เปลี่ยนเศษผ้า เป็นอาชีพ

 

ในตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรามีบ้านเล็กๆ หลังนี้เป็นที่รวมของคนหลายวัย ต่างคนต่างขะมักเขม้นกับการงานตรงหน้าของตัว

โดยกลุ่มนี้ทำการเปลี่ยนผ้าเหลือใช้ให้เป็นเสื้อ ที่รองแก้ว ที่ใส่กระดาษชำระ แต่ละอย่างหน้าตาน่ารัก เป็นการรวมกลุ่มกันในนาม ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมิตรสัมพันธ์’ ความหมายของชื่อกลุ่ม คือ การเป็นเพื่อนเป็นมิตร และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยมีวัตถุประสงค์จริงๆ ของเรา คือการสร้างอาชีพให้คนในชุมชน

“เรารับตัดเย็บงานทุกประเภท เสื้อยืด เสื้อกีฬา เอี๊ยมเด็กอนุบาล ผ้าฝ้าย ผ้าไหม เสื้อพนักงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับผ้า ทางกลุ่มรับทำหมด เศษผ้าเหลือก็มาทำเป็นที่ใส่ทิชชูบ้าง ส่วนที่เหลือจากทำที่คลุมโต๊ะจีนก็มาทำที่รองจานรองแก้วได้ ไม่ทิ้ง ใช้หัวคิดประดิษฐ์เอง เสื้อผ้าก็ทำตามสั่ง เนื่องจากงบประมาณกลุ่มเรามีน้อย จะมาทำขายโชว์แบบที่อื่นมันลำบาก เราต้องประมาณต้นทุนกำไร แล้วบอกลูกค้าที่จะมาสั่งว่า ตกลงราคานี้ได้ไหม ถ้าได้อย่างนั้น ก็ซื้อผ้ามาทำเลย หรือเราเองก็มีผ้าให้เลือก” เครือวรรณ จันทศรี ผู้นำกลุ่มกล่าว

เครือวรรณ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเธอเป็นวิทยากรของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และของ กศน. โดยศูนย์หรือทีทำงานของพวกเธอนี้เป็นผลจากความสำเร็จ เนื่องจากตอนเริ่มต้น กลุ่มยังน้อย และทำกันในบ้าน

“ทีนี้มีคนมาขอทำงานกับเรา แต่ถ้าฝีมือยังไม่ดีพอ มันทำไม่ได้ เลยคิดตั้งกลุ่มเพื่อฝึกฝีมือคน ตอนแรกมีแค่ 15 คนเอง ใช้เงินทุนส่วนตัว ไม่ได้กู้ที่ไหนเลย เดิมทีทำกันบนบ้านเลย แต่บ้านมันเก่ามาก พอกิจการไปด้วยดี สมาชิกเพิ่มเป็น 62 คน มีลูกค้า เพิ่มขึ้น เลยประชุมในกลุ่มก่อน แล้วไปประชาคมหมู่บ้านว่า จะทำร้านใหม่ครั้งแรก เป็นเรือนไม้ไผ่ เปิดสอนคนในพื้นที่ เรียนเสร็จไม่มาทำงานกับเรา ก็ไม่เป็นไร จะไปเข้าโรงงาน เราก็ฝึกให้เรียนฟรี มีอุปกรณ์ให้ด้วย ปีหนึ่งเปิด 2-3 ครั้ง สอนจักรนะ แต่เราไม่สอนสร้างแบบ เพราะเราไม่มีเวลามากขนาดนั้น ปัจจุบันก็ยังต้องการฝึกอาชีพเป็นอย่างแรก ไม่คิดเรื่องกำไรมาก ที่อื่นเราก็เคยไปสอน อย่างผู้ต้องขังหญิงโรงเรียน ตชด. ให้ความรู้กับคนเรียน พอผลผลิตทำเสร็จ ก็เอาไปให้คนจนตกทุกข์ได้ยาก ถือว่าเป็นการช่วยไปเป็นทอดๆ” เครือวรรณเล่า

ลูกค้าของกลุ่มมีทั้งคนใน และคนนอกพื้นที่บ้าง อย่างเทศบาลก็เป็นผู้สนับสนุนสั่งสินค้าจากกลุ่ม โรงพยาบาลก็สั่งผ้าใช้คลุมอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ อีกอันคือถุงมือที่ช่วยไม่ให้ผู้ป่วยดึงสายยาง ส่วนลูกค้าข้างนอกเป็นแบบปากต่อปาก ลูกๆ ของสมาชิกในกลุ่มก็เล่าให้คนนอกพื้นที่ฟังว่า เรามีร้านตัดเสื้อ กลุ่มตัดเสื้อเขารู้ว่างานของเราฝีมือดี โดยดูจากฝีเข็ม 11 ฝีเข็ม ต่อ 1 นิ้ว รูปทรงตะเข็บ รายละเอียดเรียบร้อยหมด เนียน แต่สั่งน้อยก็ราคาสูง สั่งเยอะ ก็ถูกลง เพราะซื้อผ้ายกไม้ได้

ทุกวันนี้ กลุ่มสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องขอเงินสนับสนุนจากเทศบาล ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืน เป็นเงินหมุนเวียนในกลุ่มที่ใช้หล่อเลี้ยง ไม่เคยมีการกู้ แต่มีบ้างที่เทศบาลสนับสนุน เช่น เรื่องอุปกรณ์ เพราะเมื่อตอนเริ่ม ทางกลุ่มต้องเช่าจักร ด้วยมีทุนเริ่มต้นเพียง 50,000 บาท เมื่อมีกำไรจึงเปลี่ยนเป็นซื้อเอง

“ส่วนสมาชิกกลุ่มที่มาเย็บผ้าเราจ่ายเดือนละครั้ง แต่เบิกก่อนได้ เบิกเท่าที่ทำไป เราแบ่งทำเป็นแผนก ใครความสามารถเยอะหน่อยก็อยู่แผนกที่ทำยาก เข้าไหล่ เข้าคอ เข้าแขน ก็ตีราคาแล้วเฉลี่ยให้กันไป สิ้นปีก็มีปันผลให้สมาชิก ตอนนี้มีทั้งหมด 75 คน บางคนไม่ทำงานกับเรา แต่ยินดีร่วมช่วยสร้างอาชีพให้ คนในชุมชนลงเงิน หลายหมู่บ้านในบ้านซ่องเลยนะ ก็ปันผลให้”

 

 

 

 

ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ