เปลี่ยนเงินลงขวดเหล้า ลงกระปุกเถอะนะ

                    เข้าสู่เทศกาลเข้าพรรษา ชวนกันมาหลายหนให้งด ลด ละ เลิกเหล้า เพื่อพักตับ สู่สุขภาพดี และไหนจะเพิ่มพูนบุญกุศล เพราะไม่ได้แตะต้องของมึนเมาเท่ากับศีลข้อ 5 สมบรูณ์พร้อม แต่มาครั้งนี้อยากชวนให้เห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนเงินลงขวดสู่การออมลงกระปุก เพราะเกิดประโยชน์แบบรูปธรรม จับต้องได้ในปั้นปลายชีวิต โดย สสส. ร่วมกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ชวนมา ออมเงินแทนลงขวด

                    กิจกรรมเสวนา “ฤดูกาลสุขปลอดเหล้า และงดเหล้าเข้าพรรษา 2567 : เปลี่ยนคุณเป็นคนใหม่ใน 90 วัน” ตัวอย่างของคนหัวใจเพชร ที่สามารถเลิกเหล้าได้นานกว่า 90 วัน นายชาคริต จินะคำปัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านเกาะกลาง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปลี่ยนตัวเองจากขี้เหล้าหลวง เป็นคนหัวใจเพชร  หักดิบ เลิกเหล้าได้มา 9 ปี จนถึงทุกวันนี้ ไม่รู้สึกเสียดาย หรืออยากดื่มอีกเลย ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ ไม่อยากให้พ่อที่เสียชีวิตไปแล้วต้องเป็นห่วงกังวล เนื่องจากช่วงวัยรุ่นทำงานการไฟฟ้า ตกเย็นรวมกลุ่มกับเพื่อนกินเหล้า ทำแบบนี้ทุกค่ำคืนจนคนเป็นพ่อต้องตามจ่ายเงินค่าเหล้าให้เสมอ

                    “เช้าทำงาน ตกเย็นกินเหล้าเป็นแบบนี้ทุกวัน กินเหล้าไม่จ่ายเงินสด เชื่อร้านไว้ พ่อต้องตามมาจ่ายเงินให้ตกเดือนละ 500 บาท หรือมากกว่านั้นพอพ่อเสียชีวิต ส่วนหนึ่งรู้สึกละลายใจ และไม่มีคนตามจ่ายเหล้าให้ จึงตัดสินใจเลิก ทำแบบนี้อยู่ได้ 3 เดือน ไม่นอกลู่นอกทาง เพราะไม่ออกจากบ้านไปพบไปเห็น หรือเข้าสังคมกับคนกินเหล้าอีก ประกอบกับผู้ใหญ่บ้านชวนมาเป็นผู้ช่วย จึงไม่อยากเป็นแบบอย่างไม่ดี ”นายชาคริต กล่าว

                    ส่วนวิธีการออมเงิน นายชาคริต เล่าว่า ได้รับเงินเดือนมา 8,000 บาท หักไว้ 4,000 บาท ให้น้องชายเก็บเอาไว้ซื้อบ้าน ออมเงินไปเรื่อยๆ น้องชายก็ร่วมออมด้วย จนสามารถซื้อบ้านได้ภายในเวลา 9 ปี  ในราคา 1,500,000 บาท ทุกวันนี้อยู่บ้านร่วมกันกับน้องชาย และมีโรงเลี้ยงไก่ชนของตัวเอง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพราะเริ่มจากเลิกเหล้า รู้จักการออม และปัจจุบันยังคงใช้วิธีการออมเงินแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ  เพราะเงินที่เหลือ 4,000 บาท สามารถกินใช้ ซื้อของได้ไม่ลำบาก

                    สอดคล้องกับข้อมูลของนางยุพิน ตนมิตร แกนนำชมรมคนหัวใจเพชรบ้านเกาะกลาง สะท้อนว่า การรณรงค์ลด ละ เลิก เหล้าในช่วงเข้าพรรษา สามารถทำได้จริง แต่ต้องมี คนต้นแบบ เพื่อให้คนในหมู่บ้านเกิดแรงจูงใจ และสนับสนุนว่า มีคนทำได้จริง ยิ่งการออม ต้องมีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน ว่า ออมไปแล้วได้ประโยชน์อย่างไร โดยที่หมู่บ้านเกาะกลาง จังหวัดเชียงใหม่นั้น มีการชักชวนให้ชาวบ้านลด ละ เลิก เหล้า เข้าไปคุยทุกวัน สม่ำเสมอ ถามไถ่ ไปเรื่อยๆ จนสามารถเลิกได้ จากนั้น ชวนออมเงิน วันละ 1 บาท ต่อเนื่อง 30 วัน ได้เงิน 30บาท นำมาเป็นกองทุนสวัสดิการในหมู่บ้าน หากมีการออมนาน 2 ปีขึ้นไป ผู้ออมเงินเสียชีวิตจะได้รับเงิน 5,000 บาท แต่หากเจ็บป่วยก็จะได้รับเงินชดเชย 200 บาทต่อวัน ภายใน 1 ปี จะได้รับเงินชดเชยกรณีป่วย ไม่เกิน 12 วัน  ซึ่งกลายเป็นสาเหตุจูงใจให้คนหันมาออม เพราะยิ่งออมเงินนาน สิทธิ์สวัสดิการยิ่งพอกพูน

                    ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา 10.2 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่ดื่มทั้งหมด 24.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 7.7 แสนคน แบ่งเป็น ผู้งดดื่มตลอดพรรษา 21.3% ผู้ที่งดบางช่วง 9.1% และผู้ที่ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 10.5% โดยกลุ่มตัวอย่าง 66.3% ระบุว่าได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายดีขึ้น สุขภาพจิตใจดีขึ้น รวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยคนละ 1,506.97 บาท รวมทั้งประเทศประหยัดได้ราว 4.2 พันล้านบาท

                    “หากในแต่ละเดือนสามารถเปลี่ยนค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ที่ต่อสูญไปกับค่าเหล้า เฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท มาเป็นออมกับกอช. ก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคงได้ในอนาคต เพราะท้ายที่สุดเงินเหล่านี้ จะกลายเป็นเงินเกื้อหนุนให้กับเราในยามเกษียณ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

                    นอกจากนี้ นพ.พงศ์เทพ ยังกล่าวว่า ประโยชน์ของการงดเหล้าเข้าพรรษา ทำให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ เพราะ 90 วัน หรือ 3 เดือน ตับที่มีหน้าที่กำจัดของเสียได้พักอย่างเต็มที ไม่ต้องกำจัดของเสียเกินอัตราที่กำหนด 1 ดื่ม (แก้วเหล้า) เชื่อว่าที่ผ่านมาหลายคนดื่มมากกว่านั้น การดื่มส่งผลต่อการนอน ทำให้ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน นอนหลับไม่สนิท วิตกกังวล สะท้อนมาจากผิวหนังตาใต้หมองคล้ำ บ่อยห้องน้ำเข้า นอนน้อยส่งผลต่อฮอร์โมน ลดลง อาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ จึงอยากย้ำว่า สุขจากการดื่ม ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง สุขจริงต้องไม่พึ่งพาสารหรืออย่างอื่นเข้าสู่ร่างกาย

                    ขณะเดียวกัน วิธีการเปลี่ยนค่าใช้ส่วนเกินที่หมดไปกับค่าเหล้า ให้เป็นการออมนั้น นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ต้องอาศัยตนเองเป็นหลัก หากยังไม่สามารถเลิกดื่มได้อย่างเด็ดขาด ก็ให้พยายามดื่มให้ลดลง และนำเงินส่วนที่เหลือมาออม ปัจจุบันสังคมไทยละเลยการออม ไม่รู้จักแบ่งสัดส่วนของเงินได้มาเป็นเงินออม มิหนำซ้ำยังคิดเอาไปลงทุน ทั้งที่จุดเริ่มต้นต้องมาจากการออมอันดับแรก โดยทาง กอช. จะร่วม กับ สสส. เข้าไปพูดคุยกับทำความเข้าใจกับกลุ่มนักดื่ม เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของการออม เพราะการออมกับกอช. คือ เงินบำนาญภาคประชาชน ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังให้การสนับสนุนและจ่ายสมบทตามแต่ละช่วงอายุ

                    “หากค่าใช้จ่ายในการดื่มเหล้าเฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาท เปลี่ยนมาเป็นเงินออม และออมกับกอช. เมื่ออายุ 50 ปี ภาครัฐจะสมบททันที 100% คือ 1,500 บาท และหากคุณเลิกเหล้าได้ 10 ปี ออมเงินทุกเดือน เงินเหล่าก็จะให้ดอกผลเหมือนกับคุณเป็นข้าราชการ มีเงินใช้ยามเกษียณ เพียงต่างกันที่เงินออมนี้ ต้องสร้างด้วยตัวเอง” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

                    สำหรับการออมกับกอช. สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ อายุ 16 – 60 ปี  เป็นแรงงานนอกระบบ ออมเงินขั้นต่ำได้ที่ 50 บาทต่อครั้ง และสูงสุดไม่เกิน 30,000 ต่อปี โดยปัจจุบันข้อมูลของ ผู้สมัครออมกับกอช. มี  2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ล้านคนเป็นเกษตรกร แต่เป้าหมายสูงสุด คือ ให้รู้จักวินัยการออม เพื่อปั้นปลายชีวิตหลังเกษียณสามารถพึ่งพาตัวเองได้

                    เปลี่ยนเงินลง “ขวดเหล้า” ให้ลงที่ “กระปุก” พลิกฟื้นวินัยการออม สร้างประโยชน์เงินค่าใช้จ่ายส่วนเกิน ให้เป็นบำนาญรอใช้หลังเกษียณ หากทำได้คงสุขและสนุก สง่างามเพราะ พึ่งพาตนเอง ไม่ต้องกลายเป็นคนอนาถา แก่เฒ่า นอนกอดขวดเหล้า โรครุมเร้า รอคนช่วยเหลือ

Shares:
QR Code :
QR Code