เทคนิค 4 ปรับ 3 เติม เพิ่มพลังใจ…ในวันที่ต้องเผชิญวิกฤตในชีวิต
ที่มา: กรมสุขภาพจิต
เทคนิคนี้ในการดูแลกับตนเองหรือดูแลผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มพลังใจ ในวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต
เทคนิค 4 ปรับ
- ปรับอารมณ์ คือ การตั้งสติคอยเตือนตัวเองไว้ทุกครั้งว่าความสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนต้องพบเจอ ไม่ใช่ความผิดของตนเองหรือผู้อื่น พยายามผ่อนคลายความเครียด และให้กำลังใจตนเอง หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับเกินขนาดหรือดื่มสุราในการเผชิญกับการสูญเสีย
- ปรับความคิด คือ การคิดในมุมบวก ค้นหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ เพื่อเป็นพลังใจในการดำเนินชีวิต เช่น ฉันเป็นคนอดทนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ฉันมีกำลังใจ ฉันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สามารถปล่อยให้ตัวเองได้อ่อนแอบ้าง เพราะความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องผิดแต่ไม่ควรปล่อยให้ความรู้สึกนี้สะสมอยู่นาน
- ปรับพฤติกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขใหม่ โดยทำกิจกรรม เพิ่มความผ่อนคลาย เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง เดินเล่น วาดรูป อ่านหนังสือ เล่นดนตรี พร้อม ๆ กับการใส่ใจ ดูแลสุขภาพอย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย ๆ ก็มั่นใจว่าวันที่จิตใจไม่ไหวร่างกายยังสู้ต่อได้
- ปรับเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในกิจวัตรประจำวัน แล้วค่อยวางแผนสู่เป้าหมายระยะยาวขึ้น
เทคนิค 3 เติม
- เติมศรัทธา คือ ความเชื่อที่ว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อผ่านพ้นความมืดตอนกลางคืนไปแล้ว พระอาทิตย์ย่อมขึ้นมาให้ความสว่างเสมอ ปัญหาจะคลี่คลายและดีขึ้นอาจต้องอาศัยระยะเวลา
- เติมมิตร คือ มิตรสหาย และครอบครัว ที่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ การขอความช่วยเหลือเป็น ไม่ถือเป็นเรื่องน่าอายแต่อย่างใด หากจัดการกับความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ลองหาคนที่ไว้ใจได้ร่วมพูดคุย หรือแบ่งปันเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้มีกำลังใจต่อสู้หรือช่วยหาทางออกกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
- เติมจิตใจให้กว้าง คือ รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่าง เพื่อเปิดมุมมอง เช่น ในขณะที่ เรามีความทุกข์ยากลำบาก ก็ยังมีคนอื่น ๆ ที่มีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา บางคนอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ จะช่วยเติมเต็มความคิดให้การรับมือและเผชิญกับการสูญเสียได้ดียิ่งขึ้น
หากพบว่า ตัวท่าน เพื่อนผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุในความดูแลของท่านยังมีความยากลำบากในการก้าวผ่านวิกฤตในชีวิต หรือไม่สามารถรับมือกับความสูญเสียได้ ใช้ระยะเวลาในการทำใจนานผิดปกติหรือมีแนวโน้มแย่ลง จำเป็นที่จะต้องปรึกษาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน