เบาหวาน เบาได้เบา

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือเคล็ดลับลดกินหวาน


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว  Team Content  www.thaihealth.or.th และ สสส.


เบาหวาน เบาได้เบา thaihealth


“พี่คะ ขอหวานน้อยค่ะ” ประโยคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ ที่ต้องรีบบอกกำชับแม่ค้าในการปรุงอาหารและเครื่องดื่ม ให้โดนใจ ถึงแม้อาหารจะไม่ค่อยถูกปาก แต่ด้วยวิถีของคนที่รักสุขภาพ นาทีนี้ ต้องสั่งหวานน้อยจนติดเป็นนิสัยแล้วล่ะสิ


เบาหวาน หนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปไม่น้อยในแต่ละปี  โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 108 ล้านคน ในปี 2523 เป็น 422 ล้านคนในปี 2557 และพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง อีกทั้งยังพบว่าปี 2559 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1.5 ล้านคน และอีก 2.2 ล้านคนเสียชีวิตเนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูง สำหรับประเทศไทยพบแนวโน้มผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 ประมาณการของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมากถึง 2 ล้านคน ที่ไม่ทราบว่าตนเองป่วยและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และมีผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานถึง 7.7 ล้านคน 


จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า โรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลายคนสงสัยว่าโรคเบาหวานเกิดขึ้นจากอะไร โดย รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. อธิบายว่า การที่คนเราจะเกิดโรคเบาหวานได้มีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ พันธุกรรม และพฤติกรรม ทั้งสองอย่างมีสิทธิ์ทำให้เราเป็นเบาหวานได้ทั้งคู่ ซึ่งเมื่อมีพันธุกรรมแล้ว ใครสักคนจะเป็นเบาหวานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรม โดยพฤติกรรมที่ว่า ก็คือ พฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายอ้วนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเกินความจำเป็น ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายน้อย เมื่อเราอ้วนขึ้น พันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ภายในก็จะเริ่มแสดงออก ทำให้เกิดโรคเบาหวานขึ้น ในขณะเดียวกันคนที่ไม่มีประวัติทางพันธุกรรมหรือคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่ถ้าปล่อยให้ตัวเองอ้วนขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือ เมื่อเราอ้วนขึ้น ร่างกายก็จะรับน้ำตาลเข้าไปได้ยาก คือ ดื้อต่ออินซูลิน ก็จะเกิดโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน


เบาหวาน เบาได้เบา thaihealth


การสั่งหวานน้อย ช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้จริงหรือไม่? เชื่อว่าคำถามนี้คงค้างคาใจใครหลายคนเช่นกัน  คุณหมออธิบายต่อว่าการที่เราสั่งหวานน้อยนั้น เป็นการช่วยลดโหลดแคลอรีที่จะเข้าสู่ร่างกาย คนแต่ละคนต้องการพลังงานไปใช้ไม่เท่ากัน ถ้าเราสั่งอาหารหวาน เราทานไปนิดเดียวจะได้พลังงานเกิน พอพลังงานเกิน ร่างกายกำจัดไม่ได้ หรือใช้ไม่ทัน ก็จะเกิดการสะสม แล้วเกิดการเป็นเบาหวานหรือเกิดความอ้วนขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราสั่งอาหารหวานน้อย เท่ากับเรามีโอกาสที่จะไปทานอาหารอื่นๆ ที่มีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น ลดโหลดที่ได้จากน้ำตาล ลดพลังงานที่จะเป็นส่วนเกิน โอกาสที่จะเป็นเบาหวานก็จะลดลง ส่วนการเลือกนมหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มี low fat  หมายถึง เรากำลังเลือกอาหารที่มีพลังงานน้อย เพราะฉะนั้นการที่เราไม่โหลดร่างกายให้มีพลังงานเกินความจำเป็น โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานก็จะลดลง


สัญญาณเตือนเบาหวานมีอะไรบ้างนั้น คุณหมออธิบายว่า ปัจจุบันเรามีภาวะที่เรียกว่า ว่าที่เบาหวาน  คือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ อ้วนขึ้น เมื่ออ้วนขึ้นก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวาน เมื่อไปตรวจน้ำตาลในเลือด น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น คนปกติค่าน้ำตาลในเลือดจะไม่เกิน 100 มก./ดล ส่วนค่าน้ำตาลในเลือดที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน จะอยู่ที่ 126 มก./ดล ภาวะที่เป็นสัญญาณเตือนก็คือ อยู่ช่วงระหว่าง 100-126 มก./ดล ที่เราเรียกว่าภาวะก่อนเบาหวาน


สัญญาณเตือนที่ 2 คือ เมื่อน้ำตาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายก็จะผอมลง เพราะว่าใช้พลังงานไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างจะอันตราย แต่ถ้าสัญญาณเตือนในระดับที่อันตรายมากขึ้นอีก คือ อาการตาพร่ามัว เส้นประสาทชา  ซึ่งหมายความว่าเบาหวานเริ่มเกาะกินร่างกายแล้ว แต่ที่อันตรายที่สุด คือ คนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด บางครั้งมีเบาหวานอยู่ในตัวเองก่อตัวมาโดยไม่รู้ตัว อาจนำไปสู่ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตโดยทันที


“ 30% ของคนไข้ที่เป็นโควิดแล้วเสียชีวิต มีโรคเบาหวานซ่อนอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ก็คือ คนไข้เบาหวานออกกำลังกายลดลง และรับประทานอาหารมากขึ้น แล้วก็เป็นการรับประทานอาหารที่เกินความจำเป็น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโควิด ขณะเดียวกันก็คุมเบาหวานไม่ได้ โอกาสเสี่ยงหรือเสียชีวิตก็จะสูงขึ้น “ รศ.นพ.เพชร กล่าว


 รู้อย่างนี้แล้ว คงต้องร่วมกันเบาความหวานลง เพราะอันตรายของเบาหวานน่ากลัวเหลือเกิน และการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไข วันนี้มีเคล็ดลับง่ายๆในการลดกินหวาน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ ดังนี้


1.วางของหวานไว้ในตำเเหน่งที่หยิบได้ยาก


2.งดซื้อของหวานตุนไว้ในบ้าน


3.หาเเรงจูงใจให้ตัวเองลดหวานเพื่อสุขภาพที่ดี


4.อ่านฉลากเพื่อดูปริมาณน้ำตาลก่อนซื้ออาหาร


5.เปลี่ยนของว่างจากขนมหวานเป็นผลไม้น้ำตาลน้อย


6.ไม่รับประทานของหวานขณะเล่นมือถือ หรือดูโทรทัศน์


สสส.  เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการไทยฟิตติดบ้าน สร้างความแข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ โดยกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพิ่มกิจกรรมทางกาย ผ่อนคลายความเครียด และนอนหลับให้เพียงพอ รวมถึงงดปัจจัยเสี่ยงอย่างเหล้า และบุหรี่ เพียงเท่านี้ โรคเบาหวานหรือโรคไหนๆ ก็ยากที่จะย่างกรายเข้ามาหาคุณได้


เบาหวาน เบาได้เบา ใครไม่อยากเป็น อย่าลืมบอกแม่ค้าด้วยว่า “ขอหวานน้อยนะคะ”

Shares:
QR Code :
QR Code