เถ้าแก่ไม่ธรรมดา…มีดีที่หัวใจ

การสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยความสุข

 

เถ้าแก่ไม่ธรรมดา…มีดีที่หัวใจ

          หลายคนคิดว่า การสร้างสุขในที่ทำงานต้องอาศัยทฤษฎีทางการบริหารจัดการ และองค์ความรู้ที่เขียนเอาไว้ในตำราจากเมืองนอกเมืองนามาปรับใช้ และดูเหมือนว่าโอกาสที่จะเอื้อมคว้านิยามดังกล่าวน่าจะอยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งกำลังพล และกำลังสมองเพียงพอที่จะรับแนวทางเหล่านั้นมาปฏิบัติเท่านั้น

 

          แต่เอาเข้าจริง การสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยความสุข ตามแนวทางของ แผนงานสุขภาวะองค์กรเอกชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงตัวหนังสือในตำราถนนแห่งความสุขนี้สามารถเนรมิตขึ้นมาได้ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้ “ใจ” และเปิดโสตประสาทรับฟังเสียงจากบุคลากรรอบตัว เหมือนเช่นธุรกิจเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในย่านบางลำพู ซึ่งให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นธุรกิจขนาดย่อมแบบครอบครัว นั่นคือ ร้านขายขนมปังที่ไม่มีชื่อปรากฏ แต่ความอร่อย และภาพที่เราได้เห็นคนยืนต่อแถวยาวเหยียดเพื่อซื้อขนมปังหอม ๆ ทำให้คนทั่วไปรู้จักกันดีว่า นี่คือร้าน “ขนมปังต่อแถว”

 

          เจ๊หมวย หรือคุณธาราทิพย์ ฤกษ์วสีกุล เจ้าของร้านนี้เป็นเสมือนผู้ใหญ่ และบุพการีของพนักงานกว่า 20 ชีวิต ที่ทั้งบ้านตัวเองมาฝากชีวิตเอาไว้กับเธอด้วยการรับจ้างทำงานในร้านขายขนมปัง ทั้งในตำแหน่งคนขาย คนครัว หรือแม้กระทั่งคนงานเก็บกวาด

 

          เถ้าแก่คนนี้ไม่ธรรมดาตรงที่หัวใจ และมุมมองในการดูแลพนักงานทุกคนให้อยู่ในร้านเล็ก ๆ แห่งนี้ด้วยความสุข

 

          เริ่มตั้งแต่สุขกาย ซึ่งเธอบอกว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน คนงานของที่นี่จะมีสวัสดิการด้านที่พัก และอาหาร โดยเธอได้จัดห้องพักเอาไว้สำหรับลูกจ้างทุกคน เพราะเธอไม่อยากให้ครอบครัวต้องแยกกันอยู่ และจะมีปัญหาถึงบุตรหลานในภายหลัง    

 

          นอกจากที่อยู่อาศัยแล้ว อาหารการกินที่พอจะแบ่งปันได้ เจ๊หมวยเองก็ไม่ได้หวงห้าม หากพนักงานจะหุงข้าวไปทานในครอบครัว และยังทอดไข่ใส่ถุงกลับบ้านได้ ลดภาระค่าใช้จ่ายไปได้ในตัวในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้

 

          น้อง เป็นหนึ่งในคนงานของเจ๊หมวย เธอทำงานที่ร้านแห่งนี้มาแล้ว 17 ปี เธอเล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มเดิมทีก็มาตัวคนเดียว ต่อมามีครอบครัว เจ้านายก็อนุญาตให้สามี และลูกของเธอมาอาศัยอยู่ในห้องพักที่จัดเอาไว้ให้คนงานด้วย น้อยบอกว่า สำหรับเธอแล้ว เจ้านายคนนี้เป็นเสมือนแม่คนที่สอง ที่ไม่อยากให้ลูกของน้อยต้องลำบากที่อยู่ห่างจากแม่ และอาจเกิดปัญหาครอบครัวในอนาคต

 

          เจ๊หมวยบอกว่า การจัดสวัสดิการก็เหมือนกับการให้เกรดกับเด็กนักเรียน เมื่อพนักงานทำดี ทุ่มเทให้กับการทำงาน เธอไม่รีรอที่จะตอบแทนพวกเขา และไม่เคยที่จะมองว่า พนักงานเหล่านี้ทำงานเพื่อแลกกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการแลกใจกันกับเจ้าของร้านด้วย นั่นหมายถึง การดูแลลูกน้องจำเป็นต้องอาศัยใจ และดูแลคนข้างหลังพวกเขาด้วย

 

          นอกจากสวัสดิการพื้นฐานแล้ว เจ๊หมวยยังมองการณ์ไกลด้วยการช่วยพนักงานเก็บหอมรอมริบ ฝากเงินเอาไว้ในลักษณะกองทุน เพื่อเป็นการสร้างอนาคตที่ดีให้กับพวกเขาเหล่านี้

 

          ในตอนแรก เธอจัดเงินตอบแทนในรูปแบบโบนัส แต่แล้วเธอก็พบว่า ปัญหาของพนักงานรายวันเหล่านี้คือ เรื่องการเก็บออม เพราะท้ายที่สุดแล้ว แม้จะได้โบนัส แต่พวกเขาก็ไม่เคยมีเงินก้อน กลับใช้จ่ายจนหมด เธอจึงวางแผนใหม่ด้วยการซื้อหน่วยลงทุนเก็บเอาไว้ในชื่อของพนักงาน เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนเธอก็นำเงินออกมามอบให้กับพนักงานคนนั้น ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจ โดยพนักงานที่ได้รับเงินก้อนจากการอดออม และน้ำพักน้ำแรง ถึงกับน้ำตาไหลด้วยความตื้นตัน

 

          เจ๊หมวยบอกว่า นี่เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่ต้องอาศัยใบปริญญาหรือตำราเล่มโต เธอใช้ “ใจ” ในการบริหารงานร้านเล็ก ๆ ของเธอและพนักงานเหล่านี้ก็เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทุกข์ของเธอ เมื่อในวันนี้ที่เธอสามารถลืมตาอ้าปากได้ เธอเองก็ไม่ลืมที่จะแบ่งปัน “สุข” กลับคืนให้กับพวกเขาด้วย

 

          “เพราะมือของพนักงานเหล่านี้แหละที่ปั้นขนมปังให้เรา จนทำให้เรามีกิจการที่มั่นคง” เธอบอก

 

          และตัวเจ๊หมวยเองก็หวังว่าเธอเองจะพาพนักงานของเธอข้ามฝั่งไปถึงชีวิต และอนาคตที่มั่นคงได้ไม่ต่างจากเธอเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

update: 23-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code