เทคนิคเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว
ที่มา : SOOK Magazine No.69
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ความสัมพันธ์ในครอบครัวนับเป็นกุญแจสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงสมบูรณ์ สมาชิกในครอบครัวที่ได้อยู่ในครอบครัวอันอบอุ่น จะรู้สึกว่าอยากกลับบ้านเมื่อเลิกงานหรือเลิกเรียน อยากมีกิจกรรมกับคนที่บ้าน เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจหรือดีใจก็จะร่วมแชร์ความรู้สึกร่วมกัน ดังนั้นการเพิ่มความรัก ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวจึงสำคัญ
เทคนิคเพิ่มความรัก ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว
1. แสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย คำพูดสั้น ๆ จากปากของคนในครอบครัว เช่น เหนื่อยไหม กินข้าวหรือยัง ดูแลสุขภาพด้วยนะ เป็นห่วง ประโยคเหล่านี้มักจะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการแสดงออกทางกาย เช่น การสวมกอด การหอมแก้ม การประคองผู้สูงวัยยามเดิน ฯลฯ
2. หากิจกรรมทำร่วมกันบ่อย ๆ สร้างกิจกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยส่งเสริมความผูกพันและความสามัคคี เช่น จัดงานสังสรรค์ ปูเสื่อล้อมวงรวมญาติทำอาหารกินกัน พาปู่ย่าตายายไปตักบาตรทำบุญ เปิดเพลงเต้นรำกับคนในครอบครัว ชวนกันไปออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพดีทั้งครอบครัว ช่วยกันปลูกต้นไม้ยามว่าง ฯลฯ หากสมาชิกในครอบครัวมีเวลาว่างไม่บ่อยนัก อาจทำกิจกรรมในวาระโอกาสพิเศษหรือในวันสำคัญต่าง ๆ แทน เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงสงกรานต์ การทำบุญวันเกิดของปู่ย่าตายายในครอบครัว
3. การชื่นชมเป็นการสร้างเสริมกำลังใจที่ดีเยี่ยม ครอบครัวยุคก่อนพ่อแม่หลายคนอาจมีความเชื่อว่าถ้าชมลูกบ่อย ๆ เด็กจะเหลิง อาจกลายเป็นคนไม่ดีได้ ทำให้พ่อแม่ไม่ชื่นชมเมื่อลูกกระทำสิ่งที่ดีส่งผลให้ลูก ขาดกำลังใจ แต่โดยทั่วไปคนเราต้องการคำชมเชย ซึ่งวิธีการชื่นชมง่ายๆ มีดังนี้
– ชมพฤติกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่
– การชมเน้นที่พฤติกรรมที่ทำได้ดี โดยชมที่ละ 1 พฤติกรรม
– ชมพฤติกรรมนั้นอย่างจริงใจ
– ชมเฉพาะสิ่งที่ควรชม ไม่ชมมากเกินกว่าความเป็นจริง
4. ติเพื่อก่อ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบฟังคำติเตียน บรรดาลูก ๆ ก็เช่นกัน การติที่ไม่เหมาะสมของพ่อแม่มักจะทำให้เกิดผลเสียหายตามมา แต่การติในเชิงสร้างสรรค์มีประโยชน์ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีได้
– ต้องแน่ใจว่าลูกสนใจที่จะรับฟังคำติ พร้อมที่จะรับฟัง
– เรื่องที่จะติต้องเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว
– สิ่งที่จะติต้องเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้
– พูดถึงพฤติกรรมที่ติให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม
– อย่าลืมแนะแนวทางแก้ไขให้ลูกรู้ด้วยว่าควรทำอย่างไร
– ไม่สมควรติเตียนลูกต่อหน้าคนอื่น
– เลือกเวลาและจังหวะที่เหมาะสม ดูว่าลูกไม่ได้อยู่ในอารมณ์เสียใจหรืออารมณ์โกรธอยู่
สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การรับฟังความคิดเห็นของคนในครอบครัว เพราะการช่วยเหลือ สนับสนุนกันอย่างมีเหตุผลจะช่วยสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากขึ้น