทำให้ Local Entrepreneur อยู่ได้ ไม่ใช่ทำให้ทุนใหญ่กินทุนเล็ก และต้องมี 'ดุลยภาพ' ด้วย"
เทรนด์ที่ผมพูดจึงมีทั้งโอกาสและภาระ เราพูดว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่เราต้องดูให้ดีนะว่า มีใครที่ยังมาไม่ถึงสถานีหรือเปล่า
ท่ามกลางปัญหาของประชากรรุ่นใหม่ลดน้อยลง มหาวิทยาลัยแย่งชิงนักเรียน ศ.วุฒิสารบอกว่า เห็นด้วยกับการที่จะต้องทลายกำแพงระหว่างคณะ แล้วเน้นที่เรื่องของ "ฮิวแมนรีสอร์ซ" (ทรัพยากรมนุษย์) "เรื่องการเรียนรู้วันนี้เด็กไม่ได้ต้องการเรื่อง ดิจิทัล ผมคิดว่า 1.ประสบการณ์ และ 2.ฮิวแมน ทัช ความเป็นฮิวแมนิซึ่ม ฉะนั้นเราต้องมีโทนในการสร้างเขาให้เป็นฮิวแมนิสต์"
คำว่าชุมชนท้องถิ่น ผมมองเรื่องพื้นที่รับผิดชอบ ผมมองเรื่องโคครีเอชั่น โนวเลจ มองเรื่องอนาคต ใช้พื้นที่เป็นโซเชียลแล็บ และทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาพใหญ่
มหาวิทยาลัยต้องมี 4 อย่างคือ อินโนเวชั่น ปรับตัวง่าย ต้องเชื่อมกับส่วนราชการกับชุมชน และมีความโปร่งใส
จากบนเวทีเสวนา มาฟังคนทำงานในพื้นที่จริง ดร.รัชดา คำจริง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ.) อธิบายให้ฟังถึงที่มาของการเป็นแกนหลักเชื่อมต่อระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏในการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย 1 มหาวิทยาลัยจะทำงานร่วมกับ 42 อปท.ในพื้นที่ว่า ปี 2552-2557 มหาวิทยาลัย หลายแห่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาตำบลสุขภาวะและจังหวัดน่าอยู่จาก สสส. หนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
"เราได้รับงานจาก สสส.เป็นตำบลสุขภาวะ ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งตอนนั้นเราให้บริการทางวิชาการ แต่หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็น สสส. หรือ สกว. ลงมาหาเรา กับแนวคิดในการทำงานในเชิงพื้นที่ที่เอาโจทย์ จริงๆ ในชุมชนเป็นงานวิจัย และกลายเป็นโจทย์ที่แทรกซึมในมหาวิทยาลัยเรามาเป็น 10 ปี จึงเหมือนปรับเปลี่ยนทัศนคติด้วย" ดร.รัชดาบอก และว่า มรอ.นั้นเมื่อปี 2550 ท่านสมพร (สมพร ใช้บางยาง) ยกให้เป็น "อุตรดิตถ์โมเดล" คือการทำงานที่เอาพื้นที่เป็น ตัวตั้ง แล้วเรานำศาสตร์ความรู้ต่างๆ เข้าไปแก้ไขในพื้นที่ ตั้งแต่วันนั้นราชภัฏต่างๆ จะมาดูงานเราว่ามีกระบวนการอย่างไรจึงแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้จริง
ล่าสุด ขยับเป็น "ราชภัฏโมเดล" ตั้งแต่ท่าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ (อดีต รมว.ศึกษาธิการ) ที่ลงไปดูงานราชภัฏว่าทำงานอย่างไร ที่มีคู่ความ ร่วมมือช่วยกันคิดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ท่านมองว่า ราชภัฏอื่นควรเดินตามเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง กล่าวคือ "ห้องเรียนสอนทฤษฎี แต่พื้นที่คือห้องปฏิบัติการ" ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาได้คือประสบการณ์จากการลงมือทำงานจริงในพื้นที่ ซึ่งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เวลาเราพูดนิดเดียว เด็กจะรู้เลยว่าจะต้องทำงานอย่างไร ฉะนั้นโจทย์ในการ ทำโปรเจ็กต์จบของนักศึกษาก็จะมาจากพื้นที่จริงๆ จากสถานประกอบการที่เขาได้เจอมาจริงใน 4 ปี
"นักศึกษาราชภัฏส่วนมากจะเป็นเด็กในพื้นที่ อย่างอุตรดิตถ์ จะมีสุโขทัย แพร่ น่าน 70% มีความต้องการว่าเมื่อจบแล้วอยากทำงานในท้องถิ่น ฉะนั้น ในการดีไซน์หลักสูตร ถ้าเด็กทำงานเป็น เรียนรู้บริบทในชุมชนจริงๆ ได้ เขาก็จะสามารถตอบโจทย์สถานประกอบการในพื้นที่ได้ ส่วนอีก 30% ที่มีศักยภาพมากกว่านั้น บางคนจะข้ามผ่านอาเซียน ไปทำงาน ที่ลาว เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ในหน่วยงานใหญ่ๆ" ดร.รัชดาบอก และย้ำว่าแต่การดีไซน์หลักสูตรของเราเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ในพื้นที่จริงๆ ทำงานได้จริงในพื้นที่