เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่

การบีบน้ำนมด้วยมือ เป็นเทคนิคที่คุณแม่ที่ให้นมแม่ สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ด้วยตนเอง ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่มีค่าใช้จ่ายการ แต่วิธีที่จะทำให้แม่มีน้ำนมที่เพียงพอคือ การให้ลูกได้ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ดูดให้นานพอ


เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการนวดเต้านมโดยเฉพาะในกลุ่มแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ “การนวดเต้านม” เป็นภูมิปัญญา ในการแก้ไขปัญหาการให้นมแม่ ที่มีหลากหลายวิธีการปรากฏให้เห็นในแทบทุกทวีปทั่วโลก เช่นเดียวกับทุกภาคของประเทศในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดประเด็นทางสังคมในสื่อออนไลน์ ถึงความนิยมในการนวดเต้านม เพื่อแก้ไขปัญหาการให้นมบุตรที่มีการสื่อสารบอกต่อว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มน้ำนม การใช้วิธีนวดแบบรุนแรงที่มีผลให้เกิดการช้ำอักเสบของเต้านม การใช้อุปกรณ์เจาะ แยงท่อน้ำนมประกอบการนวดเพื่อแก้ไขปัญหาท่อน้ำนมตัน ซึ่งความเชื่อและการปฏิบัติดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อความเข้าใจผิดของแม่ และก่อให้ปัญหาแทรกซ้อนในระบบท่อน้ำนม การเกิดปัญหาเต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝีตามมา


เพื่อทำความเข้าใจและหาคำตอบในประเด็นดังกล่าว ในการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 5 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) พญ.ชนิกานต์ ทิพาโรจนกิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ได้เข้าร่วมการประชุมและอธิบายสรุปว่า การนวดเต้านมแบบ TBML และบีบน้ำนมด้วยมือ เป็นเทคนิคที่คุณแม่ที่ให้นมแม่ สามารถนำไปปฏิบัติต่อได้ด้วยตนเอง ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่มีค่าใช้จ่าย เน้นการนวดที่นุ่มนวล ไม่เจ็บ โดยใช้การลูบไล่อย่างแผ่วเบา ไปในทิศทางระบบท่อต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในทางกายภาพระบบต่อมน้ำเหลือง จะมีตัวต่อมฝังในร่างกายส่วนต่างๆ และจะมีท่อนำน้ำเหลืองกระจายออกมาท่อต่อมน้ำเหลืองส่วนใหญ่อยู่บริเวณผิวหนัง ไม่ได้อยู่ลึก ผู้นวดจึงไม่ต้องกดน้ำหนักลงไปลึก การที่คุณแม่มีเต้านมคัด ของเหลวที่อยู่ในเต้านมไม่ได้มีเพียงน้ำนมเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยสารคัดหลั่ง ดังนั้นการนวดตามหลักการของ lymphatic system คือ ไล่ระบายให้สารคัดหลั่งกลับสู่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ได้ง่าย สะดวกขึ้น อาการคัดตึงเต้านม อาการเป็นก้อนจากท่อน้ำนมอุดตัน และความเจ็บปวดจะลดลง ใช้การประคบเย็นภายหลังการนวดเพื่อช่วยลดบวม


นอกจากนี้ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การนวดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้น การจะมีน้ำนมมากขึ้นต้องอาศัยหลักการเดิม คือ การให้ลูกได้ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ดูดให้นานพอ พบว่าในระหว่างการนวดและการดูดของลูก ฮอร์โมนออกซิโทซินมีลักษณะการหลั่งที่ต่างกัน ถ้าคุณแม่อยากเพิ่มน้ำนมก็ควรเอาลูกเข้าเต้าให้บ่อยขึ้น นอกจากนี้ ความเจ็บปวดจะกดการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซิน ดังนั้น การนวดต้องไม่เจ็บ เมื่อคุณแม่รู้สึกสุขสบายจากการนวด น้ำนมก็จะไหลดี ทั้งนี้ไม่ควรสอดใส่วัสดุใดๆ เข้าทางรูเปิดของท่อน้ำนม เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดเต้านมอักเสบเป็นฝีตามมา วิธีการปฏิบัติดังกล่าวยังไม่มีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานรองรับและไม่เป็นคำแนะนำให้ปฏิบัติตามหลักการสากล


 


 


ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code