‘เบื่ออาหาร’ อาการที่ไม่ควรมองข้าม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
นอกจากโรคประจำตัวเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุแล้ว อาการเบื่ออาหารก็เป็นสิ่งที่ผู้สูงวัยมักพบเจออยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเมื่อย่างเข้าสู่ความชราย่อมมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะร่างกายอันอาจนำไปสู่ภาวะทุพโภชนาการได้ เนื่องจากไม่ว่าจะทานอะไรก็ไม่อร่อย หรือมีความรู้สึกว่าไม่อยากทานอะไรทั้งสิ้น
แม้จะมองดูว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่ในระยะยาว อาการเบื่ออาหารนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุขาดสารอาหาร และมีผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ ประกอบกับอาการขาดสารอาหารไม่ได้แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ร่างกายจะค่อยๆ อ่อนเพลีย ภูมิต้านทานเชื้อโรคน้อยลง ผู้ดูแลและผู้ใกล้ชิดจึงต้องระมัดระวังและเรียนรู้ถึงวิธีการแก้ไขให้ตรงจุดจากผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ดังต่อไปนี้
อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัยและผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. เผยว่า อาการเบื่ออาหารของผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น การทำงานของระบบประสาทสัมผัสเริ่มเสื่อมลง ทำให้การดมกลิ่นและรับรสอาหารได้น้อยลง จึงไม่อยากรับประทานอาหาร ปัญหาเรื่องเหงือกและฟันที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการบดเคี้ยว รู้สึกเจ็บเหงือกและปวดฟัน จึงไม่มีความสุขกับการรับประทาน อาหารที่ทานแข็งและเหนียวเกินกว่าที่จะเคี้ยวได้ และกินแต่อาหารซ้ำๆ มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคประจำตัวเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากความเครียด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร
รวมไปถึงสภาพอากาศในเมืองไทย โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ทำให้เกิดอาการไม่อยากอาหาร เนื่องจากความร้อนไม่ทำให้สารหลั่งที่จะกระตุ้นความรู้สึกหิวทำงาน ความอบอ้าวเหล่านี้ทำให้เสียเหงื่อ เสียน้ำในร่างกายมาก จึงหันมาดื่มน้ำทดแทน ทำให้ไม่เกิดอาการหิวตามไปด้วย
อาการเบื่ออาหารนั้นสามารถแก้ไขให้เกิดความเจริญอาหารได้โดย ประการแรก เราต้อง “ลดความร้อนลง” ให้ผู้สูงอายุอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ ไม่อับชื้น เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องเบาสบาย ระบายอากาศได้ดี ต่อมา “การดื่มน้ำ”ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ควรให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำที่ไม่ควรเย็นจัด ให้จิบบ่อยๆ ค่อยๆ ดื่ม แต่อย่าดื่มทีละเยอะๆ ในครั้งเดียว โดยอาจเปลี่ยนจากน้ำเปล่ามาเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรรสหวานน้อยที่มีกลิ่นสมุนไพรนำหน้า อาทิ ใบเตย มะตูม น้ำขิง เป็นต้น เพื่อให้เกิดความสดชื่น ผ่อนคลาย ก็จะเกิดความรู้สึกอยากอาหารขึ้น
โดย “อาหาร” ที่ควรเลือกให้ผู้สูงวัยรับประทานควรประกอบไปด้วยเมนูที่มีน้ำเยอะ หรือวัตถุดิบที่มีน้ำจำพวกผักและผลไม้ อาทิ แตงกวา มะระ ผักโขม ตำลึง ฟักเขียว เป็นต้น และเลือกวัตถุดิบมีสรรพคุณช่วยขับลม บำรุงร่างกาย ช่วยย่อย เจริญอาหาร กระตุ้นการไหลเวียนทำให้ลำไส้ทำงานได้ดี ขับน้ำย่อย เช่น ขี้เหล็ก ลูกจันทน์ ดอกจันทน์กระวาน กานพลู ขิง ข่า กระชาย ในส่วนรสชาติควรเลือกรสชาติที่เปรี้ยวเพื่อให้เกิดความสดชื่น ไม่ควรปรุงอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม หรืออาจใช้เครื่องเทศที่มีรสเผ็ดร้อนซึ่งช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ทำให้กระเพาะและลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ในส่วนของเนื้อสัตว์ควรเลือกโปรตีนและแคลเซียมที่ย่อยง่ายอย่างปลา หรือเป็นโปรตีนจากเต้าหู้ อาทิ ปลานึ่ง ลาบเต้าหู้ น้ำพริก ส้มตำ
ควรปรุงด้วยวิธีต้ม ผัด หรือแกง แต่ต้องไม่มันเพราะจะทำให้เลี่ยนและรับประทานได้น้อยลง ควรจัดอาหารที่มีสีสันน่าทาน ไม่จำเจ และเป็นอาหารอ่อน ชิ้นเล็ก เคี้ยวง่าย เหมาะกับช่วงวัยของผู้สูงอายุ และมีประโยชน์ ช่วยในการขับถ่าย ก็จะทำให้ผู้สูงอายุไม่ท้องอืด ท้องผูก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่อยากอาหาร รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีการออกกำลังกาย ขยับเคลื่อนไหวร่างกาย อย่านั่งหรือนอนเฉยๆ แต่ลุกมาเดินเล่น แกว่งแขน ลำไส้ก็จะเคลื่อนไหว ส่งผลให้เกิดความอยากอาหารด้วย
นอกจากนี้ อาจารย์สง่ายังมีอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยเจริญอาหารได้ดีด้วยวิธีง่ายๆ ก็คือ การบีบมะนาวลงในน้ำเปล่าให้ผู้สูงอายุดื่มก่อนการรับประทานอาหาร เนื่องจากวิตามินซีในมะนาวจะไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการหลั่งน้ำย่อย ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น จึงทำให้เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
โรคเบื่ออาหารในผู้สูงอายุส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ การสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของผู้ใหญ่ที่คุณรักเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม ในการแก้ปัญหาเบื่ออาหาร เรื่องเล็กๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาของสุขภาพในระยะยาวก็เป็นได้