เตือน16จว.กลาง-ภาคใต้ ฝนถล่ม17-19ธ.ค.นี้

ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์


 เตือน16จว.กลาง-ภาคใต้ ฝนถล่ม17-19ธ.ค.นี้ thaihealth


แฟ้มภาพ


          ปภ.เตือน16จังหวัดกลาง-ใต้รับมือฝนตกหนัก-คลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 17 – 19 ธ.ค. พร้อมเร่งช่วยเหลือ 'นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี-พัทลุง'เดือดร้อนกว่า 1.6 แสนคน“บิ๊กป้อม”สั่งทุกเหล่าทัพเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เร่งช่วยเหลือชาวบ้าน


         นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ประกอบกับหลายพื้นที่ดินเริ่มชุ่มน้ำ ทำให้มีความอ่อนไหวต่อการเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร และ ทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 17 – 19 ธ.ค. 2561 โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


          พื้นที่เฝ้าระวังดินโคลนถล่ม ได้แก่ ชุมพร อ.สวี ท่าแซะ หลังสวน ละแม ปะทิว พะโต๊ะ และทุ่งตะโก สุราษฎร์ธานี อ.ไชยา ท่าชนะ วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม และเกาะสมุย และนครศรีธรรมราช อ.สิชล ร่อนพิบูลย์ ท่าศาลา ขนอม นบพิตำ ลานสกา พิปูน และพรหมคีรี พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง และสตูล


          กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยปภ. ได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณฝนสะสม ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป.


          นายชยพล ยังกล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 15 – 17 ธ.ค. 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 28 อำเภอ 111 ตำบล 528 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 52,963 ครัวเรือน 166,513 คน สูญหาย 1 ราย ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 17 อำเภอ 77 ตำบล 377 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 49,840 ครัวเรือน 155,862 คน สูญหาย 1 ราย ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น สุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ รวม 25 ตำบล 110 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,123 ครัวเรือน 10,651 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง พัทลุง เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ รวม 9 ตำบล 41 หมู่บ้าน อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความเสียหาย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง.


          ด้านพล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมสั่งการให้ทุกเหล่าทัพนำกำลังพลและเครื่องมือช่างเร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ในพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรังและจ.สตูล รวมทั้งอ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีคลื่นลมแรงและระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวงกว้าง มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 15,000 ครอบครัว โดยพล.อ.ประวิตร กำชับขอให้หน่วยทหารในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่ และสนับสนุนฝ่ายปกครองและส่วนราชการในพื้นที่ พยายามเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างทั่วถึงในการอพยพประชาชนเด็กและคนชราออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์และสนับสนุนทางการแพทย์การสนับสนุนเครื่องมือช่างในการระบายน้ำและจัดทำแนวกั้นน้ำรวมทั้งการอำนวยความสะดวกการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะเส้นทางที่ถูกตัดขาดพร้อมทั้งขอให้ตำรวจในพื้นที่ เข้าไปช่วยดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น.


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ