เปลี่ยนวาทกรรม “เมืองจักรยาน”

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เปลี่ยนวาทกรรม


แนวคิด Crowdsourcing หรือการใช้พลังจากฝูงชนในการรวบรวมข้อมูล  การแก้ปัญหาสังคม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กำลังมีบทบาท และมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกิพีเดียที่มีคนหลากหลาย จากทั่วโลกมาช่วยกันเขียนสารานุกรม บนเว็บที่ครบถ้วนและอัพเดทที่สุดของโลก การระดมทุนออนไลน์ในรูปแบบ Crowdfunding


ล่าสุด แนวคิด Crowdsourcing ยังนำมาสู่ทางเลือกใหม่ของการแก้ปัญหาเมืองในรูปแบบแอพพลิเคชั่น "ปั่นเมือง" อีกหนึ่งเครื่องมือดีๆ ของภาคประชาชนในการสร้างสรรค์เมืองจักรยานที่ไม่ใช่เพียงแค่ "วาทกรรม" โดยใช้อวัยวะที่ 33 ของคนเมืองอย่าง "สมาร์ทโฟน" ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพลเมืองเปลี่ยนกรุงของมูลนิธิโลกสีเขียว ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)


ความน่าสนใจของแอพพลิเคชั่น  "ปั่นเมือง" ที่เป็นมากกว่า Bike App คือ การใช้เทคโนโลยีช่วยรวบรวมข้อมูลความรู้จากปัจเจกชนเพื่อใช้แก้ปัญหาเมือง  ด้วยการสร้างฐานข้อมูลสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเปลี่ยนวาทกรรม ได้ โดยปริมาณข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายต่อการปั่นจักรยานในเมืองกรุงเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆเพียงแค่ 1 เดือนของการทดลองใช้แอพฯ ปั่นเมืองจากกลุ่มอาสาสมัครเพียงแค่  20 คน


ขณะที่ก่อนหน้านี้ การ Crowdsourcing แบบทำมือที่ใช้การระดมอาสาสมัครเก็บข้อมูลต้องใช้เวลายาวนานร่วม 2 ปี กว่าจะสำรวจเส้นทาง และนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดทำเนื้อหาและแผนที่เส้นทางจักยานแล้วเสร็จเป็นหนังสือคู่มืออย่าง Bangkok Bike Map


ด้วยเทคโนโลยีใหม่ผ่านแอพพลิเคชั่น ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นจิตอาสาได้โดยไม่จำเป็นต้องนัดรวมตัวกัน พร้อม ตอนไหน ทำได้ตอนนั้น ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากร


ในวันเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "ปั่นเมือง" นักคิดนักเขียนและนักปั่นจักรยานอย่าง โตมร ศุขปรีชา สะท้อนมุมมองผ่านวงสนทนา "Crowdsourcing กับกระแส การพัฒนาเมืองทั่วโลก"  ว่า การมี Crowdsourcing application อย่าง "ปั่นเมือง"ทำให้เกิดช่องทางใหม่ๆในระดมข้อมูลซึ่งเป็น Big Data ว่าความต้องการของผู้ใช้จักรยานในเมืองเป็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลใหม่ๆ จากเสียง ผู้คนจริงๆ ที่มีปัญหาในชีวิตประจำวัน  จากเดิมที่เสียงเหล่านี้ถูกมองข้าม เพราะ ไม่สามารถลุกมาบอกได้ว่าเรามีปัญหาแบบนี้


Crowdsourcing จึงเป็นการจุดประกายโอกาสให้คนธรรมดาที่มีเคยมีอำนาจมาก่อน มีเสียงที่จะลุกขึ้นมาต่อรองกับอำนาจใหญ่ๆ แต่ขณะเดียวกัน คำถาม ที่ท้าทายต่อไป คือ ท่ามกลางข้อมูล  Big Data ที่หลั่งไหลเข้ามาทุกวัน เราจะมีกระบวนการจัดการกับข้อมูลเหล่านี้อย่างไรต่อไป เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปต่อสู้ต่อรองให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าเปลี่ยนวาทกรรม เราได้ข้อมูลว่า ถนนตรงนี้ควรต้องปรับปรุง จะนำไปเสนอ กทม.หรือใครก็ตามที่มีอำนาจเพื่อให้เกิดการแก้ไขได้อย่างไร ซึ่งภายใต้สภาพบ้านเมืองที่มีการรวมศูนย์อำนาจและยังเป็นโครงสร้างแบบแนวดิ่ง คงต้องอาศัยพลังจากคลื่นแนวราบแบบนี้เขย่าไปเรื่อยๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


ด้าน ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว บอกว่า วันนี้ อยากให้ ทุกคนมองว่า ปัญหาในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 1,500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่ และยากเกินกว่าจะหวังพึ่งภาครัฐหรือคนๆ เดียวเข้ามาจัดการได้หมด แต่หากทุกคนช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตา ก็จะช่วยทำให้เกิด Eyes on space ทุกหย่อมหญ้า


โดยที่ผ่านมา กทม.ได้เปิดศูนย์ร้องทุกข์สายด่วนโทร. 1555 ในการเป็น ช่องทางร้องเรียนปัญหา ซึ่งพบว่าในช่วง ปี 2557-2558 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 4-5 หมื่นเรื่อง โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาได้รับการแก้ไขลุล่วง ทำให้เห็นว่าช่องทาง Crowdsourcing ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแบบนี้ สามารถ นำมาสู่การแก้ปัญหาได้


ศิระ อธิบายว่า วัตถุประสงค์ใหญ่ๆ ของการพัฒนาแอพฯ ปั่นเมือง จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการปั่นจักรยานสัญจรในเมืองที่สะดวกยิ่งขึ้น และเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะด้านการสัญจรด้วยจักรยาน โดยผู้ใช้งานสามารถช่วยกัน เพิ่มเติม  หรืออัพเดทข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แบ่งเป็น 3 ข้อมูลหลักๆ ได้แก่   ส่วนแรก : เส้นทางจักรยาน โดยปรับปรุงข้อมูลเส้นทางจากหนังสือ BANGKOK BIKE MAP แผนที่ปั่นเมือง : คู่มือหาเส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานคร ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น   ส่วนที่สอง : ข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลและพิกัด ร้านจักรยานที่ช่วยให้มั่นใจในการออก ปั่นไกลๆ ได้มากขึ้น ข้อมูลจุดจอดจักรยาน ที่รวบรวมข้อมูลมาจากผู้ใช้จริงว่ามีจุดไหนบ้างที่สามารถจอดได้อย่างอุ่นใจ ข้อมูล จุดเช่ายืมจักรยาน สำหรับคนที่อยากปั่น โดยไม่จำเป็นต้องมีจักรยานของตัวเอง ก็สามารถใช้บริการจากสถานีจักรยานสาธารณะ "ปันปั่น" ของกทม.ซึ่งสามารถเช็คจำนวนจักรยานหรือที่จอดในแต่ละสถานี


ได้แบบเรียลไทม์  ส่วนที่ 3 : ข้อมูลอุปสรรคปัญหา ได้แก่ สิ่งกีดขวางจักรยานหรือทางเท้า พื้นผิวทาง การจัดการจราจร ร่มเงาและแสงสว่าง โดยข้อมูลที่ผู้ใช้ส่งผ่านแอพ พลิเคชั่นปั่นเมือง จะมีทีมระบบหลังบ้านช่วยตรวจทานความถูกต้อง  พร้อมทั้งจัดการนำส่งปัญหาอุปสรรคที่รายงานเข้ามาไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยมีการอัพเดทสถานะผ่านแอพพลิเคชั่นที่สามารถติดตามผลได้ว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง


เปลี่ยนวาทกรรม "เพียงแค่ 1 เดือนของการทดลองใช้แอพฯ ปั่นเมือง โดยกลุ่มอาสาสมัครเพียงแค่ 20 คน ยังทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายขนาดนี้ แล้วมีถ้าคนใช้ 100 คน 1,000 คน เราจะมี Big Data ขนาดไหน แอพพลิเคชั่นนี้จึงไม่ใช่แค่การแนะนำข้อมูลเส้นทางจักรยาน หรือจุดไหน ที่มีที่จอด แต่จะเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นซึ่งเป็นข้อมูล จากประชาชนที่เรานำมาถกเถียงกัน ไม่ใช่ความรู้จากนักวิชาการ หรือแค่ใครคนเดียว โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ จะเผยแพร่เป็น ฐานข้อมูลสาธารณะเพื่อนำไปสู่การ แก้ไขปัญหา" ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิโลกสีเขียว กล่าว


ด้านเสียงสะท้อนจาก กนกวรรณ  แซ่ลิ้ม ตัวแทนผู้ใช้จักรยาน อาสาสมัครทดสอบแอพพลิเคชั่นปั่นเมือง บอกว่า ส่วนตัวในฐานะผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  ทั้งขี่ไปทำงาน ขี่ไปท่องเที่ยว เมื่อก่อนเคย พบเจอปัญหาบนเส้นทางท้องถนนในการ ปั่นจักรยานแล้วไปแจ้งผ่านตำรวจทางหลวง เขาก็บอกว่าตรงนี้เขาไม่ได้ดูแล เราก็ไม่รู้แล้วว่าจะไปแจ้งต่อได้ที่ใคร


กนกวรรณ มองว่า แอพพลิเคชั่นปั่นเมืองจึงถือเป็นการสร้างช่องทางใหม่ที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถส่งข้อมูลปัญหาให้กับภาครัฐได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ข้อมูลคำแนะนำต่างๆ ที่มาจากผู้ใช้จริง ถือเป็นจุดเด่นของแอพพลิเคชั่นปั่นเมืองที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้จักรยานด้วยกัน รวมถึงการแนะนำเส้นทางจักรยานที่มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบบเส้นทางปั่นที่เลี่ยงรถยนต์ และเส้นทางที่ปั่นร่วมกับรถยนต์  ซึ่งช่วยทำให้มีทางเลือกในการเลือกใช้รูปแบบการเดินทางที่เหมาะสมกับความต้องการมากขึ้น


ในโลกยุคใหม่ วิธีการ Crowdsourcing จึงเป็นช่องทางแห่งโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอทางออกปัญหาให้กับสังคมได้ เช่นเดียวกับแนวคิดแอพพลิเคชั่นปั่นเมืองที่เป็น ความหวังของไม้งัดสำคัญที่จะทำให้จาก"วาทกรรม"เมืองจักรยานก้าวไปสู่ "รูปธรรม"ด้วยพลังของภาคประชาชน

Shares:
QR Code :
QR Code