เที่ยวสงกรานต์ปลอดภัย
สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์
27 พื้นที่ 9 ถนนสายข้าว ทั่วประเทศกลับบ้านเกิดทุกทีในช่วงเทศกาลโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ กลายเป็นเทศกาลกลับบ้านเกิดเสียทุกครั้งไปเหตุเพราะน้ำเมา(เหล้าและเบียร์) ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตาย
จำนวนคนที่ต้องจากโลกนี้ไปในช่วงระยะเวลาวันหยุดสั้นๆ ถือว่ามากมายยิ่งกว่าการทำสงครามในอิรักหรืออัฟกานิสถาน เพราะเพียงสัปดาห์เดียวมีคนต้องตายไปนับร้อย บาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปจนทุพพลภาพ บั่นทอนคุณภาพชีวิตไปตลอดที่มีลมหายใจอยู่อีกนับพันๆ คน
แล้ว เพราะอะไร ถึงไม่มีการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้จริงจัง หรือว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงแห่งความสุขของคนไทย จึงปล่อยปละละเลย หรือว่าเป็นช่วงโกยเงินเข้ากระเป๋าธุรกิจน้ำเมา ที่แลกกับความตายของเพื่อนร่วมชาติ โดยทิ้งไว้เพียงปัญหาสังคมให้เหยื่อน้ำเมาและคนรอบข้างแก้ไขกันตามลำพัง
หลายฝ่ายที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ นำทีมภาคีโดยแผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อทดแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ ด้านประเพณีวัฒนธรรมและการส่งเสริมนโยบายสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) พร้อมด้วยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) และหน่วยงานอีกมากมาย ร่วมกันผนึกกำลังเปลี่ยนเทศกาลสาดน้ำเมา สาดเลือด เป็นสาดน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย เน้นการสร้างพื้นที่รูปธรรม “พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย และคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม โดยไม่มีเครื่องดื่มมึนเมาและอบายมุขเข้ามาเกี่ยวข้อง และขยายผลเพื่อเฝ้าระวังสถานที่ไม่ปลอดภัย เพราะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ภายใต้แนวคิด วัฒนธรรมสร้างสุข “สงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์” ผู้จัดงานที่อยากเปลี่ยนให้ปีใหม่ไทยนี้ไม่เป็นงานบาปแบบเดิมๆ สามารถทำได้ง่ายเพียง 3 ข้อเท่านั้น เพียง
1. เจ้าภาพผู้จัดงานต้องลดปัจจัยเสี่ยง ทั้งรณรงค์และประกาศให้เป็นนโยบายและคอยตรวจตรา เพื่อลดการดื่มในพื้นที่เล่นน้ำ เพราะเมื่อมีน้ำเมาและคนเมา ย่อมมีความไม่ปลอดภัยทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศด้วย
2. เพิ่มพื้นที่ดี ได้แก่ การกำหนดขอบเขตของพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยที่ชัดเจน และจัดกิจกรรมแสดงออกในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรมการละเล่นต่างๆ จัดกิจกรรมฝากเหล้าไว้กับตำรวจน้ำดื่มชื่นใจแลกเหล้า
3. มีความร่วมมือของผู้ร่วมจัดงาน ทั้งตำรวจ สรรพสามิต เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยตลอดเทศกาล
ข้อแนะนำสำหรับผู้จัดงาน ไม่ว่างานแถวบ้าน หรืองานใหญ่ระดับชุมชนก็สามารถนำแนวคิดสงกรานต์ปลอดภัย
สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์ไปใช้ได้ง่าย ติดป้ายประกาศแสดงขอบเขตพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย(Zoning) ไร้แอลกอฮอล์
มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราเฝ้าระวังดูแลก่อนเข้าบริเวณงาน ไม่อนุญาตให้มีการขายหรือดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่นั้น พร้อมมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืน หากมีการดื่มหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นน้ำเกินกว่าเหตุ มีการแสดงที่เกินเลย จะมีเจ้าหน้าที่
เข้ามาดูแลสั่งการโดยตรงแบบทันท่วงที ความสนุกและสาระการทำบุญยังมีอยู่ครบ สังเกตว่าทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส โดยไม่ต้องดื่มเหล้าย้อมใจ
ส่วนใครที่อยากไปร่วมงานสงกรานต์ปลอดภัย สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์ที่ สสส. และเครือข่ายพันธมิตรต้านการสูญเสียและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ดีงาม ใน 27 พื้นที่ทั่วประเทศ และถนนข้าว 9 แห่ง ดังต่อไปนี้
ภาคเหนือตอนบน : ถนนสายวัฒนธรรม(สะพานนวรัฐถึงประตูท่าแพ) จ.เชียงใหม่, ถนนสุมนเทวราช(ถนนข้าวแตน) จ.น่าน ภาคเหนือตอนล่าง : ถนนศรีอุทัย จ.อุทัยธานี, ถนนเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก, ถนนซอย 8 อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย, ถนนมหาดไทยบำรุง จ.ตาก ภาคอีสาน : ถนนผดุงวิถี(ถนนข้าวเม่า) จ.มหาสารคาม, ถนนอนรรฆนาค(ถนนข้าวก่ำ) จ.กาฬสินธุ์, ถนนหน้าศาลสมเด็จพระนเรศวร(ถนนข้าวฮาง) จ.หนองบัวลำภู,(ถนนข้าวเปียก) จ.อุดรธานี ภาคกลาง : ถนนโพธิ์ทองผักไห่(ถนนข้าวสุก) จ.อ่างทอง, ถนนเทศปทุม(ถนนข้าวแช่) จ.ปทุมธานี ภาคตะวันออก : ถนนท่าแฉลบ(ถนนข้าวทิพย์) จ.จันทบุรี, เกาะสีชัง จ.ชลบุรี
ภาคตะวันตก : ถนนเจ้าขุนเณร(ถนนข้าวเปลือก) จ.กาญจนบุรี, ถนนหน้าวิหารจัตุรมุขลานพระบรมรูป ร.1 จ.ราชบุรี, ถนนตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ภาคใต้ : ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 และถนนเสน่หานุสรณ์ หาดใหญ่ จ.สงขลา, (ถนนข้าวสังข์หยด) อ.ควนขนุน จ.พัทลุง, ถนนหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กทม. : สวนสันติชัยปราการ, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และลานคนเมือง กทม.
เมื่อสถานที่พร้อม หลายฝ่ายพร้อม ที่จะทำให้สงกรานต์นี้เป็นเทศกาลปีใหม่ของไทยด้วยการเริ่มต้นชีวิตใหม่ๆ ที่ดี ไม่ต้องสูญเสียโดยไม่จำเป็นจากน้ำเมา อยากเชิญชวนทุกคนไปร่วมงานกันอย่างปลอดภัย สนุกสุขใจ ไร้แอลกอฮอล์
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update: 12-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร