เที่ยวแนวใหม่ ปราศจากอุปสรรคของคนทั้งมวล

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อผู้พิการ-สูงอายุ

 

เที่ยวแนวใหม่ ปราศจากอุปสรรคของคนทั้งมวล

 

          ใครว่าพอตกอยู่ในสภาพที่ไม่ครบเท่าคนปกติ หรือแก่เฒ่าไร้เรี่ยวแรงแล้ว จะต้องอยู่บ้านไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวไหนได้

 

          ความคิดนี้ต้องถูกลบทิ้ง เพราะโครงการดีๆ ของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดงานโครงการ “ท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนทั้งมวล” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของผู้ประกอบการในการบริการสถานที่ท่องเที่ยวแนวใหม่สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุด้วย

 

          จากการติดตามข้อมูลในฐานะนักวิชาการที่ผลักดันในเรื่องนี้มาโดยตลอดอย่าง รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์ประจำหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนสถานการณ์สถานที่ท่องเที่ยวในไทยที่มีความเพียบพร้อมนี้ว่า

 

          สถานประกอบการกว่า 254 แห่งทั่วประเทศที่ได้ทำการสำรวจพบว่ามี 136 แห่งที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็น ระดับพอใช้ 87 แห่ง ระดับดี 38 แห่ง ระดับดีมาก 11 แห่ง ส่วนดีเยี่ยมยังไม่มีเลย

 

          สถานที่ท่องเที่ยวระดับพอใช้คืออะไร รศ.ไตรรัตน์ อธิบายว่าคือ มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามเกณฑ์พื้นฐาน แต่มีไม่ครบ เช่น อาจมีแค่ทางลาด ที่จอดรถสำหรับคนพิการ ห้องน้ำ ป้าย นอกจากนั้นในระดับดีเป็นระดับที่เกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้

 

          “เส้นทางที่แนะนำว่าผู้พิการและคนชราสามารถไปท่องเที่ยวได้ เนื่องจากมีโรงแรมและร้านอาหารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนแก่และคนพิการหลายแห่งคือ เส้นทางภาคตะวันออก เพราะมีโรงแรมระดับดีมากหลายแห่ง ได้แก่ โรงแรมไดอาน่าการ์เดนส์ และโรงแรมของโรงเรียนพระมหาไถ่

 

          โดยปกติแล้วกฎหมายระบุว่าโรงแรมจะต้องจัดสรรห้องสำหรับคนพิการประมาณ 1% ของจำนวนห้องพักทั้งหมด ซึ่งโรงแรมไดอาน่าฯ มีห้องจำนวน 7 ห้อง จาก 70 ห้อง และโรงแรมของโรงเรียนพระมหาไถ่ มี 46 ห้องจาก 80 ห้อง”

 

          ไม่เพียงเท่านี้อาจารย์ยังแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ภาคตะวันออก ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่เป็นอุปสรรคว่ามีทั้ง อันเดอร์วอเตอร์เวิลด์ที่พัทยา ชายหาดพัทยา บางแสนและตลาดน้ำ 4 ภาค และโรงละครอลังการ สำหรับร้านอาหาร ได้แก่ มุมอร่อย ศรีราชา สุดทางรัก หาดจอมเทียน

 

          ส่วนเส้นทางท่องเที่ยวถัดไปที่อาจารย์ท่านี้แนะนำให้ไปคือ เส้นทางภาคใต้ เพราะมีโรงแรมอยู่ในระดับดีหลายแห่งแต่จำนวนห้องอาจไม่เยอะมาก เช่น โรงแรมกลุ่มเรอเมอริเดียน และกลุ่มแมริออท ชุมพรคาบาร์น่า

 

          “ถัดไปเป็น ภาคเหนือ มีโรงแรมที่มีความพร้อมระดับดีมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่เป็นสาขาอย่างโรงแรมเรอเมอริเดียน เชียงใหม่ โรงแรมแมนดาริน ดาราเทวี หรือโรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า บ้านพักเล็กๆ อย่าง ภัทร และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ร้านอหารข้าวเม่าข้าวฟ่าง ร้านอาหารอิตาลี เอลฟอร์โน”

 

          ส่วนที่เหลือการท่องใน ภาคอีสาน ต้องเดินทางโดยมีผู้ดูแลใกล้ชิด เพราะโรงแรมที่ได้ระดับดียังไม่มี แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานระดับดีมาก อาทิ พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง จ.อุดรธานี, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา, พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ.ขอนแก่น ส่วน ภาคกลาง ที่ไม่รวม กทม. ก็มีนครปฐมกับกาญจนบุรีที่มีอยู่ระดับดีบ้าง อาทิ บึงฉวาง จ.สุพรรณบุรี พิพิธภัณฑ์ลูกหลานมังกร จ.สุพรรณบุรี โรงแรมที่พักในระดับพอใช้ก็ยังไม่มี จึงแนะนำให้ไปเช้าเย็นกลับจะดีกว่า

 

          ถึงตอนนี้เชื่อว่าสิ่งใดคงไม่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน อีกฟากหนึ่งทางผู้ประกอบการก็ต้องการให้บริการด้วยใจให้เป็นที่หนึ่งของพื้นที่

 

          ในฐานะผู้ประสานความตั้งใจของฝ่ายผู้ประกอบการ ในการปรับปรุงสถานที่เพื่อคนพิการและคนชรา มาพบกับความจริงมากขึ้น อย่าง พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ อธิบายว่า ขณะนี้สำนักพัฒนาการท่องเที่ยวของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มี วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญจะทำหน้าที่เข้าไปอบรมเจ้าหน้าที่สถานประกอบการ มัคคุเทศก์ ในการให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุว่าต้องทำอย่างไร รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมอำนวยความสะดวก

 

          “แต่หากสถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ในการปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานทางแผนงานฯ จะประสานพาสถาปนิกไปเยี่ยมและสำรวจให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งหากเขาสามารถพัฒนาได้ในระดับที่ดี ก็จะใช้เป็นสถานประกอบการตัวอย่างที่ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ศึกษาดูงานของสถานประกอบการอื่นๆ ในอนาคตด้วย หากสถานประกอบการใดสนใจก็สามารถติดต่อมาได้ที่ 02-951-0830

 

          ร่วมกันสร้างให้ไทยเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวอย่างไม่เป็นอุปสรรคสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ไม่ว่าจะปกติหรือพิการ ให้มาเมืองไทยได้ นอกจากอ้อมแขนที่เป็นมิตรกับอาคันตุกะทุกคนแล้ว มาทำให้สถานที่ของเราพร้อมต้อนรับพวกเขามากขึ้นกันเถอะ

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update 09-08-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code