เปลี่ยนค่านิยม ‘สงสาร’ เป็น ‘ให้โอกาส’ คนพิการ

          สสส. จับมือจุฬาฯ ภาคีการอ่าน และ กทม.จัดงานเปิดโลกงานเขียนของคนพิการ วิจัยพบงานเขียนคนพิการ ขัดแย้งกับทัศนคติ คนในสังคมขาดความเข้าใจมองคนพิการเป็นคนชายขอบ วอนเปลี่ยนค่านิยม “สงสาร” เป็นให้ “โอกาส” สร้างพลังเห็นคุณค่าตัวเอง ด้าน กทม.พร้อมรับลูกผุดห้องสมุดเพื่อคนพิการ 


/data/content/25694/cms/e_abcehmnwy289.jpg


          เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จัดงานสุนทรียเสวนาปรัชญาการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการผ่านหนังสือสู่โลกกว้าง “หนังสือของคนพิการเพื่อทุกคน” เพื่อเปิดมุมมองทัศนคติต่อการดํารงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณค่าและสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะช่วยสร้างกําลังใจให้ทุกคน ทั้งผู้พิการและคนทั่วไป ได้เห็นทัศนคติเชิงบวก เห็นคุณค่าด้านต่างๆ ของตัวเอง  ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับปัจเจกและระดับสังคมโดยรวม


          นางสาวกันต์ฤทัย  สืบสายเพ็ชร สาขาวาทนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยเรื่อง “การสื่อสารปรัชญาการดำรงชีวิตอิสระในเรื่องเล่าประสบการณ์ของคนพิการ” โดยการศึกษาวิจัยเรื่องเล่าจากหนังสือของคนพิการจำนวน 42 เรื่อง ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ตีพิมพ์ระหว่าง ปี 2542-2556 โดยได้เน้นการเจาะลึกหนังสือของคนพิการระดับรุนแรงทั้งตาบอด หูหนวก และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ หรือเป็นอัมพาตตั้งแต่ครึ่งตัว จำนวน 17 เรื่อง รวมถึงสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวน 20 คน พบว่า งานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบอกเล่าประสบการณ์ การต่อสู้ เพื่อมุ่งเอาชนะอุปสรรคของการใช้ชีวิต การให้กำลังใจ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้สามารถเรียนรู้และให้กำลังใจทั้งคนพิการ และคนปกติทั่วไป  โดยมุมมองในการนำเสนอเรื่องราวจะมุ่งประเด็นการดำรงชีวิตที่อิสระ ซึ่งบอกถึงความเท่าเทียม และความภาคภูมิใจของตนเอง และการเอื้ออาทรของเพื่อนมนุษย์ซึ่งคนพิการไม่ได้เป็นเพียงผู้รับ หรือแค่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น  นอกจากนี้พบว่าความขัดแย้งต่อทัศคติของคนในสังคมกับตัวผู้พิการเอง โดยเฉพาะปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ยังมีทัศนคติผิด ไม่เข้าใจผู้พิการและมองเขาเหล่านั้นว่าเป็นคนชายขอบ


 /data/content/25694/cms/e_degjkmopy267.jpg


           นางสุดใจ  พรหมเกิด  ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่า นอกจากจะได้เห็นอัตตลักษณ์ที่แท้จริงของคนพิการแล้ว ยังสามารถสร้างความเข้าใจให้กับสังคมถึงการดำรงชีวิตอย่างเป็นอิสระของคนพิการ การจัดงานครั้งนี้จะทำให้สังคมได้รับรู้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีความบกพร่องในเรื่องใด “หนังสือและการอ่าน” สามารถเป็นเพื่อนและสร้างแรงบันดาลใจให้ได้เสมอ   


            นางสุจิตรา เต้พันธ์  ผู้อำนวยการกองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.มีนโยบายหลักในการออกแบบและปรับปรุงห้องสมุดเพื่อให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการอ่านได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะมุมหนังสือของคนพิการ (universal design) อาทิ ห้องสมุดซอยพระนาง มีการออกแบบชั้น  3 เป็นมุมการอ่านเพื่อคนพิการ มีแนวคิดว่า “การอ่านหนังสือไม่ได้อ่านเพียงแค่คนเดียวหากสามารถแบ่งปันได้” เพื่อคนพิการทางสายตา โดยมีคอมพิวเตอร์ที่ตั้งโปรแกรมเอาไว้ให้ผู้ที่ต้องการแบ่งปันการอ่านกับผู้พิการทางสายตา ด้วยการอ่านออกเสียงลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากนั้นคนพิการทางสายตาก็สามารถเข้ามาเลือกฟังได้ ซึ่งในอนาคตกทม. จะพัฒนาห้องสมุดและเปิดมุมหนังสือและการอ่านในลักษณะเดียวกันนี้ที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ให้มีมุมแบ่งปันการอ่านเพื่อคนพิการ ซึ่งจะไม่เน้นเพียงแค่คนพิการทางสายตาเท่านั้น แต่จะพัฒนาให้เกิดความหลากหลายกับกลุ่มผู้พิการอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นห้องสมุดที่เอื้อประโยชน์ด้านการอ่านกับทุกคนอย่างแท้จริง


/data/content/25694/cms/e_adhijqrty458.jpg


             ด้านนายเอกชัย  วรรณแก้ว   เจ้าของฉายา “ผู้เขียนชีวิตด้วยปลายเท้า” และเจ้าของผลงาน "ล้มให้เป็น  ลุกให้ได้" กล่าวว่า อยากให้คนพิการเกิดแรงบันดาลใจ มีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตและเห็นคุณค่าของตัวเอง มุ่งมั่นไปให้ถึงจุดหมาย และเอาชนะตัวเองเพื่อสร้างการยอมรับให้ได้ เพราะสำหรับคนพิการ ร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบที่ทุกคนไม่ได้แตกต่างกัน  สิ่งสำคัญคือ “หัวใจ” ที่แตกต่างไป สำหรับหนังสือ “ใจ เปลี่ยนโลก” จึงเป็นผลงานเขียนเล่มที่สองที่ต้องการเน้นให้เห็นคุณค่าทางจิตใจมากกว่าร่างกายภายนอก เนื่องจากสังคมปัจจุบันยังมีทัศนคติเกี่ยวกับคนพิการแบบไม่เข้าใจ ยังมองคนพิการด้วยความสงสาร และต้องการสงเคราะห์ แต่คนพิการไม่ได้ต้องการแบบนั้น เขาอยากได้สายตาที่มองเขาแบบคนปกติและโอกาสในการทำทุกอย่างเหมือนคนปกติ ไม่ใช่ตัดสินว่าเขาทำไม่ได้


 


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code