เปลี่ยน…ผู้ชาย ‘ไม่ทำร้าย’ ผู้หญิง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยโพสต์
ค่านิยมในอดีต ผู้หญิงมักตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายชาย ไร้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และยังเสี่ยงถูกทำร้าย กดขี่ ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ กระทั่งปัจจุบันสถานการณ์กลับทวีความรุนแรงด้วยสิ่งเร้ามากมาย นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมอันชอบธรรมจากสังคมที่จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ และร่วมกันยุติความรุนแรงเหล่านี้ให้หมดไป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง สหภาพยุโรป (EU) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรม โครงการ "#MenForchange #เราไม่ทำร้ายผู้หญิง ร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัย" เมื่อเร็วๆ นี้ บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพฯ เนื่องในวันยุติความรุนแรงของผู้หญิงสากล ที่ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี โดยมี ดารา นักการเมือง และภาคีเครือข่ายการทำงานยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ประมาณ 200 คนร่วมกิจกรรม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจความชุกของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงโดยองค์การอนามัยโลกใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะที่อายุระหว่าง 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศโดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในช่วงอายุอื่น
โดยความรุนแรงในชีวิตคู่ในลักษณะดังกล่าว พบมากในคู่รักหรือแฟนที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน (cohabiting) สะท้อนให้เห็นว่าผู้ชายอายุน้อยมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากกว่า นอกจากนี้ข้อมูลข่าวในสื่อทุกแขนงพบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ วันละไม่น้อยกว่า 7 คน และมีตัวเลขของผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษาและแจ้งความร้องทุกข์สูงถึงปีละ 30,000 คน ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงมีปัจจัยร่วมจากเหล้า เครื่องดื่มมึนเมา สารเสพติด สื่อลามก พื้นฐานจากครอบครัว และสิ่งแวดล้อมในสังคม
"ในการแก้ปัญหา สสส.ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานวิชาการ การทำงานในพื้นที่นำร่อง เพื่อสร้างระบบในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว รวมถึงสนับสนุนกระบวนการสื่อสารสาธารณะร่วมกันหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อปรับทัศนคติของสังคมต่อการ "ไม่เพิกเฉย" ต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรง "เป็นเรื่องของคนอื่น" ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงจึงไม่ใช่การที่ผู้หญิงต้องปกป้องตนเองได้เท่านั้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจและปรับฐานคิดให้ผู้ชายเรียนรู้ในการเคารพ ให้เกียรติ และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้หญิง ในเพศสภาพของความเป็นมนุษย์ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน" นางภรณีกล่าว
ด้าน นางสาวธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจศึกษาพฤติกรรมของผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง จากกลุ่มผู้หญิงที่เข้ารับบริการคำปรึกษา เพื่อขอให้มีการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน และขอบ้านพักพิงชั่วคราวของมูลนิธิเพื่อนหญิง จากหน้าเพจมูลนิธิเพื่อนหญิง จำนวน 1,564 คน และจากการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ผู้หญิงอีกจำนวน 513 คน ประจำปี 2560-2561 พบว่า พฤติกรรมของกลุ่มผู้ชายที่คิดว่าตัวเองเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของ มีอำนาจเหนือกว่า และใช้ความรุนแรง ด่าทอ ทุบตี ทำร้าย แย่งลูก คุกคาม ละเมิดทางเพศ ทำให้ทุกข์ทรมาน เจ็บปวดทางจิตใจ บั่นทอนศักยภาพ เพื่อควบคุมผู้หญิง ส่งผลต่อสุขภาพจิต การเจ็บป่วย การเสียชีวิต และการฆ่าตัวตายของผู้หญิง
ทั้งนี้ พฤติกรรมที่พบมากเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 85 ชอบด่าทอ เหยียดเพศ ทุบตี ทำร้าย อันดับ 2 ร้อยละ 75 มีพฤติกรรมชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพติดสารเสพติด สูบบุหรี่ อันดับ 3 ร้อยละ 32 ไม่ยอมเลิกรา ผู้หญิงอยากหย่า ตามราวี คุกคาม ข่มขู่ อันดับ 4 ร้อยละ 28 ผู้หญิงร้องทุกข์พฤติกรรมของผู้ชายในที่ทำงาน มีพฤติกรรมชอบแอบส่องภาพผู้หญิงแต่งตัวหวิว อันดับ 5 ร้อยละ 21 ของผู้หญิงเจอหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เป็นพวกหมาหยอกไก่ และมักหาโอกาสลวนลามทั้งในที่ลับและที่สาธารณะ
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับฐานคิด รณรงค์ผ่านกลุ่มผู้ชายแถวหน้าไปยังกลุ่มผู้ชายในเมืองและชนบท ได้เรียนรู้ เข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอยู่ร่วมกับผู้หญิงด้วยการเคารพ ให้เกียรติ ไม่ทำร้าย ใช้ความรุนแรง ละเมิด หรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยให้กับผู้หญิงทุกคน
นอกจากนี้ ภายในกิจกรรมดังกล่าวยังมี เสวนาในหัวข้อ "ผู้ชายแถวหน้า #เราไม่ทำร้ายผู้หญิง" โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์, นางธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวย 3 การมูลนิธิเพื่อนหญิง, พ.ต.ท.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองนครปฐม และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การสูบบุหรี่ถือเป็นความรุนแรงในบ้าน ในประเทศฟิลิปปินส์ประกาศเป็นข้อกฎหมายภรรยาสามารถฟ้องศาลได้ ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายทางเคมี ซึ่ง สสส.เคยนำแนวคิดนี้มาทำสปอตรณรงค์ โดยใช้พื้นที่ของสวนลุมพินีในการถ่ายทำ สื่อสารว่าการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะคือการทำร้ายกันจนเกิดกระแสสังคมต่อต้านคนสูบบุหรี่มาแล้ว
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ในบ้านยังเป็นตัวอย่างให้ลูกเกิดการเลียนแบบ รวมทั้งวงจรความเครียดในบ้าน นอกจากจะป่วยโรคต่างๆ ยังสร้างภาระกับครอบครัว ในอนาคตมีตัวเลขผู้ชายคน 6 แสนคน มีเงินเดือน 6,000บาท เสียค่าบุหรี่เดือนละ 700 บาท จะเป็นวงจรความเครียดในครอบครัว และเมื่อผสมกับการดื่มสุรา ก็จะเป็นต้นเหตุให้เกิดความรุนแรง เช่น การทุบตีภรรยา ตามมา
พ.ต.ท.รุ่งเลิศ กล่าวว่า ความรุนแรงที่พบสวนมากคือการที่นำคลิปภาพถ่ายของผู้หญิงมาประจานในสื่อออนไลน์ จึงอยากบอกให้ทุกคนทราบว่า ในสังคมโลกในยุค 4.0 หากพลาดปล่อยคลิปไปแล้ว ไม่มีทางลบได้หมด จะกระจายไปทั่ว จนบางครั้งทำให้ผู้หญิงบางรายคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะเป็นบาดแผลบาดลึก เจ็บปวดทางจิตใจ จะใช้ชีวิตหรือเรียนหนังสือก็เป็นเรื่องน่าอาย จึงอยากฝากตรงจุดนี้เอาไว้ ว่าอย่าถ่าย อย่าไว้ใจแฟนมากเกินไป เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เหมือนจิตใจคนที่วันหน้าอาจแปรผันได้
ด้าน นางธนวดี ยังให้ความเห็นอีกครั้งผ่านวงเสวนาว่า อยากฝากไปที่ตำรวจต้องดำเนินคดีกับสามีที่ทำร้ายภรรยาอย่างจริงจัง โดยหยุดอ้างว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ยอมความกันได้ หรือไม่มีหลักฐานเอาผิด ตราบใดที่พฤติกรรมของสามียังไม่ได้รับการบำบัดหรือแก้ไข เพราะที่ผ่านมาเมื่อภรรยากลับบ้านไปก็ถูกทำร้าย หรือถูกฆ่า
"จึงขอให้ตำรวจใช้วิจารณญาณปฏิรูปวิธีการ โดยเสนอว่า ถ้าผู้ชายโกรธแล้วไม่สามารถหยุดยั้งตัวเองได้ต้องบำบัด หรือเข้ากระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง บางครั้งบางเรื่องเราเคยเอาเป็นเอาตายกับตำรวจ ว่าถ้าปล่อยไปเฉยๆ ไม่ทำอะไร จะฟ้องในกฎหมายอาญา มาตรา 157 ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ท้ายที่สุดตำรวจจะเรียกผู้ชายมาคุย และบันทึกข้อตกลงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด" ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวปิดท้าย
เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวนี้จะส่งตรงไปถึงผู้ชายตระหนักถึงการสร้างสังคมปลอดภัย พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติ เคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม และหยุดทำร้ายผู้หญิง