เน้นย้ำ ระยะห่างทางบุคคล สำคัญกับการหยุดแพร่เชื้อโควิด-19
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
สธ.ชี้เป็นไปได้น้อยมากไทยจะสิ้นสุด โควิด-19 ระบาด100% ช่วงกลาง มิ.ย. นี้
ระบุยากกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศ โรคจะหยุดจาก 2 เหตุหลักคือ มีวัคซีนคนติดจำนวนมาก ความเสี่ยงที่จะทำไทยกลับมาระบาดต่อเนื่องอีก อยู่ที่มาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ทำได้ไม่ดียอดผู้ป่วยกลับปะทุ ระบาดเป็น กลุ่มก้อนใหญ่อีกแน่ แนะหลักการ 4 ข้อ ลดความเสี่ยงในสถานประกอบการ จี้องค์กรออกกฎ "ไข้-ไอเล็กน้อย" หยุดงาน ได้ไม่ถือเป็นวันลา
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19ว่า ปัจจุบันประเทศไทย แบ่งระยะของการจัดการปัญหาโรคโควิด-19ใหม่ ดังนี้ ระยะที่ 1 โรคยังมีการระบาด โดยแบ่งการระบาดเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ไม่มี ผู้ป่วยหรือมีผู้ป่วยในวงจำกัด ระดับที่ 2 การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และระดับที่ 3 การแพร่ระบาดระดับวิกฤติหรือเกินกว่าศักยภาพระบบสาธารณสุขจะรับไหว ระยะที่ 2 การสร้าง เสริมภูมิคุ้มกัน และระยะที่ 3 ฟื้นฟู
"คนไทยและทั่วโลกจะต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนจะ นานแค่ไหนขึ้นกับว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ออกมาใช้ได้เร็วแค่ไหน เพราะโรคนี้จะจบได้ด้วย 2 เหตุสำคัญ คือ 1. ได้วัคซีนมาใช้ป้องกัน และ2.คนติดเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยไม่ต้องการให้จบแบบข้อที่ 2 เพราะศักยภาพสถานพยาบาลในประเทศไทยจะรับมือกับการแพร่ระบาดหรือจำนวน ผู้ป่วยระดับหนึ่งเท่านั้น จึงไม่สามารถปล่อยให้โรคเกิดการแพร่ระบาดอิสระ จึงต้องมีมาตรการต่างๆออกมาเพื่อคุมสถานการณ์ให้อยู่ในระดับวงจำกัด" นพ.ธนรักษ์กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สถาบันในประเทศสิงคโปร์มีการเปิดเผยโมเดล พยากรณ์จุดสิ้นสุดของการระบาดโรคโควิด-19 โดยระบุประเทศไทยจะดำเนินการได้ 100% ในช่วงวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ว่าไม่แน่ใจว่า จุดสิ้นสุด 100%หมายถึงอย่างไร แต่หากจะเป็นหมายถึงว่าคุมได้ 100% ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเลยเป็นไปได้ยากมากๆโอกาสน้อยมากเหมือนกันทุกที่ทั่วโลก และแม้สถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงเวลานี้จะถอยกลับจากที่มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องเข้าสู่การระบาดในวงจำกัด แต่ในการทำการตรวจค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ เป้าหมาย(Active Case Finding)ก็จะเจอผู้ติดเชื้อแบบประปรายอยู่เสมอ แสดงว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยๆเหมือนไข้หวัดอยู่ในชุมชน ไม่ได้เข้าสู่ระบบ การรักษา
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในระยะต่อไปที่สถานการณ์อยู่ในระดับที่แพร่ระบาดวงจำกัดและอาจจะมีการผ่อนปรนบางมาตรการลง แต่มาตรการด้านสาธารณสุขจะยังเข้มข้นมากขึ้นและ ทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ในชุมชน ซึ่งไม่ใช่การสุ่มไปตรวจแบบไม่มี กฎเกณฑ์แต่เป็นการใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา ให้มากที่สุด เช่น ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ หรือจังหวัดที่เคยเจอผู้ป่วยจำนวนมากมาก่อน เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการสุ่มตรวจราว 1,000 ราย อาจจะเจอ 1 ราย หรือ 4-5 ราย ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และกำลังดำเนินการในจ.กระบี่
รวมถึง ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบ และกลุ่มอาการโรคระบบ ทางเดินหายใจต่อไป และกลุ่มประชากรที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หากมีการป่วย อาการระบบทางเดินหายใจก็จะต้องตรวจหา โรคโควิด-19ทุกราย ทั้งหมดเพื่อให้สามารถตรวจเจอผู้ป่วยโดยเร็ว ตามด้วยการสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยให้ได้ครบทั้งหมดแล้วนำมาไว้ในสถานที่กักกัน จะได้ไม่มีการแพร่เชื้อต่อเป็นกลไกสำคัญที่ตัดวงจร การแพร่โรคได้สูงมาก และมาตรการอื่นๆด้านสาธารณสุขจะต้องเข้มข้นกว่าเดิม
"สมมติฐานทั่วไปในการจัดการกับปัญหา โรคโควิด-19นั้น การกำจัดโรคให้หมดไปจากประเทศทำได้ค่อนข้างยาก แต่สามารถควบคุมให้มีการแพร่ระบาดของโรค ในระดับต่ำได้ ซึ่งความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะกลับมาเกิดการระบาดต่อเนื่องอีก ในระยะต่อไปนั้น ขึ้นกับความสามารถในการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หากทำได้ดีผู้ป่วยก็น้อย หากทำได้ไม่ดี ผู้ป่วยก็กลับมามีจำนวนมากอีก และเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่เหมือนที่ผ่านมาแน่นอน"
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ข้อพิจารณาในการลดความเสี่ยงของสถานประกอบการ มี 4 ข้อสำคัญ ได้แก่น 1.การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ด้วยการให้ทำงานจากบ้าน การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น การเหลื่อมเวลาทำงาน การรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2เมตร 2.การออกแบบทางวิศวกรรม การออกแบบสถานประกอบการ ให้มีอุปกรณ์มากั้นเพื่อให้แต่ละบุคคลอยู่ห่างกัน 3.การปรับปรุงระบบงาน การปรับปรุงระบบงาน เพื่อให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการมีความเสี่ยงต่ำลง โดยการลดโอกาสที่จะสัมผัสกันโดยตรง และการนำเทคโนโลยีมาใช้ และ 4.การใช้อุปกรณ์ป้องกัน การให้ทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการสวมใส่หน้ากากผ้าหรือ สวมใส่เฟซชีลด์เสริมเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
"มาตรการสำคัญที่อยากจะขอร้อง ให้ทุกองค์กรประกาศเป็นมาตรการ คือ การอนุญาตให้คนที่มีอาการไข้หรือ ไปเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งมีไข้แต่เครื่องวัดตรวจไม่เจอ แต่คนนั้นจะมีอาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว ให้สามารถหยุดพักไม่มาทำงานได้ โดยไม่นับเป็นวันลา หากองค์กรไม่มีนโนบาย เช่นนี้ คนที่มีอาการคล้ายหวัดเพียงเล็กน้อยก็จะฝืนตัวเองมาทำงาน เพราะเสียดายวันลา หากมีคนติดเชื้อเกิดขึ้น โอกาสที่จะแพร่ระบาด ในสถานที่ทำงานก็จะมีสูงมาก แต่ถ้ามีนโยบาย ทำงานที่บ้านได้ต่อไปก็จะดีมาก รวมถึง การเหลื่อมเวลาการทำงานกันด้วย เพื่อให้มีความหนาแน่นในสถานที่ทำงานเบาบางมากที่สุด" นพ.ธนรักษ์กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการ คาดการณ์เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 3 เดือน(พ.ค.-ก.ค.2563) หากรัฐมีการ "คลายล็อก"มาตรการบางส่วนเป็น 3 ฉากทัศน์ คือ 1. ควบคุมได้เต็มที่มี ผู้ป่วย 15-30 รายต่อวันจะมีผู้ป่วยเกิดขึ้น รวม 1,889 ราย 2.ควบคุมได้ความเสี่ยงต่ำ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ผู้ป่วย 40-70 ราย ต่อวัน มีผู้ป่วยเกิดขึ้นรวม 4,661 ราย และ 3. ควบคุมไม่ได้ เหมือนช่วงสนามมวย,สถานบันเทิงและช่วงที่มีการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก ผู้ป่วยจะสูงถึง 500 -2,000 ราย ต่อวัน จะมีผู้ป่วยรวมถึง 46,596 ราย ซึ่ง ภาวะควบคุมได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการจัด State Quarantine คนเดินทางมาจาก ต่างประเทศ 14 วัน และควบคุมการเดินทาง ในประเทศ