เปลี่ยนวิธีประเมินงานสุขภาพจิตเน้นผู้ป่วยพึงพอใจ
ที่มา : ข่าวสดออนไลน์
แฟ้มภาพ
สธ.เปลี่ยนวิธีประเมินงานสุขภาพจิต เน้นการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. กรมสุขภาพจิตได้รับจัดสรรงบฯ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตวงเงิน 3,158 ล้านบาทเศษ ซึ่งใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2560 เน้นการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ
"ในการประเมินผลการทำงานจะเน้นที่ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของประชาชนผู้รับบริการ สามารถตอบวิสัยทัศน์ของกรมได้ คือประชาชนมีสุขภาพจิตดี มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานในปี งบประมาณ 2560 บรรลุตามตัวชี้วัดซึ่งมี 20 ตัวชี้วัด แยกตามรายกลุ่มวัย ดังนี้ เด็กกลุ่มปฐมวัยที่มีพัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นพัฒนาการให้กลับมาสมวัยร้อยละ 82 กลุ่มนักเรียน วัยรุ่น ที่มีปัญหาพฤติกรรม-อารมณ์ ได้รับการดูแลช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนดร้อยละ 99 ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อยู่ติดบ้านติดเตียงในชุมชน ได้รับการดูแลช่วยเหลือทางจิตใจร้อยละ 95
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ผู้พิการทางสติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก ได้รับการดูแลฟื้นฟูด้านสุขภาพและสังคมร้อยละ 77 ในส่วนของผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการร้อยละ 69 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการร้อยละ 54 ให้การบำบัดผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการเสพสารเสพติด 4,761 คน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,500 คน โดยหลังผ่านการบำบัด หยุดเสพต่อเนื่องกัน 3 เดือน สูงถึงร้อยละ 96 ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชที่เสี่ยงก่อความรุนแรงในชุมชน พบว่าร้อยละ 99 หลังผ่านบำบัดรักษาแล้วไม่กลับไปก่อคดีหรือก่อความรุนแรงซ้ำอีก ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตจากทุก 5 ปี เป็นทุก 2 ปี เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง