เปลี่ยนแว้นเป็นว้าว ครั้งที่ 1
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เครือข่ายเยาวชน จับมือภาครัฐ สสส. จัดกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ ชูแนวคิด “เปลี่ยนแว้นเป็นว้าว” หลังวัยโจ๋ซิ่งบนท้องถนนก่อปัญหาสังคม พร้อมชื่นชมรัฐบาล จริงจังคาดโทษ จนท.หากละเลย พร้อมหนุนโครงการสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน ส่งเสริมครอบครัวมีส่วนร่วม
วันที่ 12 กันยายน 2562 ที่เดอะฮอล์บางกอก เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ชูแนวคิด“เปลี่ยนแว้นเป็นว้าว” พร้อมเสวนา “มองเด็กแว้นอย่างเข้าใจ…แก้ปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน”
นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนรักษาการอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ปัญหาของเด็กวัยรุ่นในปัจจุบันมีความเสี่ยงด้านการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะปัญหาการแข่งรถบนถนน ที่เกิดจากความคึกคะนอง และวัยรุ่นมักชอบอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ สร้างการยอมรับในทางที่ผิด หลายครั้งสร้างความรำคาญให้กับประชาชน และสิ่งที่ส่งผลเสียมากที่สุดคือการขับรถเร็วเพื่อที่จะแข่งกัน โดยมีจำนวนไม่น้อยที่ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิต
“ปัจจุบันภาครัฐ ตำรวจ ฝ่ายปกครองเอาจริงเอาจังกับปัญหานี้อย่างมาก มีการจับกุมดำเนินคดีกันอย่างกว้างขวางโดยใช้ กฎหมายคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2558 และ 46/2559 เป็นเครื่องมือ แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบของพ่อแม่ ผู้ปกครองก็เป็นเรื่องสำคัญ การยินยอมหรือปล่อยปะละเลยให้บุตรหลานกระทำการดังกล่าว ถือว่าผู้ปกครองก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจต้องเข้าสู่กระบวนการทำทัณฑ์บน จึงอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจข้อกฎหมายนี้ด้วย” นายอนุกูล กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.ตชด. คณะทำงานป้องกันและปราบปรามการแข่งรถ กล่าวว่า นับเป็นความห่วงใยของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กำชับให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กแว้น ซึ่งหากมีการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีบทลงโทษ ทั้งนี้การดำเนินงานของตำรวจจะมีมาตรการก่อนและหลังเกิดเหตุ ก่อนเกิดเหตุคือการสืบหาข้อมูลของกลุ่มเด็กแว้น ว่ามีการแข่งขันที่ไหนเวลาใด ส่วนมาตรการหลังเกิดเหตุ ในส่วนของผู้ปกครองจะเริ่มที่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ ดำเนินคดี หลังจากที่มีคำสั่งของ คสช.ออกมาแล้ว ทำให้ปัญหาของเด็กแว้นลดลงจากเดิมถึง 70-80% ปัจจุบันมีผู้ปกครองที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 13 ราย และสตช.ได้กำหนดเงินรางวัล 3,000 บาทสำหรับผู้แจ้งเบาะแสเด็กแว้น รวมไปถึงบรรดาแอดมินเพจ โดยสามารถแจ้งทางโซเชียลมีเดีย ตร.สายด่วน 1599 ,191
ด้าน นางสุภาภรณ์ ชมชัย ผู้อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินงาน คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่22/2558 กล่าวว่า ผลของการดำเนินงานโดยภาพรวมตั้งแต่มีคำสั่ง หน.คสช. ฉบับนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถดำเนินการกับผู้ที่ยังไม่ได้มีการแข่งรถได้ เพียงมีพฤติการณ์รวมกลุ่มหรือมั่วสุมนำไปสู่การแข่งรถ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายจราจรทางบก โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าระงับ ยับยั้ง เพื่อป้องกันมิให้มีการแข่งรถ เช่น ว่ากล่าวตักเตือน ปรับพฤติกรรมเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพเชิงบวกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สถานศึกษา กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กองทัพบก เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ต้องสงสัยว่าจะใช้ในการแข่งรถ มาเก็บรักษาไว้ชั่วคราวจนกว่าจะปรับพฤติกรรม ซึ่งเดิมกฎหมายปกติไม่สามารถทำได้
“เพื่อให้การทำงานแบบบูรณาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรมีกฎหมายกลางในการบริหารหรือการบูรณาการการดำเนินการในเรื่องจัดระเบียบสังคม ปัจจุบันมีการกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 22/2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปดำเนินการแก้ไข นำถ้อยคำในคำสั่งไปบัญญัติไว้ไปเพิ่มในกฎหมายปกติที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ส่วนมาตรการการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปะละเลยให้มีการแข่งรถ ผู้บังคับบัญชาสามารถลงโทษได้ทันที” นางสุภาภรณ์ กล่าว
ขณะที่ นายเอ (นามสมมติ) อายุ 20 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ตรงในการใช้ชีวิตเด็กแว้น กล่าวว่า ช่วงม.1 ตนติดเพื่อนมาก มักซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไปกับกลุ่มเพื่อน และชื่นชอบการแต่งรถ กระทั่งขึ้น ม.2 พ่อไว้ใจให้ขับมอเตอร์ไซค์ไปเรียนเอง ยิ่งรู้สึกท้าทาย ได้รู้จักกลุ่มเด็กแว้นกลุ่มต่างๆ มักจะนัดรวมกันมาแว้นประจำ แถวเส้นพระราม 2 มหาชัย ถนนอักษะ ตกดึกปิดถนน ไม่กลัวตำรวจ แม้จะเคยโดนจับ และเคยเกิดอุบัติเหตุนับครั้งไม่ถ้วน สุดท้ายเรียนไม่จบต้องออกกลางคัน จึงคิดได้ว่าไม่ควรทำให้พ่อแม่เสียใจอีก ทั้งนี้ตนอยากฝากเตือนสติกลุ่มวัยรุ่นที่รักในการแข่งรถว่า ควรไปแข่งในสนามที่ถูกต้องและปลอดภัย ไม่สร้างความเดือนร้อนให้ใคร พร้อมกับวอนภาครัฐเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของเด็กกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ว่าลึกๆแล้วเขาต้องการอะไร แล้วค่อยๆชักชวนมาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและให้เขาได้เห็นคุณค่าในตัวเอง เช่นเดียวกับการดำเนินงานของบ้านกาญจนาภิเษกที่สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กๆได้จริง” อดีตเด็กแว้น กล่าว